ชุดตรวจ Gen 4 มีบริการแล้วที่แคร์แมท แต่ อย่ารีบตรวจเอชไอวี ถ้า…?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราอยากรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วหรือไม่ ก็ต้องไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี ก็ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว ไม่ใช่หรือ คำตอบคือใช่ แต่อย่าลืมว่า หากเมื่อเชื้อเข้าร่างกายไปแล้ว มันใช้เวลาอีกหลายวัน กว่าชุดตรวจจะตรวจพบมัน วันนี้เรามาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวีจากการเจาะเลือด กับระยะเวลาที่ควรตรวจเลือด กันนะคะ
ผลเลือดบอกอะไรเราได้บ้าง
วิธีตรวจหาเชื้อที่ใช้ยืนยันได้ดีที่สุดคือการเจาะเส้นเลือดที่แขน เราแปรผลเลือดออกมาได้ดังนี้
ผลเลือดบวก = มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย
ผลเลือดลบ = ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ แน่ใจหรือ?
คำว่าผลเลือดบวก หมายถึง เราได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าแล้ว เป็นการยืนยันตามหลักการตรวจที่ถูกต้องทางการแพทย์ ส่วนผลเลือดลบนั้น ก็แปลว่า ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ยังไม่ชัวร์ ถ้าจะให้ชัวร์ คุณต้องพ้น วินโดว์ พีเหรียด (window period) ไปก่อน
Window period คืออะไร
คือ ช่วงเวลาที่คุณได้รับเชื้อมาแล้ว แต่ตัวภูมิคุ้นกันของร่างกาย (antibody) และตัวเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย (antigen) ยังไม่ขึ้นถึงระดับที่จะตรวจหาได้ด้วยชุดตรวจ
ระยะเวลาของ วินโดว์ พีเหรียด ขึ้นกับชนิดของชุดตรวจ
เดิมที ในสมัยที่โลกเพิ่งรู้จักเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ราวปี ค.ศ. 1983 เทคโนโลยีในการตรวจหาเชื้อในร่างกายยังไม่ดีพอ ชุดตรวจสามารถตรวจหาได้เฉพาะ antibody ของเชื้อ (แต่ไม่สามารถตรวจหาตัวเชื้อได้) ซึ่งใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์หรือ 70 วัน กว่าจะพบ HIV antibody เรียกว่าเป็นชุดตรวจแบบแรก Gen 1 (First generation) และได้พัฒนามาเรื่อยๆตามลำดับดังนี้
ชนิดของชุดตรวจ | ปีที่เริ่มใช้ (ค.ศ.) | สิ่งที่ตรวจได้ | ระยะเวลาโดยประมาณที่ตรวจพบ |
Gen 1 | 1983 | HIV antibody | 70 วัน |
Gen 2 | 1987 | HIV antibody | 42 วัน |
Gen 3 | 1991 | HIV antibody | 21 วัน |
Gen 4 | 1997 | HIV antibody, HIV antigen | 14 วัน |
Gen 5 | 2015 | HIV antibody, HIV antigen
(ลดความซับซ้อนและตรวจได้แม่นยำกว่า Gen 4) |
14 วัน |
NAT
(Nucleic acid test) |
2001 | HIV RNA | 10 วัน |
อ้างอิงจาก Clinical evaluation of BioPlex 2200 HIV Ag-Ab, an automated screening method providing discrete detection of HIV-1 p24 antigen, HIV-1 antibody, and HIV-2 antibody.
Salmona M, Delarue S, Delaugerre C, Simon F, Maylin SJ Clin Microbiol. 2014 Jan; 52(1):103-7.
ตัวอย่างการนับ window period จากชุดตรวจ Gen 3
หลังจากติดเชื้อเอชไอวีแล้ว อีกประมาณ 21 วัน ภูมิของเชื้อ (antibody) จะเริ่มปรากฏในร่างกาย ดังเส้นสีเขียวในรูปที่ 1 ดังนั้นการนับ window period สำหรับการเลือกใช้ชุดตรวจ Gen3 จึงอยู่ที่ประมาณ 21 วันหลังจากที่เรารับเชื้อมา หากเรารีบมาตรวจก่อนนั้น ก็จะตรวจไม่พบภูมิของเชื้อเลย ผลเลือดที่ได้จะเป็น ผลเลือดลบ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเราไม่ได้รับเชื้อ แต่ความจริงคือ เราได้รับเชื้อแล้ว แต่ภูมิยังไม่ทันสร้างในวันที่เรามาตรวจ เช่น มาตรวจในวันที่ 7 หลังรับเชื้อ ผลเลือดจะยังคงเป็นลบ แต่เมื่อตรวจซ้ำหลังจากนั้นอีก 14 วันขึ้นไป ผลเลือดจะเป็นบวก
รูปที่ 1 Window period หรือช่วงเวลาที่ชุดตรวจแต่ละชนิดยังไม่พบภูมิของเชื้อและตัวเชื้อเอชไอวี แหล่งอ้างอิง : https://www.grepmed.com/images/1924/infectiousdiseases-screening-diagnosis-detection-antibody
หลายคนเรียก Window period ว่า ระยะฟักตัว ?
ระยะฟักตัว คือช่วงเวลาระหว่างการสัมผัสสิ่งที่ทำให้เกิดโรค กับการปรากฏอาการของโรค ในกรณีโรคติดเชื้อ ระยะฟักตัวคือระยะเวลาที่เชื้อเพิ่มจำนวนจนถึงจุดที่จะทำให้เกิดอาการในผู้ป่วยได้ กรณีของเชื้อเอชไอวี หลังจากรับเชื้อแล้วประมาณ 14-28 วัน จะแสดงอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ทั่วไป หรือคล้ายกับอาการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น รูปที่ 2 ชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการป่วยเฉียบพลันเกิดขึ้นเพราะเชื้อเพิ่มจำนวนสูงซึ่งเป็นเวลา 14-28 วันหลังรับเชื้อนั่นเอง
รูปที่ 2 ช่วงระยะเวลาที่ผู้รับเชื้อเอชไอวีเกิดอาการป่วยเฉียบพลัน แหล่งอ้างอิง : National HIV Curriculum, https://www.hiv.uw.edu/go/screening-diagnosis/acute-recent-early-hiv/core-concept/all
บังเอิญว่า ชุดตรวจ Gen 3 ใช้เวลาประมาณ 21 วันที่จะตรวจพบ antibody และชุดตรวจ Gen 4 ใช้เวลาประมาณ 14 วันที่จะตรวจพบ p24 antigen ของเอชไอวี ซึ่งระยะเวลานี้ ผู้รับเชื้อเริ่มแสดงอาการป่วยพอดี ดังนั้นระยะเวลาของ window period จาก Gen3,Gen4 จึงใกล้เคียงกับระยะเวลาของระยะฟักตัว จนทำให้หลายคนเข้าใจว่า window period กับระยะฟักตัว มีความหมายเหมือนกันหรือเป็นคำคำเดียวกัน อาจแนะนำได้เป็นภาษาที่ง่ายๆเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สองคำนี้มีที่มาต่างกัน หากเราพูดถึงชุดตรวจ NAT ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วันจะพบเชื้อ ชุดตรวจนี้พบเชื้อก่อนที่ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยด้วยซ้ำ ดังนั้นในกรณีนี้จะบอกว่า window period เท่ากับระยะฟักตัวไม่ได้
ชุดตรวจ Gen 4 มีบริการแล้วที่แคร์แมท
ชุดตรวจ Gen 4 สามารถตรวจหาทั้ง HIV antigen (p24) และ HIV antibody ซึ่งใช้เวลาประมาณ 14 วันขึ้นไปหลังจากการรับเชื้อ อักนัยหนึ่งคือ ชุดตรวจนี้ตรวจรู้ผลแน่นอนหลังจากเมื่อผ่าน window period ไปแล้ว 14 วัน
กรณีที่คุณมีความเสี่ยง เช่นมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันเมื่อ 5 วันที่แล้ว เกิดความกังวลใจ จึงรีบมาตรวจเลือดวันนี้ เจ้าหน้าที่จะชี้แจงคุณว่ายังอยู่ใน window period (สำหรับชุดตรวจ Gen4) ผลเลือดที่ได้ในวันนี้ หากเป็นผลเลือดลบ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าคุณปลอดจากเชื้อเอชไอวี ต้องกลับมาตรวจซ้ำในอีก 9 วันขึ้นไป และในช่วง 9 วันที่กำลังรอตรวจซ้ำนี้ ต้องไม่มีความเสี่ยงใดๆ เพื่อจะได้ทราบผลเลือดที่แน่นอน
กรณีตัวอย่างที่อาจเกิดขึ้น
และมันก็มีที่ซับซ้อนกว่านั้น ! เมื่อ window period ไม่จบ สมมุติว่า คุณมีความเสี่ยงในวันที่ 1 แล้วคุณจะรอตรวจในวันที่ 15 ถือว่าพ้น window period แล้ว แต่ในวันที่ 6 คุณมีความเสี่ยงอีก คราวนี้วันที่ 15 ของคุณจะถือว่ายังอยู่ใน window period ครั้งใหม่ทันที ซึ่งคุณต้องรอไปอีก 14 วันหลังจากความเสี่ยงซ้ำครั้งนั้น นั่นก็คือหลังจากวันที่ 20 เป็นต้นไป จึงจะรู้ผลเลือดที่แน่นอน
และถ้าคุณยังควบคุมความเสี่ยงไม่ได้อีก ก็ต้องนับไปอีก 14 วันไปเรื่อยๆนั่นเอง
รายละเอียด
แคร์แมทชวนคุณเช็คความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตัวเอง
กรอกชื่อเล่น และเบอร์โทรศัพท์ (ที่สามารถติดต่อได้) ในแบบประเมินความเสี่ยงตนเอง
จับรางวัลผู้โชคดีในวันที่ 18 พ.ย.2564 ใน Caremat Facebook Live
ลุ้นรับรางวัลเงินสด มูลค่า 1,000 บาท 1 รางวัล
และของที่ระลึก 10 รางวัล
คลิกลิ้งค์นี้เพื่อร่วมกิจกรรม
https://www.carematapp.com/questionnaire/questionnaire.php
หรือสแกน QR code ในภาพได้เลย
Good Luck!
Talk out ep.3 รู้ให้ทัน ป้องกันให้เป็น
พูดถึงเอชไอวีในยุคนี้ ก็ย่อมต้องพูดถึงยา PrEP ด้วย ยาPrEP ทำให้เราปลอดภัยจากเชื้อเอชไอวี เหมือนการกินยาคุมแล้วป้องกันการตั้งครรภ์นั่นเอง เวลามีเพศสัมพันธ์ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะปลอดภัยทุกครั้ง แม้แต่กับคนที่เราไว้ใจ เมื่ออยู่ห่างกัน ถ้าเขาไปรับเชื้อเอชไอวีจากคนอื่นมาล่ะ? เราอาจใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันตัวเองได้ แต่ถ้าถุงยางหลุด แตก รั่ว หรือลืมพกมา ดังนั้นยา PrEP ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่จะหยุดวงจรความเสี่ยงต่อเอชไอวี “ให้ทุกความสัมพันธ์ป้องกันได้ เริ่มตรวจตั้งแต่วันนี้ เริ่มต้นสุขภาพดีที่ตัวคุณ”
EP.2 HIV โรคนี้ “ยิ้ม” ได้
เอชไอวี (HIV) ที่หลายคนรู้จัก คือเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากไม่ทำการรักษาก็จะเข้าสู่สภาวะโรคเอดส์ (AIDS) โดยที่เชื้อเอชไอวี (HIV) จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ซีดีโฟร์(CD4) บางคนไม่แสดงอาการใด ๆ แต่จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง และมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ วัณโรค ตุ่มพีพีอี ปอดอักเสบพีซีพี เป็นต้น และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตลงได้
ปัจจุบันการรักษาและควบคุมเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) มีประสิทธิภาพขึ้นมากกว่าแต่ก่อนในอดีต ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อฯมีทางเลือกในการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงน้อยและสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้จากสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทำให้ทุกวันนี้การติดเชื้อเอชไอวีคือโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เหมือนกับโรคหัวใจ ความดัน หรือเบาหวานที่ผู้ป่วยทุกคนต้องดูแลสุขภาพ กายใจ ทานยาเป็นประจำและต่อเนื่อง การทานยาต้านไวรัสโดยเร็วและมีวินัยในการทานยาที่ดีจะสามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีได้ ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อฯ หลายคนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีความรักความสัมพันธ์ สร้างครอบครัว มีหน้าที่การงานและรายได้ที่มั่นคงไม่เจ็บป่วยเหมือนในอดีต รวมถึงลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสตัวนี้ให้กับผู้อื่น หรือที่เรากันเรียกว่า U = U หรือ Undetectable = Untransmittable ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัย 3 โครงการใหญ่ ซึ่งร่วมกันทำในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เป็นการศึกษาที่วางแผนและดำเนินการอย่างรัดกุม มีการตรวจสอบจากหลายฝ่ายเพื่อให้ข้อมูลน่าเชื่อถือที่สุด ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่แล้วในวารสารการแพทย์ระดับชั้นนำ การศึกษาวิจัยดังกล่าว เป็นการติดตามพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของคู่ผลเลือดต่าง (ฝ่ายหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี อีกฝ่ายไม่ติดเชื้อเอชไอวี) ใน 2 กรณี คือ คู่ชายกับชาย และคู่ชายกับหญิง โดยฝ่ายที่ติดเชื้อเอชไอวีทั้ง 2 กรณี ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จนมีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดต่ำมาก คือ ต่ำกว่า 200 copies ต่อซีซีของเลือด หรือที่เรียกว่า “ตรวจไม่เจอ (Undetectable)”
หากเราทำความเข้าใจเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีในมุมมองใหม่ ศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน เราจะสามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อฯ ก็สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้จริง มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข คลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมท เชียงใหม่ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะยังคงตระหนักในการป้องกันตัวเองต่อการรับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ลดหรือหยุดอคติและการตีตราในเรื่องเอชไอวีทั้งต่อตัวเองและผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อฯได้ในที่สุด เพราะคุณค่าของชีวิตคือการดำรงอยู่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับตัวเอง ครอบครัว และชุมชนของเรา
EP.1 “ SEX ” ความสุขหรือความเสี่ยง
ถ้าพูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ในยุคปัจจุบันนี้ คงไม่ได้หมายความเพียงแค่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย – หญิง เท่านั้น เพราะการยอมรับในเรื่องเพศที่เปิดกว้างในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ว่าคุณจะระบุตัวเองว่าเป็นกลุ่มใดล้วนมีประสบการณ์ทางเพศที่แตกต่างกันไปนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมทางเพศ รูปแบบหรือความพึงพอใจต่อคู่สัมพันธ์ทางเพศที่หลากหลาย จนอาจจะสามารถพูดได้ว่า “เซ็กส์” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยก็ว่าได้
จากงานวิจัยในหลายๆ ชิ้น ต่างล้วนบอกว่า “เซ็กส์” เป็นกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด เพราะหลังอาการเสร็จกิจ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินออกมา ซึ่งเป็นตัวคลายความรู้สึกเร้าทางเพศของร่างกายให้ลดลง ไม่เฉพาะทางกายเท่านั้น ยังผ่อนคลายทางด้านจิตใจอีกด้วย นอกจากนั้น “เซ็กส์” ยังช่วยเสริมสร้างความรักความสัมพันธ์ในคู่รักแต่ละคู่ด้วยหากว่ามีความต้องการทางเพศที่สอดคล้องกัน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ปัญหาที่มาพร้อมกับการมี “เซ็กส์” ในแต่ละครั้งก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกันหากคุณและคู่ไม่ได้คำนึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ที่พึงประสงค์ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ และเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นพาหะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ทั้งมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ ได้ในอนาคต
การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต โดยคุณควรตระหนักถึงภัยที่ตามมาหลังจากการมี “เซ็กส์” ควรมีการป้องกันในทุกครั้งและกับทุกคนไม่เว้นแม้แต่คู่รักของคุณเอง ซึ่งปัจจุบันที่มีอุปกรณ์การป้องกันที่หลากหลายทั้งยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น เป็ปและเพร็พ รวมถึงการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า เรายังปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ และมีทางเลือกในการป้องกันที่เหมาะสมกับสถานการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงโดยการพูดคุยและวางแผนกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้การปรึกษา
คลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมท เชียงใหม่ ขอสนับสนุนให้ทุกคนมี “เซ็กส์” ที่สุข สนุกและปลอดภัยนะครับ
ยาต้านเอชไอวีสูตรใหม่มาถึงไทยแล้ว
ขณะนี้ ยาต้านเอชไอวีสูตรผสมที่ชื่อว่า Kocitaf ได้รับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ซึ่งมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาในผู้ใหญ่ และวัยรุ่น (อายุ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลรัม) ที่ติดเชื้อ HIV-1 หวังว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะอนุมัติให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถรับยานี้ด้วยสิทธิบัตรทองและประกันสังคมได้ ยาตัวนี้มีข้อดีข้อด้อยเมื่อเทียบกับยาสูตรที่นิยมใช้ในปัจจุบัน (ยี่ห้อ Teevir) อย่างไร ก่อนอื่นขอเสนอเนื้อหาที่เป็นวิชาการพอสมควรเพื่อผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ค่อนข้างลึกเกี่ยวกับยา
Kocitaf ประกอบด้วย
Tenofovir alafenamide fumarate (TAF) 25 mg
Emtricitabine (FTC) 200 mg
Dolutegravir (DTG) 50 mg
สูตรที่ใช้อยู่ Teevir ประกอบด้วย
Tenofovir disoproxil fumarate (TDF) 300 mg
Emtricitabine (FTC) 200 mg
Efavirenz (EFV) 600 mg
บทนำเกี่ยวกับกระบวนการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวี
ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องใช้หลายตัวผสมกัน เนื่องจากไวรัสเอชไอวีมีความซับซ้อนในกระบวนการแบ่งตัว ไวรัสเอชไอวีจัดอยู่ในประเภท retro virus สังเกตจากกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรมของมัน จาก RNA ต้นแบบเป็น DNA ซึ่งเหมือนเป็นการย้อนกระบวนการ โดยมันอาศัยทรัพยากรณ์ต่างๆในเซลล์เม็ดเลือดขาวในการสร้างตัวใหม่ของมันซึ่งประกอบด้วยหลายขั้นตอน ทั้งภายในนิวเคลียสและองค์ประกอบอื่นของเซลล์ ดังนั้นยาเพียงตัวเดียวจึงไม่พอที่จะไปยับยั้งการแบ่งตัวใหม่ของไวรัส กระบวนการคร่าวๆของการแบ่งตัวไวรัส มีดังนี้ (1) (แสดงในรูปที่ 1)
รูปที่ 1 ขั้นตอนการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีเมื่อเข้าไปที่เซลล์เป้าหมาย
Source: Gandhi M, Gandhi RT. Single-pill combination regimens for treatment of HIV-1 infection. N Engl J Med. 2014;371:248-59.
© 2014 Massachusetts Medical Society. Figure and Legend Reproduced with permission.
ยาต้านทางเลือกใหม่ของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ยาต้านสูตร Teevir ประกอบด้วย ยากลุ่ม Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) 2 ตัว ได้แก่ TDF และ Emtricitabine รวมกับยากลุ่ม Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs) 1 ตัว คือ Efavirenz ซึ่งทั้งสามตัวในยาสูตรนี้ ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีในกระบวนการที่ 2 (Reverse transcription)
ยาต้านสูตร Kocitaf ประกอบด้วย ยากลุ่ม Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) 2 ตัว ได้แก่ TAF และ Emtricitabine รวมกับยากลุ่ม Integrase strand transfer inhibitors (INSTIs) 1 ตัวคือ Dolutegravir
โดย TAF และ Emtricitabine ออกฤทธ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีในกระบวนการที่ 2 (Reverse transcription) และ Dolutegravir ยับยั้งกระบวนการที่ 3 (Integration)
แนวทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทยประจำปี 2560 ระบุว่า TDF เป็นยาต้านไวรัสพื้นฐาน ใช้ในการรักษามากที่สุดเป็นทางเลือกแรก (2) โดยทั่วไปในการใช้รักษาจะให้รับประทาน TDF ครั้งละ 1 เม็ด (300 mg) วันละ 1 ครั้ง ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่น อย่างไรก็ตามขนาดยานี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งผู้รับยาต้องรับประทานทุกวันอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้มากขึ้นด้วย เช่น การเกิดพิษต่อไต และกระดูก ซึ่งต้องได้รับการตรวจติดตามการทำงานของไตเป็นประจำ
Tenofovir Alafenamide fumarate (TAF) เป็นยาใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ สามารถช่วยลดผลข้างเคียงต่อไต และกระดูก โดยใช้ในขนาดที่ต่ำกว่า TDF มาก
TDF vs TAF
ทั้ง TDF และ TAF ต่างก็เป็นยาที่มีโครงสร้างของ Tenofovir เหมือนกัน แต่มีโครงสร้างขององค์ประกอบคนละแบบ TDF มีโครงสร้างแบบ disoproxil fumarate ในขณะที่ TAF เป็น Alafenamide fumarate (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของตัวยา TFV, TDF และ TAF
การเตรียม Tenofovir ทั้งในรูป Disoproxil fumarate และ Alafenamide fumarate เป็นลักษณะที่เรียกว่า Prodrug คือเป็นสารประกอบที่ยังไม่ออกฤทธิ์ทางยาเมื่อยังอยู่ภายนอกร่างกาย แต่จะเปลี่ยนรูปเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ในที่นี้ Prodrug ทั้งสองจะถูกเปลี่ยนให้เป็น Tenofovir ก่อน และเข้าสู่กระบวนการ Phosphorylation จนกลายเป็น Tenofovir diphosphate ซึ่งเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ แต่กลไกการออกฤทธิ์ของยาทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันดังนี้
เมื่อ TDF เข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนในพลาสม่าเป็น Tenofovir จากนั้นเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย ถึงจะถูกเปลี่ยน Tenofovir diphosphate แสดงถึงข้อด้อยของ TDF ที่ทำให้มีปริมาณ Tenofovir ในกระแสเลือดจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การเกิดพิษต่อไต Tonofovir เหลือเข้าไปในเซลล์เป้าหมายน้อย ดังนั้นขนาดยาเริ่มต้นที่ให้จึงสูงถึง 300 mg
ในขณะที่ TAF เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะถูกขนส่งไปยังเซลล์เป้าหมายเป็นหลัก แล้วเปลี่ยนเป็น Tenofovir และ Tenofovir diphosphate ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่า ปริมาณ TAF ในกระแสเลือดมีน้อยกว่า TDF ถึง 90% เพราะ TAF มีความจำเพาะต่อเซลล์มากกว่า ดังนั้นจึงใช้เพียง 25 mg ซึ่งต่ำกว่า TDF มาก รูปที่ 3 แสดงการเปรียบเทียบกระบวนการเปลี่ยนแปลงของยาทั้งสอง
รูปที่ 3 กระบวนการเปลี่ยนแปลง TAF และ TDF เป็น Tenofovir diphosphate ในเซลล์เป้าหมายที่มีเชื้อเอชไอวี
นอกจากขนาดยาที่ใช้ต่ำกว่าแล้วยังลดอาการข้างเคียงในระยะยาวจากการใช้ยา พบว่า การใช้ TAF ในระยะยาวมีความปลอดภัยต่อมวลกระดูกและไตมากกว่า TDF มาก อย่างมีนัยสำคัญ (3) ดังแสดงในรูปที่ 4 เป็นการเปรียบเทียบการใช้ยา PrEP ในสูตร Emtricitabine+TDF และ Emtricitabine+TAF หลังจากที่ใช้ยาไปแล้ว 48 สัปดาห์ สูตรที่มี TAF ให้ค่ามวลกระดูกที่คงที่ในขณะที่สูตร TDF ทำให้มวลกระดูกลดลง และรูปที่ 5 แสดงค่าการกรองของไต (eGFR)ที่ลดลง พบว่า TAF มีผลดีในการเปลี่ยนแปลงค่า eGFR มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (4)
รูปที่ 4 เปรียบเทียบค่ามวลกระดูกที่ลดลงเมื่อใช้ยา PrEP สูตรที่มี TAF กับสูตรที่มี TDF ในระยะ 48 สัปดาห์
รูปที่ 5 กราฟเปรียบเทียบผลของ TDF และ TAF ต่อการเปลี่ยนแปลงค่า eGFR
ประสิทธิภาพของการยับยั้งเชื้อไวรัสเอชไอวี ระหว่าง TAF และ TDF ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (5)
ดังแสดงในรูปที่ 6
รูปที่ 6 กราฟเปรียบเทียบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อเอชไอวีของ TDF และ TAF
อย่างไรก็ตามพบว่า TAF ยังมีข้อเสียเรื่องการเพิ่มระดับไขมันในเลือด (4) มีผลเพิ่มระดับ Total Cholesterol, LDL-C และ triglyceride มากกว่า TDF เมื่อรับยาไป 48 สัปดาห์ แสดงตารางที่ 1
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบผลของ TAF และ TDF ต่อระดับไขมันประเภทต่างๆ
สูตรยาใหม่กว่าช่วยลดอาการข้างเคียง ?
ยาต้านไวรัสในปัจจุบันยังไม่มีตัวใดสามารถรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้หาดขาด จึงจำเป็นต้องรรับประทานยาไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องพัฒนายาต้านที่สามารถรับประทานได้ง่าย ผลข้างเคียงน้อย และประสิทธิภาพการรักษาสูง เพื่อให้ผู้รับประทานยามีความร่วมมือในการรักษา อีกทั้งช่วยป้องกันภาวะภูมิคุ้มกันลดลงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรที่นิยมใช้เป็นทางเลือกหลักในประเทศไทยคือ NRTI+NNRTI-based regimen ได้แก่ยี่ห้อ Teevir พบว่ายังมีผลข้างเคียง เช่น เมื่อรับประทานยา efavirenz อาจเกิดอาการมึนศีรษะ ง่วงนอน ฝันร้าย รวมถึงอาจเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะจิตผิดปกติได้
ตามแนวทางการักษาในปัจจุบันจากองค์การอนามัยโลก ประเทศสหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม Integrase inhibitors-based regimen เป็นทางเลือกหลัก เนื่องจากมีผลการศึกษารรับรองประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงน้อยกว่า รวมถึงไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ในประเทศไทยมียาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาทั้งหมด 3 รายการ ได้แก่ Raltegravir (RAL), Elvitegravir (EVG), และ Dolutegravir (DTG) ซึ่งยาตัวใหม่ที่อาจจะเข้ามาเสริม หรือเป็นทางเลือกใหม่แทนที่ Teevir คือ Kocitaf ซึ่งประกอบด้วย Dolutegravir
Dolutegravir (DTG) (6)
เป็นยากลุ่ม Integrase inhibitors รุ่นที่สอง ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในปี ค.ศ.2013 คุณสมบัติทนต่อการดื้อยาของไวรัสเอชไอวีได้สูง ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดเดี่ยวคือ Tivicay 10, 25, และ 50 mg และรูปแบบเม็ดรวมยี่ห้อ Triumeq ประกอบด้วย Abacavir 600mg, Lamivudine 300mg,Dolutegravir 50 mg
เภสัชจลศาสตร์ของยา Dolutegravir จับกับโปรตีนในเลือดมากกว่า 98.9% ค่าปริมาตรการกระจายตัวของยาเท่ากับ 17.4 ลิตร ค่าครึ่งชีวิตในเลือดเท่ากับ 14 ชั่วโมง ยานี้มี metabolism ผ่านทาง UGT1A1 และบางส่วนผ่านทางเอนไซม์ CYP3A ดังนั้นยาที่มีผลกับ CYP3A เมื่อใช้ร่วมกับ dolutegravir ก็จะส่งผลต่อระดับ dolutegravir ในร่างกายด้วย ตัวอย่างเช่น ยาลดกรดหรือยาที่มีไอออนหลายประจุทำให้ระดับ dolutegravir ลดลงได้ ยาถูกกำจัดทางอุจจาระ 53%
พบว่า อาหารที่รับประทานร่วมกับยานี้ เพิ่มปริมาณการดูดซึมยา แต่ลดอัตราเร็วในการดูดซึมยา แต่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก ดังนั้น อาจรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารหรือไม่ก็ได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา Dolutegravir และยา Metformin (รักษาเบาหวาน) พบว่า ทำให้ระดับยา Metformin เพิ่มสูงขึ้น 2.4 เท่า และมีค่าระดับยา Metformin สูงสุดเพิ่มขึ้น 2 เท่า
การรับประทาน Dolutegravir ร่วมกับ Rifampicin (รักษาวัณโรค) พบว่า Rifampicin ลดระดับยา Dolutegravir ถึง 54% ดังนั้นอาจต้องเพิ่ม dolutegravir 50 mg ที่เดิมรับประทานวันละครั้ง เป็นวันละ 2 ครั้ง
ผลข้างเคียงของ Dolutegravir เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เกิดภาวะซึมเศร้าได้ในผู้ป่วยที่มีประวัติปัญหาทางจิตเวช สตรีมีครรภ์ควรระวัง โดยเฉพาะที่อายุครรภ์ไม่ถึง 8 สัปดาห์ หากยังไม่ได้เริ่มยาต้านไวรัส แนะนำให้เริ่มด้วยยาต้านสูตรอื่นแทน ส่วนที่อายุครรภ์เกิน 8 สัปดาห์สามารถรับยา Dolutegravir ได้โดยการติดตามจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ข้อห้ามใช้ (7) DTG มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่
ข้อมูลทางคลินิกของ Dolutegravir
ในการศึกษาเพื่อขอขึ้นทะเบียนยา พบว่าผู้ป่วยทนต่อ DTG ได้ดีกว่า efavirenz (EFV) หรือ darunavir/ritonavir (DRV/r) ถึงแม้มีความเสี่ยงต่ออาการนอนไม่หลับสูงขึ้น แต่ผลข้างเคียงทางระบบประสาทส่วนกลางที่ร้ายแรง เช่น ซึมเศร้า และคิดฆ่าตัวตาย พบได้น้อยมาก หลังได้รับอนุมัติให้วางจำหน่าย พบว่า การ ใช้ DTG ในทางเวชปฏิบัติ มีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติการณ์ของผลข้างเคียง ทางจิตประสาทสูงกว่าที่พบในการศึกษาทางคลินิก
การศึกษาแบบย้อนหลัง ในผู้ป่วย 1950 ราย ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเริ่มใช้ยากลุ่ม integrase inhibitor ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึง 2559 ประมาณการจากอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางจิตประสาท ซึ่งนำ ไปสู่การหยุดยาภายใน 12 เดือน โดยที่ DTG อยู่ที่ร้อยละ 7.6 และ 5.6 จากการศึกษายังพบ ว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางจิตประสาทที่นำไปสู่การหยุดยา DTG เกิดขึ้นบ่อย ครั้งในกลุ่มสตรี ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มี human leucocyte antigen (HLA)-B*5701 เป็นลบ ที่เริ่มใช้ยา ABC พร้อมๆ กัน (7)
องค์การอนามัยโลก ได้ออก Update of recommendations on first- and second-line antiretroviral regimens Policy brief 22 July 2019 แนะนำให้ใช้ Dolutegravir มากกว่า Efavirenz (8) เนื่องจาก เกิด drug–drug interactions น้อยกว่า มี viral suppression เร็วกว่า มี higher genetic barrier ต่อการเกิดการดื้อยา และมีฤทธิ์ต่อ HIV-2 มากกว่า แม้ยา Dolutegravir อาจทำให้น้ำหนักเพิ่ม แต่ในประเด็น เรื่อง การเกิด neural tube defect ในทารกของประเทศ Botswana นั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน และจากการศึกษา เปรียบเทียบกับ efavirenz-based ไม่พบความแตกต่างกัน รวมถึง อุบัติการณ์ในประเทศอื่น ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น
สรุปข้อมูลเปรียบเทียบยา 2 สูตร
Teevir | Kocitaf | |
ส่วนประกอบ | TDF 300 mg FTC 200 mg EFV 600 mg | TAF 25 mg FTC 200 mg DTG 50 mg |
ประเภทยาที่ออกฤทธิ์ตามกลไก | 2 of NNRTIs + 1 NNRTI | 2 of NNRTIs + 1 INSTI |
Tenofovir Prodrug | Tenofovir disoproxil fumarate (TDF) | Tenofovir alafenamide fumarate (TAF) |
การออกฤทธิ์ของ TNF | TDF เปลี่ยนเป็น TNF ในพลาสม่า เหลือส่วนน้อยที่เข้าเซลล์เป้าหมายแล้วเปลี่ยนเป็น TNF-DP | TAF ส่วนใหญ่เข้าเซลล์เป้าหมายเลย และเปลี่ยนเป็น TNF และ TNF-DP ตามลำดับ |
ผลต่อไต กระดูก ในระยะยาว(เกิน 2 ปี) | มีผลการทำงานของไต และมวลกระดูกบางลง | มีผลต่อการทำงานของไต และมวลกระดูกน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ |
ผลต่อระดับไขมันในเลือด | เพิ่มระดับ | เพิ่มระดับ |
ผลของอาหารต่อการดูดซึมยาเมื่อรับประทานพร้อมกัน | อาหารไขมันสูงเพิ่มการดูดซึมยา จึงควรกินยาตอนท้องว่างเพื่อลดอาการคลื่นไส้ จากปริมาณยาที่ดูดซึมมากเกินไป | เพิ่มการดูดซึมยาแต่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก สามารถกินยาร่วมหรือไม่ร่วมกับอาหารได้ |
ผลของการใช้ร่วมกับฮอร์โมนเพศหญิง/ยาคุมกำเนิด | อาจลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดและยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน (9) | ไม่มีผล (10) |
น้ำหนักตัว | มีผลน้อย | น้ำหนักอาจเพิ่ม |
การใช้ในหญิงมีครรภ์ | หลีกเลี่ยงใน 12 สัปดาห์แรกของครรภ์ | หลีกเลี่ยงใน 8 สัปดาห์แรกของครรภ์ |
ผลข้างเคียงเมื่อเริ่มใช้ยา | ปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่่วน อาเจียน ท้องเสีย เหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ง่วงนอน มีปัญหาในการนอนหลับ ขาดสมาธิ หรือฝันผิดปกติ | นอนหลับยาก (insomnia) และปวดศีรษะ |
ภาวะซึมเศร้าเมื่อใช้นาน | มีผล (9) | มีผลน้อย (7) |
ปฏิกิริยากับยาอื่น (Drug interactions) | มากกว่า Kocitaf | น้อยกว่า Teevir |
การกดเชื้อไวรัส (Viral suppression) | ช้ากว่า Kocitaf | เร็วกว่า Teevir |
โอกาสดื้อยา | สูงกว่า Kocitaf | ต่ำกว่า Teevir |
การออกฤทธิ์ต่อ HIV-2 | น้อยกว่า Kocitaf | ต่ำกว่า Teevir |
ตัวย่อ
FTC = Emtricitabine, EFV = Efavirenz, DTG = Dolutegravir, NNRTIs = Non nucleotide reverse transcriptase inhibitors, NNRTI = Nucleotide reverse transcriptase inhibitors, INSTI = Integrase strand transfer inhibitors, TNF-DP= Tenofovir diphosphate
แหล่งอ้างอิง
Timeline ประวัติศาสตร์ การมีตัวตน
ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQA+++)
ในประเทศไทย
ในอดีตหลังพุทธกาล
สมัยอยุธยา
สมัยรัตนโกสินทร์
ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ยุคสื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู
ยุคสื่อแพร่หลายจนถึงยุคปัจจุบัน
ที่มา
Chemsex กับสิ่งที่ต้องคำนึง
Chemsex คืออะไร?
ปัจจัยที่ทำให้คนใช้ chemsex
Chemsex ทำอย่างไรกับร่างกาย
สารเคมีที่ใช้เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเพศนั้น มีการทำงานผ่านระบบประสาทและสมอง จึงขออธิบายที่มาที่ไปของระบบที่ตอบสนองดังนี้
1. สมอง คือ อวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย สมองทำให้เรามีความสามารถในการรับรู้จดจำ รู้สึกนึกคิด แสดงอารมณ์ และตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น เพราะสมอง คือ อวัยวะสำคัญของระบบประสาทส่วนกลางมีการหลั่งสารเคมีชนิดต่าง ๆที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (Neurotransmitters) เพื่อเป็นตัวนำสัญญาณประสาทจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์ประสาทหนึ่ง หรือเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทกับเซลล์กล้ามเนื้อ โดยการส่งสัญญาณจะเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างเซลล์เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้น การทำงานของระบบประสาทก็จะเกิดความสมบูรณ์
2. สารสื่อประสาท (Neurotransmitters)คือ สารเคมีที่ส่งสัญญาณประสาทจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์ประสาทหนึ่ง สารสื่อประสาทมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ และควบคุมระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งหากสูญเสียความสมดุลจะทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ หรือ ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน โรคอ้วน โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทเมื่อมีการกระตุ้นโดยสัญญาณประสาท ตัวส่งสารสื่อประสาทจะหลั่งสารสื่อประสาทออกมาในปริมาณที่เหมาะสมเป็นระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นสารสื่อประสาทจะถูกดูดกลับเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ ย่อยสลาย หรืออาจติดอยู่กับตัวรับเลยก็ได้ โดยสารสื่อประสาทในร่างกายมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรมบุคลิกภาพ และ ลักษณะนิสัยรวมถึง ระบบการทำงานของร่างกาย โดยมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทแต่ละชนิด รวมถึงการ มีความรักหรือความสัมพันธ์ทางเพศ และ การใช้สารเสพติด
สารสื่อประสาท | ||||
สารสื่อประสาทและหน้าที่ | สิ่งกระตุ้นทั่วไป | สารสื่อประสาทกับความสัมพันธ์ทางเพศ | หากปริมาณต่ำเกินไป | หากปริมาณมากเกินไป |
เอนโดฟิน เป็นยาระงับความปวดตามธรรมชาติ ช่วยบรรเทาความเครียด สร้างความรู้สึกเพลิดเพลินเป็นสุข เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองและมีส่วนช่วยในการควบคุมให้อยากอาหารน้อยลง | คือ การได้ทำกิจกรรมที่ชอบหรือ พึงพอใจเช่นการออกกำลังกายการเล่นดนตรี การสร้างสรรค์งานศิลปะการนวดการดูทีวี หรือการรับประทานอาหาร | การสัมผัสคนรักการแสดงความรัก หรือในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ | มีอาการซึมเศร้าวิตกกังวล หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว ปวดเมื่อย หรือนอนไม่หลับ | – |
อะดรีนาลิน ความจำเป็นต่อกระบวนการย่อยสลายดูดซึมสารอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงานสำหรับร่างกายทำให้หัวใจแข็งแรงและทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อมากขึ้นเมื่อร่างกายเกิดความเครียด | การทำกิจกรรมที่มีความท้าทายความเสี่ยง หรือมีความตื่นเต้น รวมถึงการลุ้นผลรางวัล การเล่นการพนัน | การจีบคนที่เรามีความสนใจเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ หรือเพื่อต้องการให้อีกฝ่ายตอบรับ | – | หากอะดรินาลินมีระดับผิดปกติ จะมีผลต่อความวิตกกังวล การนอนหลับ อารมณ์ ความดันเลือดสูง |
โดปามีน มีบทบาทต่อการเรียนรู้การจดจำ ทักษะต่าง ๆการนอนหลับ ระบบภูมิคุ้มกัน ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สมาธิในการทำงาน การมองโลกในแง่ดี อารมณ์ที่พึงพอใจความรู้สึกรักและยินดี รวมถึงช่วยควบคุมการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวและอารมณ์ | โดปามีนจะมีการหลั่งได้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในช่วงอายุ 12-30 ปี เนื่องจากเป็นช่วงของวัยเจริญพันธุ์การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น นม ไข่เนื้อสัตว์ หรือธัญพืชต่างๆ | ช่วงเวลาที่ถึงจุดสุดยอดของการมีเพศสัมพันธ์ | โรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า | การย้ำคิดย้ำทำอารมณ์ร้อนหรือทำให้เกิดโรคจิตเภท |
เซโรโทนิน ประมาณ 80-90% จะถูกสร้างและอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ที่เหลือจะสร้างที่สมอง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว ความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ เป็นมิตรควบคุมความรู้สึกเจ็บปวดความอยากอาหาร การนอนหลับความปรารถนาทางเพศ การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เพิ่มความดันเลือดความทรงจำและการเรียนรู้ | มีการหลั่งเองตามธรรมชาติของร่างกายและ การทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ นมไข่ถั่วเหลือง ปลาทูน่า รวมถึง การออกกำลังกาย และการรับแสงแดดอ่อนๆ | ขณะที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ของการชอบพอหลงใหล หรือตกหลุมรัก | ความเครียดวิตกกังวล อยู่ไม่สุข ไม่มีสมาธิโกรธง่ายหงุดหงิด และบางครั้งก็แสดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง อาการซึมเศร้า ไมเกรน และเกิดแนวโน้มการฒ่าตัวตายได้ รู้สึกง่วงนอนในระหว่างวันมากกว่าตอนกลางคืน ความต้องการทางเพศลดลง นอนไม่หลับ | กระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขคลื่นไส้และอาเจียนสับสนเพ้อ เห็นภาพหลอน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ มีไข้สูงมากกว่า 40 องศา กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กระตุกจนเกิดอาการชัก |
นอร์อะดรีนาลิน เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำตาลกลูโคสสู่กระแสเลือดมากขึ้นเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้สมองตื่นตัวเพื่อเพิ่มความเร็วในการตอบสนองในภาวะคับขันและ ทำให้มีสมาธิ มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายในช่วงกลางคืน และตอนตื่นนอน | มีการหลั่งเมื่อร่างกายอยู่ในสถานการณ์คับขัน ภาวะกดดัน หรือมีอันตรายและการหลั่งตามธรรมชาติในเวลากลางวันและหลั่งลดลงในเวลากลางคืน | มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายในช่วงกลางคืนและ ตอนตื่นนอน | โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้าความดันเลือดต่ำ | หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดสูงอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเกิดความรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป |
สารเสพติดและชื่อเรียกในกลุ่มผู้ใช้ยา
สารเสพติด | ชื่อเรียกในกลุ่มผู้ใช้ |
ยาไอซ์ (Methamphetamine) | ตัวใหญ่/ น้ำแข็ง /งาน/ สเก็ต/ ไฮ/ บิน |
ยาอี/ยาเลิฟ (Ecstasy)/Methylenedioxymethamphetamine (MDMA) | ขนม / อี / MDMA |
ยาบ้า (Amphetamine) | ตัวเล็ก/ ยาม้า / ม้า / สปีด |
เคตามีน (Ketamine) | เค |
ป๊อปเปอร์ (Alkyl nitrites) | ป๊อปเปอร์ |
ซาแน็กซ์ (Alprazolam) | ยาแมว / แมว / แน็กซ์ / มาโน่ |
GHB (Gamma hydroxybutyrate) | GHB |
สารเสพติดทำงานกับสมองของเราอย่างไร
สารเสพติด | ผลต่อสารสื่อประสาท |
สารเสพติดทุกชนิด | เพิ่ม เอนโดฟิน เอนโดฟินเป็นยาระงับความปวดตามธรรมชาติ ช่วยบรรเทาความเครียด สร้างความรู้สึกเพลิดเพลินเป็นสุข เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองและมีส่วนช่วยในการควบคุมให้อยากอาหารน้อยลง |
สารเสพติดทุกชนิด | อะดรีนาลีน สูงขึ้นในขณะที่กำลังรอสารเสพติดเข้าร่างกาย อะดรีนาลีนมีความจำเป็นต่อกระบวนการย่อยสลายดูดซึมสารอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาสำหรับร่างกาย ทำให้หัวใจแข็งแรงและทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อมากขึ้นเมื่อร่างกายเกิดความเครียด |
เฮโรอีน, ยาไอซ์, โคเคน, ยาอี, GHB | เพิ่ม โดปามีน โดปามีนมีบทบาทต่อการเรียนรู้การจดจำ ทักษะต่าง ๆ การนอนหลับ ระบบภูมิคุ้มกัน ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สมาธิในการทำงาน การมองโลกในแง่ดี อารมณ์ที่พึงพอใจ ความรู้สึกรักและยินดี รวมถึงช่วยควบคุมการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวและอารมณ์ |
ยาอี , ยาไอซ์ | เพิ่ม เซโรโทนิน เซโรโทนินประมาณ 80-90% จะถูกสร้างและอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ที่เหลือจะสร้างที่สมอง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก ช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว ความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ เป็นมิตร ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด ความอยากอาหาร การนอนหลับ ความปรารถนาทางเพศ การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เพิ่มความดันเลือด ความทรงจำและการเรียนรู้ |
ยาอี , ยาไอซ์ | เพิ่ม นอร์อะดรีนาลิน นอร์อะดรีนาลีนมีหน้าที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำตาลกลูโคสสู่กระแสเลือดมากขึ้น เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้สมองตื่นตัว เพื่อเพิ่มความเร็วในการตอบสนองในภาวะคับขันและ ทำให้มีสมาธิ มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายในช่วงกลางคืน และ ตอนตื่นนอน |
ผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเสพติดต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม
ยาไอซ์ (Methamphetamine)
วิธีการใช้ สูบ, ฉีด
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจมีสมาธิสดชื่น ตื่นตัว ลดความอยากอาหารไม่ง่วงนอน
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นหรือผิดปกติ ความดันเลือดสูงขึ้น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ปากแห้งและมีกลิ่นปาก เหงื่อออกมาก ระดับสายตาเปลี่ยนแปลง เสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำ กรณีหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์
กรณีใช้ด้วยวิธีการฉีด อาจเกิดการบาดเจ็บจากการฉีดที่ไม่ถูกต้อง และ มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวีและ ไวรัสตับอักเสบซี หากมีการใช้เข็มและอุปกรณ์การฉีดยาร่วมกัน รวมถึงความเสี่ยงจากการใช้ยาเกินขนาด
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
ผลจากการใช้ยา บางรายอาจพูดมากขึ้น คึกคักกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว จนอาจส่งผลรบกวนผู้อื่น และบางรายอาจคึกคะนองจนทำพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
การหยุดใช้ยา : อาจมีอาการซึมเศร้า รู้สึกวิตกกังวลอยู่ไม่สุข ไม่มีสมาธิโกรธง่ายหงุดหงิด และบางครั้งก็แสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว
ผลกระทบทางสังคม
หลังการใช้ยาไอซ์ร่างกายของผู้ใช้จะต้องการการนอนหลับเป็นระยะเวลาที่มากขึ้นเพื่อชดเชยในช่วงเวลาที่เคยอดนอน และผลจากการที่ร่างกายนำพลังงานที่สะสมไว้มาใช้ ซึ่งในกรณีนี้จะส่งผลให้ผู้ใช้ยาไอซ์ไม่สามารถหยุดพักการใช้ยาไอซ์ได้หากจำเป็นต้องกลับไปทำงาน หรืออาจส่งผลให้ไปทำงานสาย และการหลับในเวลาทำงานหรืออาจส่งผลให้ลืมกินยาต้านหรือลืมกินPrEP ได้
ยาอี/ Ecstasy (Methylenedioxymethamphetamine : MDMA)
วิธีการใช้ กิน
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ผู้ใช้รู้สึกมีความสุขสดชื่นตื่นตัว รู้สึกดีกับตัวเอง มั่นใจในตัวเอง รู้สึกไว้วางใจและพึงพอใจในผู้อื่น ต้องการเข้าสังคมหรือทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่น
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดสูง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น กล้ามเนื้อแข็งเกร็งกระตุกจนเกิดอาการชัก
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
ผลจากการใช้ยา : เกิดความรู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุขคลื่นไส้และอาเจียนสับสน เพ้อ เห็นภาพหลอน
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
หลังการใช้ หรือ การหยุดใช้ยาอี อาจส่งผลต่อความรู้สึกซึมเศร้า ไม่มั่นใจหรือไม่สนุกในการเข้าสังคม รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
GHB (Gamma hydroxybutyrate)
วิธีการใช้ กินโดยผสมเครื่องดื่ม
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกสงบ เกิดอาการเคลิ้มสุข
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาเจียน กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่ เกิดภาวะกายใจไม่สงบ และการชัก หรือการสลบ หมดสติ การใช้ยาเกินขนาดอาจจะทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากตัวยาเป็นน้ำจึงคำนวณปริมาณการใช้ได้ยาก และตัวยาที่เป็นน้ำ ก็สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วมากขึ้น
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
การหยุดใช้ยาอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า มีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
การใช้ GHB ในงานปาร์ตี้สังสรรค์ โดยเฉพาะการใช้ยาผสมเครื่องดื่มซึ่งไม่ได้ผสมยาด้วยตัวเอง อาจหมดสติและโดนล่วงละเมิดทางเพศได้
ป๊อบเปอร์ ( สารประกอบประเภท Alkyl nitrites)
วิธีการใช้ กินโดยผสมเครื่องดื่ม
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
มีผลต่อการคลายตัวของกล้ามเนื้อรวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด ,ช่องทวารหนัก , ลำคอและทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้นทันทีทั่วร่างกายจึงทำให้เกิดความรู้สึกร้อนและตื่นเต้น
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
การสูดดม : อาจทำให้เกิดรอยไหม้ ผิวหนังลอกบริเวณจมูกและปาก เยื้อบุโพรงจมูกถูกทำลายการระคายเคืองภายในลำคอ เวียนหัว
การใช้ยาในปริมาณที่มากไป : อาจส่งผลให้ความดันเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว การใช้ป๊อปเปอร์ ร่วมกับยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ : เช่น ไวอากร้า ซึ่งการออกฤทธิ์มีผลต่อการขยายตัวของหลอดเลือดเช่นเดียวกันอาจส่งผลให้ความดันเลือดลดลงอย่างรุนแรง ผู้ใช้อาจมีอาการหน้ามืดเป็นลม หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือดซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
การใช้ป๊อปเปอร์ร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ อาจส่งผลให้รู้สึกมีความสุขทางเพศลดลงเนื่องจาก ป๊อปเปอร์มีผลต่อการไหลเวียนของเลือดทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกร้อนวูบวาบ จึงรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ป๊อปเปอร์ช่วยลดความเจ็บระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
ไม่มีข้อมูล
ซาแน็กซ์ ( Xanac : Alprazolam)
วิธีการใช้ กิน
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสงบ ความวิตกกังวลลดลง มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
การใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไป ผู้ใช้อาจไม่รู้สึกตัวแต่ยังคงพูดคุยหรือทำสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นปกติโดยที่ขณะนั้นไม่รู้สึกตัวและจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือสูญเสียความทรงจำชั่วคราวมีบุคลิกที่เปลี่ยนแปลง การพูดหรือถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆและอาจเดินเซ เหมือนคนเมาเหล้า และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
หากใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน แล้วหยุดใช้ยาทันทีอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและบางรายมีอาการชักมีความรู้สึกไม่มั่นใจในการเข้าสังคม หรือ การทำสิ่งแปลกใหม่
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
การใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไป ผู้ใช้อาจไม่รู้สึกตัว แต่ยังคงพูดคุยหรือทำสิ่งต่าง ๆได้เป็นปกติ แต่อาจมีบุคลิกที่เปลี่ยนแปลงเช่น พูดมากขึ้น การพูดหรือถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆโดยจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ และ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและมีผลต่อภาพลักษณ์ทางสังคม
ยาเค (Ketamine)
วิธีการใช้ สูดดม เหมือนยานัตถุ์
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มสลับกับมึนงงคล้ายเมาสุรา
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
ระหว่างการออกฤทธิ์ผู้ใช้อาจมีอาการตาแข็ง ตัวแข็งเดินเซ พูดลิ้นพันกัน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดสูงขึ้น หากได้รับยาในปริมาณมากเกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการจิตเตลิดและอาละวาด รวมถึงอาจเกิดอาการชัก การใช้ยาปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้มีการมีอาการปวดแสบเวลาปัสสาวะ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีเลือดออกจากกระเพาะปัสสาวะ บางรายอาจต้องผ่าตัดเพื่อใช้กระเพาะปัสสาวะเทียม
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
การใช้ยาเคร่วมกับสารกระตุ้นประสาท เช่นยาไอซ์ ยาอี ยาบ้า ป๊อปเปอร์ อาจทำให้ชีพจรและความดันเลือดสูงขึ้น ผู้ใช้ยาอาจรู้สึกวิตกกังวลและกระวนกระวาย
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
ผู้ใช้มีการใช้ยาเคซ้ำๆหรือใช้ยาอย่างต่อเนื่อง หากหยุดใช้ยาอาจส่งผลให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือ ไม่คุ้นชินเมื่อทำกิจวัตรประจำวันโดยไม่ได้ใช้ยาเค รวมถึงอาจหงุดง่าย โมโหง่ายและอาจมีภาวะซึมเศร้า
ที่มา
จารุณี ศิริพันธุ์ สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ พีราณี ศุภลักษณ์,CHEMSEX 101.เรียนรู้ เข้าใจ เพื่อป้องกันและลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ Chemsex ในประเทศไทย. สนับสนุนโดย LINKAGES Thailand FHI 360
Sexuality เพศเลือกได้ คุณเข้ากับแบบไหน ถามใจดู
หากจะนิยามและจำแนก Human sexuality หรือเพศวิถีของมนุษย์เรานั้น คงมีหลากหลายและเข้าใจยากในสมัยนี้ ด้วยองค์ความรู้และการปรากฏของ LGBTQA+++ ในสังคมโลก ทำให้เราต้องเรียนรู้มากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจในปัจเจกชนมากขึ้น แทนที่จะเหมารวมหรือแบ่งแยกว่า เขาเป็นอะไร เราเป็นอะไร เพราะคนเรามีความแตกต่าง หลากหลาย แม้แต่ในคนคนเดียวยังลื่นไหลเปลี่ยนไปมาได้ วันนี้เรามาเรียนรุ้กันค่ะ ว่าเพศวิถีต่างๆเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ได้เกิดกับกลุ่ม LGBTQA+++ อย่างเดียวนะคะ กลุ่มที่เคลมว่าเป็นชายจริงหญิงแท้ ก็ยังมี sexuality ที่อาจทับซ้อนกับบริบทที่จะกล่าวถึงนี้ค่ะ
การกำหนดว่ามนุษย์เรามี sexuality แบบใด ในภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า sexual เป็นตัวลงท้าย เคยสงสัยบ้างไหมคะว่ามันมีกี่คำ แต่ละคำมีความหมายอย่างไร ซึ่งคำที่ลงท้ายด้วย sexual มีมากเกินกว่าที่พจนานุกรมจะบัญญัติไว้ และเกิดขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ คำว่า sexual เดี่ยวๆนั้นแปลว่า เกี่ยวกับเพศ ทางเพศ ในทางเพศ เมื่อมันไปผสมกับคำอื่นโดยอยู่ท้ายคำ ความหมายก็จะสอดคล้องไปทางเรื่องเพศ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวตามแต่คำหน้าจะนำพาไป เราจะเรียนรู้ รู้จักผู้คน รสนิยม พฤติกรรมทางเพศ และความหลากหลายทางเพศมากขึ้น บางอย่างก็อาจทำให้เราอึ้ง ทึ่ง เสียว ไปกับมันก็เป็นได้ จิตใจคนเรานั้นยากแท้หยั่งถึง รสนิยมของคนก็เช่นกัน วันนี้เราลองมาเรียนรู้กันพอประมาณนะคะ แอดมินพยายามรวบรวมให้ได้มากที่สุด ณ ตอนนี้ค่ะ
Abrosexual
บุคคลที่มีความลื่นไหลทางเพศ เปลี่ยนเป็นเกย์ เป็นคนรักทุกเพศ หรือเป็นเพศที่รักเพศตรงข้ามได้ แล้วแต่อารมณ์หรือโอกาส คำว่า abro- มาจากรากศัพท์กรีกโบราณ แปลว่า ประณีต ละเอียดอ่อน
Agynosexual
บุคคลที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศกับผู้หญิงหรือผู้มีความเป็นหญิง แต่อาจรู้สึกดีด้วยเท่านั้น
Akoisexual หรือ Lithosexual
คนที่มีอารมณ์ทางเพศ รู้สึกดึงดูดทางเพศ กับคนอื่น แต่เป็นลักษณะที่ไม่ต้องการสิ่งนั้นตอบแทน หรือไม่อยากเกี่ยวข้องเมื่อคนอื่นหยิบยื่นมาให้ บางครั้งถึงขั้นหมดอารมณ์เมื่อฝ่ายตรงข้ามแสดงออกว่าชอบหรือดึงดูดใจ อาจนิยามว่าเป็นประเภทหนึ่งของ asexual
Allosexual
คือคำอธิบายถึงการมีตัวตันทางเพศ ใช้อธิบายทั่วไปกับคนที่ตั้งใจบอกว่า ฉันมีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น คิดว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งปกติ เรียกอย่างกว้างๆ ไม่ได้ระบุว่าต้องชอบเพศไหน ซึ่งคำนี้เป็นคำตรงข้ามคำว่า Asexual (บุคคลที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ)
Androsexual ,Masexual, Mascusexual, Minsexual
บุคคลมีแรงดึงดูดทั้งทางเพศและทางใจกับผู้ชาย เพศชาย ความเป็นชาย อะไรก็ได้ที่ดูเป็นชาย โดยไม่สนว่าจะเป็นชายโดยโครโมโซมหรือมีอวัยวะเพศชายโดยกำเนิดหรือไม่
Androgynosexual
คนที่มีอารมณ์ทางเพศ หรือดึงดูดใจกับทั้งเพศชายและหญิง โดยเฉพาะกับคนที่ลักษณะดูก้ำกึ่ง (androgenous)
Anegosexual / Aegosexual
คนที่มีรสนิยมทางเพศใน spectrum ของ asexuality หมายถึงคนที่แทบจะไม่มีอารมณ์ที่จะข้องแวะกับกิจกรรมทางเพศใดๆ อาจเกิดได้นานๆครั้ง
Anthrosexual
เป็นบุคคลที่ไม่สนใจ ไม่ต้องการ ระบุเพศใดๆ ขอแค่ถูกใจก็ไปกันได้ anthro- แปลว่า มนุษย์ ดังนั้นเขาจึงมองข้ามเรื่องเพศสภาพไป มองแค่เพียงเป็นคนคนหนึ่ง
Asexual
กลุ่มคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ ไม่สนใจหรือรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องเพศสัมพันธ์กับคนอื่น บางคนมีความรักแต่ไม่ใคร่ บางคนไม่สนทั้งรักทั้งใคร่ บางคนก็มีทั้งรักทั้งใคร่บ้างแต่น้อยมาก ส่วนพฤติกรรมทางเพศต้องแยกให้ออก เพราะ Asexual ไม่ได้หมายความว่ามี sex ไม่ได้ มีได้ มีอารมณ์ทางเพศ แต่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับคู่นอน แต่ก็มีที่ Asexual บางคนไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับใครเลย Asexual บางคนมีความพึงพอใจกับการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง เรียกว่า Libidoist asexual
Autosexual
บุคคลที่มีแรงดึงดูดทางเพศกับตนเอง มีความต้องการเพศสัมพันธ์กับตนเอง เช่น มีอารมณ์กับตัวเอง สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แต่กลุ่มนี้ไม่รวมคนที่มี sex กับคนอื่นเป็นปกติ แต่ชอบสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองมากกว่า หรือไม่มีโอกาสมี sex ได้แต่ช่วยตัวเองไปตลอด
Avansexual / Ceterosexual
คนที่มีอารมณ์ทางเพศ และดึงดูดใจกับคนที่ระบุว่าตนเป็น nonbinary อย่างแท้จริง ( *nonbinary คือคนที่ไม่ระบุตัวเองว่าเป็นเพศไหนในระบบที่เชื่อว่ามีสองเพศที่มีแต่ชายและหญิง)
Bisexual
บุคคลที่มีรสนิยมทางเพศในลักษณะของ sex, ความใคร่, ความสุขทางใจ หรือแรงดึงดูดทางอารมณ์ กับทั้งสองเพศ ทั้งเพศเดียวกับตน และเพศตรงข้าม (ปัจจุบันตีความว่า เพศตรงข้ามคือเพศอื่นอีกใดๆมากกว่า 1 เพศ มีนิยามอีกว่า Bi+ sexual )
Burstsexual
เป็นบุคคลที่อยู่ในความเป็น asexual แต่นานๆครั้งเกิดประทุอารมณ์ (burst) ทางเพศหรือร่วมกับความโรแมนติกในระยะสั้นๆ
Casssexual
เป็นคนที่รู้สึกว่ารสนิยมทางเพศเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ให้ความหมายกับมัน หรือรู้สึกพอกับการมาตีความกำหนดเรื่อง รสนิยมทางเพศ
Coeosexual
เป็นบุคคลที่มีอารมณ์ รัก ใคร่ ดึงดูด กับคนที่ตนมีประสบการณ์ด้วยคนแรก เท่านั้น เหมือนกับคำว่า รักแรกพบ แต่คนเหล่านี้ก็ยังสานสัมพันธ์อันดีกับคนที่คบต่อๆไปแต่ก็อาจไม่เข้มข้นพอที่จะเกิดเป็นความสัมพันธ์ coeosexual มักผิดหวังกับคนที่ไม่รักตอบ เมื่อชอบแล้วก็ปักใจชอบเลย
Cupiosexual
เป็นกลุ่มย่อยของ Asexual คือบุคคลที่ปรารถนาจะมีแค่ความสัมพันธ์ทางเพศ มีพฤติกรรมทางเพศ แต่รู้สึกว่าใครๆก็ไม่ดึงดูดทางเพศต่อตนเองเลย
Demisexual
เป็นกลุ่มย่อยของ Asexual คือรสนิยมทางเพศของบุคคลที่เกิดแรงดึงดูดทางเพศกับสิ่งเฉพาะอย่างเท่านั้น เช่นกับบุคคลที่พวกเขาสัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งแน่นแฟ้นบางอย่างระหว่างกัน อาจจะเป็นคนพิเศษที่รู้จักกันมานานหลายปี เป็นคนที่ตนเองรู้สึกไว้ใจ หรือแรงดึงดูดทางเพศเมื่ออยู่ในภาวะที่โรแมนติก
Femmesexual, Finsexual, Gynesexual
บุคคลมีแรงดึงดูดทั้งทางเพศและทางใจกับผู้หญิง เพศหญิง ความเป็นหญิง อะไรก็ได้ที่ดูเป็นหญิง โดยไม่สนว่าจะเป็นหญิงโดยโครโมโซม หรือมีอวัยวะเพศหญิงโดยกำเนิดหรือไม่
Fictosexual
เป็นคำเรียกกว้างๆถึงคนที่หลงใหลกับนิยาย หรือเหตุการณ์ วิถีชีวิตที่เป็นเหมือนนิยาย ละคร เรื่องแต่ง ที่มักไม่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ไม่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศ
Flexisexual
บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ยืดหยุด ลื่นไหลได้หมด เป็น fluid gender เป็นได้ทุกเพศ และชอบได้ทุกเพศ
Fraysexual หรือ Ignotasexual
เป็นกลุ่มหนึ่งของ asexual ที่มีลักษณะ ไม่สนใจความสัมพันธ์แน่นแฟ้น หรือเหตุการณ์ที่จะนำพาไปสู่ความใกล้ชิด เขามีอารมณ์ทางเพศกับคนที่เขาไม่รู้จักหรือไม่สนิทสนมมากกว่า บางคนชอบความโรแมนติกแต่กับเฉพาะคนที่ไม่รู้จักหรือไม่สนิทเท่านั้น คำนี้ ตรงข้ามกับ Demisexual
Graysexual
เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่อยู่ใน spectrum ของผู้ที่ไม่นิยามตนเองว่าเป็น asexual หรือ aromantic (ผู้มีรสนิยมไม่เสพแรงดึงดูดที่โรแมนติกใดๆ) เรียกได้ว่ากลุ่มนี้อยู่ใน grey area บางครั้งเขาก็อาจจะรู้สึกบ้างแต่น้อยครั้งมากๆจนเรียกว่าแทบไม่มีเลย เช่น บางคนอาจจะเกิดแรงดึงดูดทางเพศกับคู่ของตนแค่เพียง 1-2 ครั้งต่อปี เป็นต้น
Heterosexual
บุคคลที่มีแรงดึงดูดทางเพศ ความรู้สึกโรแมนติก หรือมีอารมณ์กับบุคคลต่างเพศที่เป็นเพศตรงข้าม ในที่นี้จำกัดความคำว่าเพศ เป็นเพียง ชาย และ หญิง เรียกอีกอย่างว่า cisgender ส่วนหญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ (บุคคลข้ามเพศ) ในแง่ของอัตลักษณ์ทางเพศกับรสนิยมทางเพศสามารถจัดอยู่ในกลุ่ม Heterosexual ได้
Homosexual
เป็นคำที่ล้าสมัยที่นิยามจากแพทย์และทางจิตวิทยาซึ่งหมายถึงบุคคลที่เกิดแรงดึงดูดใจ มีอารมณ์ กับเพศเดียวกัน
Iculasexual
คือ asexual กลุ่มหนึ่งที่รู้สึกไม่อินกับความรักความใคร่ แต่เปิดโอกาสให้ตัวเองมีเพศสัมพันธ์ได้
Kalossexual
คือผู้ปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศ แต่ก็ไม่รู้สึกดึงดูดใจกับเรื่องทางเพศ
Minsexual
ผู้ที่เกิดแรงดึงดูดต่อคนที่มีความเป็นชายโดยธรรมชาติ : masculine in nature (MIN) คือชอบเพศชาย คนมีความเป็นชายไม่ว่าเพศไหน nonbinary ที่ดูเป็นชาย หรือแม้กระทั่งผู้หญิงที่ดูเป็นชายมากๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าชอบคนที่ระบุตนเองว่าเป็นผู้ชายเสมอไป
Metrosexual
เป็นผู้ชายที่เป็น heterosexual ที่มีความเป็นคนเมืองกรุง มักอาศัยอยู่เมืองใหญ่ สมาทานวัฒนธรรมคนเมืองหลวง ดูแลรูปร่างหน้าตาตนเองอย่างดี สนใจแฟชั่น มีรสนิยมละเมียดละไม จนดูเหมือนเป็นเกย์
Monosexual
เป็นคำกว้างๆที่จำแนกผู้มีรสนิยมชอบ รักใคร่ กับเพศเพศเดียวเท่านั้น เช่น Heterosexual ได้แก่ ผู้ชายที่ชอบเฉพาะผู้หญิง ผู้หญิงที่ชอบเฉพาะผู้ชาย รวมถึง Homosexual ได้แก่ เกย์ ถูกจำแนกว่าเป็นชายรักชาย เลสเบี้ยน คือหญิงรักหญิง
Mutosexual
เป็นผู้แสดงออกทางเพศแบบ fluid ลื่นไหลไปได้หมด วันนี้ชอบผู้ชาย อีกวันชอบผู้หญิง วันต่อมาชอบเกย์ ทอม ไบ ๆลๆ แต่ไม่จำเป็นว่าจะชอบทุกเพศได้ในเวลาเดียวกัน muto เป็นภาษาละติน แปลว่า “เปลี่ยน หรือ กลาย”
Neusexual
ผู้ที่เกิดแรงดึงดูดใจกับคนที่ระบุว่าตนเองเป็น เพศกลาง (neutral genders) รวมถึงผู้ระบุตนว่า ไม่มีเพศ คล้ายคลึงกับกลุ่ม Avansexual , Ceterosexual ที่ชอบคนที่เป็น non binary
Ninsexual
เป็นกลุ่มที่คล้ายๆ neusexual ตรงที่ชอบคนที่ระบุตนว่าเป็น เพศกลางโดยธรรมชาติ ( neutral/non-binary in nature : NIN) มีเพิ่มคือ ชอบพวก androgenous (ผู้แสดงออกทางเพศหรือรูปลักษณ์แบบก้ำกึ่งชายหญิง) กลุ่ม ninsexual ไม่ค่อยสนใจพวกที่แสดงออกว่าเป็นชายจริงหญิงแท้ บางคนชอบชายแท้ หญิงแท้ ที่แสดงออกแบบก้ำกึ่งก็มี
Novisexual
เป็นคำอธิบายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่สามารถระบุ หรือไม่อยากจะระบุให้ตนเข้ากรอบของเพศไหน หรือจะใช้คำไหนมาระบุตนเอง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องซับซ้อนเกิน
Novosexual
เป็นกลุ่มที่คล้าย (หรือเรียกว่าเป็น subset) กับ genderfluid หรือ Abrosexual ที่มีความลื่นไหลชอบได้ทุกเพศทุกแบบ มีความชอบเพศต่างๆตามสภาพและอารมณ์ ต่างกันที่ Novosexual จะมีความลื่นไหลในแบบ ประเภท/อัตลักษณ์ทางเพศที่ตนเองระบุไว้ก่อน แล้วไปชอบคนในแบบนั้น เช่น เมื่อระบุตัวเองว่าเป็นเกย์ ก็จะไปชอบผู้ชายหรือเกย์ พอลื่นไหลตัวเองไปเป็น Pansexual ก็จะไปชอบ nonbinary นั่นหมายความว่า novosexual ทุกคนเป็น genderfluid แต่ผู้ที่ระบุตนว่าเป็น genderfluid จะเป็น novosexual
Onesexual
คือคนที่ปรารถนาในรักเดียว หรือจะมีเพศสัมพันธ์กับคนคนเดียวในชีวิตนี้ เป็นได้ทั้ง hetero, homo, pan, bisexual
Omnisexual = Pansexual
บุคคลที่รักใคร่ มีเพศสัมพันธ์ได้แบบไม่จำกัดเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศกำเนิดอะไร อัตลักษณ์ทางเพศไหน หรือเพศสภาพอย่างไร
Penultisexual
คนที่มีรสนิยมชอบคนที่มีคำจำกัดความทางเพศใดๆ ที่ไม่ตรงกับของตนเอง เช่น ตัวเองเป็น demisexual ก็จะชอบ indentities อื่นๆได้หมด ยกเว้น demisexual เหมือนตน
Polysexual
ใช้อธิบายถึงบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศที่ชอบ รัก ใคร่ มีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่ง Polysexual สามารถอธิบายได้ว่าเป็น Bisexual, Pansexual, Ominsexual, Queer ก็ได้
Pomosexual (Postmodernism sexual)
คือผู้ที่ไม่นิยาม หรือหลีกเลี่ยงที่จะนิยามตนเองว่ามีรสนิยมทางเพศแบบไหน การจำแนกเหล่านั้นไม่จำเป็นสำหรับเขา
Proculsexual
ผู้ที่หลงใหลมีอารมณ์ทางเพศกับคนที่ตนเองไม่มีวันจะได้มีเพศสัมพันธ์ด้วย เช่นกับ ดารา คนดัง หรือตัวละครในนิยาย
Sapiosexual
คือคนที่เกิดแรงดึงดูด มีอารมณ์ กับคนฉลาด กับความฉลาดหรือสติปัญญา มากกว่าแรงดึงดูดทางเพศหรือเพศของคน
Skoliosexual
บุคคลที่ชอบ รักใคร่ หรืออยากมีเพศสัมพันธ์ กับคนกลุ่มที่ไม่ใช่เพศที่ระบุว่าเป็นชาย-หญิง (Cisgender) คือรู้สึกดึงดูดใจกับเพศทางเลือกเช่น nonbinary*, genderqueer, trans ( *nonbinary คือคนที่ไม่ระบุตัวเองว่าเป็นเพศไหนในระบบที่เชื่อว่ามีสองเพศที่มีแต่ชายและหญิง)
Spectrasexual
บุคคลที่รู้สึกดึงดูดใจกับคนไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม ชอบได้หลายเพศ แต่ไม่จำเป็นว่าจะชอบได้ทุกเพศที่มีระบุ
Transexual /Transgender
บุคคลข้ามเพศ ผู้เปลี่ยนแปลงตนเองจากเพศกำเนิด ไม่ว่าจะแปลงเพศ ใช้ฮอร์โมน หรือแสดงออก ให้รูปร่างลักษณะ เป็นเพศตรงข้ามจากเพศกำเนิด
Zygosexual
คือผู้ที่อยากมีคู่เพศสัมพันธ์ (sexual partners) อื่นอีก นอกจากคู่ประจำของตนเอง แต่ต้องมีเพศสัมพันธ์พร้อมกันหมดทุกครั้ง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่แยกไปมีเพศสัมพันธ์ Zygo- มาจากศัพท์กรีก แปลว่า เข้าร่วมกัน คำนี้ต่างจาก Polyamorous ตรงที่ Polyamorous เป็นการตกลงปลงใจจากทุกคนให้มีเพศสัมพันธ์กับต่างคู่ได้โดยต่างฝ่ายสามารถแยกไปมี sex โดยคู่ประจำไม่อยู่ด้วย แต่ zygosexual ต้องมีคู่ประจำอยู่ด้วย
แหล่งอ้างอิง
https://www.healthline.com/health/different-types-of-sexuality#d-lhttps://sexuality.fandom.com/wiki/List_of_Sexualities
ฮอร์โมนสำหรับหญิงข้ามเพศ ( Hormones for Transgender women)
คำว่า หญิงข้ามเพศ ( Transgender women) เริ่มเป็นที่คุ้นหูของคนไทยโดยทั่วไปมากขึ้น นอกจากคำเรียกแบบเดิม เช่น สาวประเภทสอง สาวสอง กะเทย ทั้งนี้คำว่าหญิงข้ามเพศ ในความหมายทางสังคมวิทยาเป็นคำเรียกผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นผู้ชายแต่ต้องการเปลี่ยนเพศสภาพของตนให้เป็นเพศตรงข้าม ซึ่งก็คือเพศหญิง (MTF หรือ Male to female transformation) โดยที่บุคคลนั้นจะยังไม่แปลง หรือแปลงเพศไปแล้วก็ได้ คนที่ยังไม่แปลงเพศก็ยังถืออัตลักษณ์และเพศสภาพของตนให้ดูเหมือนผู้หญิงโดยถือว่ายังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ การเปลี่ยนจากชายเป็นหญิงของกลุ่มสาวประเภทสองหรือหญิงข้ามเพศมักอาศัย ฮอร์โมน เป็นตัวช่วย ซึ่งมีความจำเป็นมากที่จะเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพให้เข้าใกล้ความเป็นหญิงมากที่สุด ฮอร์โมน ในที่นี้คือ ฮอร์โมนเพศหญิง
ปกติในร่างกายคนเรา ไม่ว่าทั้งหญิงและชาย มีทั้งฮอร์โมนเพศหญิง และฮอร์โมนเพศชายในคนคนเดียว แต่สัดส่วนมากน้อยต่างกัน โดยผู้ชายมี ฮอร์โมนเพศชาย (Androgen ; Testosterone ) มากกว่า ฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen, Progesterone) ในร่างกายผู้ชาย Testosterone ส่วนใหญ่สร้างจากลูกอัณฑะ ส่วนน้อยจากต่อมหมวกไตด้านนอก (Adrenal Cortex) ส่วน Estrogen ในผู้ชายจะผลิตน้อยมาก มีแหล่งผลิตจากอัณฑะ ต่อมหมวกไต และเซลล์ไขมันในร่างกาย (Adipocytes) และ Progesterone ในผู้ชาย ผลิตน้อยเช่นกันจากอัณฑะและต่อมหมวกไต
ผู้หญิง มีฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมน Estrogen และ Progesterone ส่วนมากผลิตจากรังไข่ ส่วนน้อยจากต่อมหมวกไต ส่วน Testosterone ในผู้หญิง ผลิตน้อยมาก ที่ต่อมหมวกไต
ตามที่กล่าวมา หลักการของ MTF ที่จะทำให้สาวประเภทสองหรือหญิงข้ามเพศมีความเป็นหญิงมากขึ้นก็คือ เสริมฮอร์โมนเพศหญิง และลดฮอร์โมนเพศชายลง การปรับเพิ่มลดฮอร์โมนควรทำตามหลักการแพทย์ มีแพทย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ และตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนเพศโดยความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากแต่ในอดีตถึงปัจจุบันหญิงข้ามเพศหลายคนยังใช้ฮอร์โมนอย่างไม่ถูกวิธี ได้รับความรู้จากการถ่ายทอดจากหญิงข้ามเพศรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนฝูง ที่เป็นแบบพูดปากต่อปาก ซึ่งไม่ได้มีงานวิจัยหรือองค์ความรู้ที่เป็นหลักการทางคลินิกมารองรับ ทำให้เกิดผลข้างเคียงและผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) จึงได้สนับสนุนให้เกิดคลินิกแทนเจอรีน (Tangerine) ที่เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะตอบสนองความต้องการของหญิงข้ามเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือและปลอดภัย มีบริการให้คำปรึกษา และตรวจวัดระดับฮอร์โมน บริการยาเพร็พ (PrEP) รวมทั้ง ตรวจเอชไอวี ซิฟิลิส และคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
คลินิกเทคนิกการแพทย์แคร์แมท เป็นอีกที่หนึ่งที่ร่วมมือกับสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และคลินิกแทนเจอรีน แคร์แมทให้บริการตรวจวัดระดับฮอร์โมนหญิงข้ามเพศ และมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมน พร้อมกับคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส และบริการยา PrEP
รายละเอียดเพิ่มเติม คลินิกแทนเจอรีน https://ihri.org/th/tangerine/
หลักการใช้ฮอร์โมนในการข้ามเพศ
การเปลี่ยนสภาพร่างกายให้เข้าสู่ความเป็นผู้หญิง จำเป็นต้องอาศัย ฮอร์โมนเพศ ที่ร่างกายรับจากภายนอก จากรูปแบบยาเตรียมที่หลากหลายได้แก่ ยาเม็ด ยาทา แผ่นแปะผิวหนัง สเปรย์ และยาฉีด บางตำรับไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากผลข้างเคียงของส่วนประกอบหลักทำให้เกิดภาวะผิดปกติของร่างกาย ฮอร์โมนที่สำคัญได้แก่
1. Estrogen
การเสริม Estrogen เข้าร่างกาย ควรคำนึงถึงผลข้างเคียง ในระยะสั้นอาจยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่ระยะยาว อาจเกิดภาวะผิดปกติแก่ร่างกาย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดดำอุดตัน/ลิ่มเลือดที่ปอด มะเร็งเต้านม ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) สูงรุนแรง (ควรระวังการใช้เอสโตรเจนชนิดรับประทาน) และการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ Estrogen ที่เสริมเข้าสู่ร่างกาย แบ่งประเภทตามรูปแบบทางเคมีได้แก่ 17-β estradiol , Ethinyl Estradiol, Estradiol valerate, Conjugated Estrogen ตัวที่คลินิกแทนเจอรีนแนะนำให้ใช้ มีดังนี้
รูปแบบยาเม็ด
แนะนำ | ไม่แนะนำ |
17β-estradiol hemihydrate (Estrofem) 2-6 มิลลิกรัม/วัน เพราะ 17β-estradiol เป็นชนิดเดียวกับ estradiol ที่สร้างขึ้นในร่างกาย (Bioidentical) จึงมีความเข้ากับร่างกายได้สูง เกิดผลข้างเคียงน้อยมาก | Ethinyl Estradiol ซึ่งเป็นส่วนประกอบใน “ยาคุมกำเนิด”หลายยี่ห้อ เช่น Diane-35, Preme, Sucee, Anna, Yasmin, Melodia, , Mercilon, Marvelon เพราะ Ethinyl Estradiol มีผลข้างเคียงต่อหลอดเลือดดําทำให้อุดตัน และ โรคหลอดเลือดหัวใจ ผลข้างเคียงจะมากขึ้น ถ้าใช้ขนาดสูง และนาน |
Estradiol valerate (Progynova) 2-6 มิลลิกรัม/วัน เพราะ Estradiol valerate เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Estradiol ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ร่างกายสร้าง | Conjugated Estrogens (Premarin, Estromon) เพราะตรวจหาปริมาณในกระแสเลือดได้ยากมาก |
รูปแบบการให้ยาทางผิวหนัง ( Transdermal delivery system )
นอกจากการรับประทานแล้ว ยาฮอร์โมนสามารถทำในรูปแบบแผ่นแปะผัวหนัง หรือเจลทา ยาสามารถซึมเข้าผิวหนังและเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อออกฤทธิ์ได้โดยตรง โดยไม่ผ่านกระบวนการทำลายยาที่ตับก่อนออกฤทธิ์ ( First pass metabolism) ในขณะที่ Estrogen ในรูปแบบยาเม็ด เมื่อเข้าสู่กระเพาะอาหารแล้ว จะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับ ถูกเอนไซม์ในตับทำลายหรือเปลี่ยนสภาพ (metabolized) ยาจนเหลือปริมาณที่ออกฤทธิ์น้อยลงมาก ดังนั้นในตำรับยาเม็ดจึงมักใช้ปริมาณยาเตรียมที่สูงเพื่อให้เหลือปริมาณที่ออกฤทธิ์ได้ในอวัยวะเป้าหมาย ส่วนยาฮอร์โมนที่ส่งผ่านทางผิวหนังจะใช้ปริมาณยาเตรียมที่ต่ำกว่ายาเม็ดเพราะไม่ถูกทำลายที่ตับก่อนออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมายนั่นเอง อีกทั้งยังคงระดับยาในกระแสเลือดอย่างคงที่มากกว่ายาเม็ด ในที่นี้ขอนำเสนอการให้ยาทางผิวหนังในรูปแบบแผ่นแปะผิวหนัง และเจลทาผิวหนัง
แบบแผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patches) แนะนำใช้ในผู้ที่ อายุ > 40ปี, สูบบุหรี่, ผู้ที่ตับมีปัญหา โดสที่แนะนำคือ 25 -200 ไมโครกรัม/วัน (ครึ่งแผ่น – 4 แผ่น) เปลี่ยนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หนึ่งแผ่นแปะ จะได้ตัวยา Estradiol 50 ไมโครกรัม/วัน แปะบริเวณผิวหนังที่อ่อนและไม่มีขน เช่น ท้องแขน ต้นแขน ต้นขา ท้อง หลัง แปะทิ้งไว้แม้ในขณะอาบน้ำได้
แบบเจลทา ใช้ 2.5 – 10 กรัม/วัน ทาวันละครั้ง (1-4 ไม้ตวง) หนึ่งไม้ตวง จะได้ตัวยาเอสตราดิออล 1.5 มิลลิกรัม ทาผิวหนังบริเวณที่สะอาด ผิวอ่อนและไม่มีขน เช่น แขน ต้นแขน ท้องแขน แก้มก้นด้านบน ท้องน้อย หลังเอว ต้นขา หลีกเลี่ยงบริเวณเต้านม หรือผิวที่มีเยื่อเมือก ไม่จำเป็นต้องนวดคลึงบริเวณที่ทายาเพราะยาไม่เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า
อย่างไรก็ตาม ยาสูตรที่มี Estradiol ทั้งหลาย อาจมีผลข้างเคียง ควรหลีกเลี่ยง ใช้ปริมาณน้อย หรือหยุดสำหรับ
– ผู้มีความผิดปกติเช่น เป็นมะเร็งหรือเคยเป็นมะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน (เช่นมะเร็งเต้านม)
– ผู้มีประวัติหรือกำลังมีภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (Thrombosis) โดยเฉพาะที่ขา
– ผู้มีประวัติหรือกำลังเกิดภาวะลิ่มเลือดผิดปกติ โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ โรคตับ
– ผู้ที่แพ้หรือไวต่อเอสโตรเจนจากภายนอกร่างกาย
รูปแบบยาฉีด
ยาฉีดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการฉีดเข้ากระแสเลือดโดยตรง ซึ่งไม่ผ่าน First pass metabolism เช่นเดียวกับยาที่ให้ทางผิวหนังอื่นๆ และเห็นผลค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ตามอาจเกิดอันตรายได้ในรายที่แพ้ยาฉีด ถึงขั้นช็อคหมดสติ เกิดผื่น หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ฉีด
หญิงข้ามเพศนิยมฉีดยาเป็นชุดคู่กัน หลอดหนึ่งเป็น Estradiol valerate หรือ Estradiol benzoate ร่วมกับหลอดที่เป็น Progesterone การใช้ยาฉีดที่มี Progesterone ร่วมกับ Estradiol จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือดดำ หลอดเลือดหัวใจและสมองเพิ่มขึ้น รวมถึงไขมันในเลือดสูงมากกว่า เมื่อเทียบกับการฉีด Estradiol เดี่ยวๆ อนึ่งการใช้ Estradiol เดี่ยวอย่างปลอดภัย ควรคำนึงถึงปริมาณยาที่ฉีดเข้าไปแต่ละครั้ง ร่างกายได้รับมากกว่าแบบยาเม็ดหรือยาทา ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อระบบหลอดเลือด ไขมัน และภาวะซึมเศร้า ในระยะยาวได้เช่นกัน โดยเฉพาะในหญิงข้ามเพศที่หาซื้อยามาฉีดเองอย่างบ่อยครั้งเกิดความจำเป็น โดยขาดความรู้และไม่ได้อยู่ในวิจารณญาณของแพทย์ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับหญิงข้ามเพศ คลินิกแทนเจอรีน ยังไม่แนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนชนิดฉีดแก่หญิงข้ามเพศ
ตัวอย่างสูตรการฉีดยาฮอร์โมนในหญิงข้ามเพศ (ทุกตัว ไม่แนะนำให้ฉีด)
ชื่อการค้า | ส่วนประกอบ | รายละเอียด |
Progynon | Estradiol valerate 10 mg | เป็นฮอร์โมนตัวเดียวกับ Progynova ซึ่งเป็นยาเม็ด แต่ไม่แนะนำให้ฉีด เพราะยังไม่ผ่าน อย. ในไทย และปริมาณที่ได้รับสูงกว่าการกิน ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว |
Proluton | Hydroxyprogesterone caproate (เป็น Progesterone ชนิดหนึ่ง) 250 mg | ใช้ป้องกันการแท้งบุตรและปรับสมดุลประจำเดือน หญิงข้ามเพศนิยมฉีดเพราะเชื่อว่าทำให้มีต้านมดูเป็นธรรมชาติ นิยมฉีดคู่กับ progynon หากใช้ในหญิงข้ามเพศ อาจเกิดผลต่อสุขภาพ หลอดเลือด หัวใจ อารมณ์ จึงไม่แนะนำให้ใช้ |
Oestradiol Benzoate | Estradiol benzoate 5 mg | มีคุณสมบัติเหมือน Estradiol valerate แต่ออกฤทธิ์ในร่างกายสั้นกว่า (รูปเกลือ Benzoate 4-8 วัน, valerate 7-8 วัน) มีการคงระดับในร่างกายไม่มากเท่ารูป valerate จึงต้องฉีดซ้ำบ่อยกว่า |
Phenokinon “F” | Estradiol benzoate 5 mg ผสมกับ Progesterone 50 mg | มีส่วนผสมกับ Progesterone ในหลอดเดียว จึงไม่แนะนำให้เป็นทางเลือกในการข้ามเพศ |
Duotone Fort T.P. | Estradiol benzoate 3 mg ผสมกับ Progesterone 50 mg | Estradiol benzoate ปริมาณต่ำ แต่มีส่วนผสมของ Progesterone จึงไม่แนะนำ |
2. Progesterone
• บางคนเชื่อว่าทำให้เต้านมมีการพัฒนาคล้ายธรรมชาติ
• บางการวิจัย พบว่าผลต่อเต้านม ยังไม่ชัดเจน
• การใช้โปรเจสเตอโรนในหญิงวัยทอง พบมะเร็งเต้านมสูงขึ้นโดยเฉพาะ การใช้ร่วมกับเอสโตรเจน
• หลาย guideline ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะอาจทำให้เกิดหลอดเลือดดำอุดตัน เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองเพิ่มขึ้น มีภาวะซึมเศร้า มีน้ำหนักเพิ่ม และไขมันในเลือดสูง
3. Anti Androgen hormones
คำว่า Androgen ใช้เรียกโดยรวมว่า เป็นฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งทำให้ร่างกายมีลักษณะความเป็นชาย ส่วน Testosterone เป็นหนึ่งในฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งส่วนใหญ่ในร่างกาย กลไกสำคัญในการข้ามเพศของสาวประเภทสองคือ การเพิ่มฮอร์โมนหญิง และลดฮอร์โมนชาย โดยปกติแล้ว เมื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงเพียงอย่างเดียว ในระยะยาว ร่างกายจะมีกลไกกดการสร้างฮอร์โมนเพศชายให้ลดลงเอง หญิงข้ามเพศที่มีรูปร่าง หรือผิวละเอียด มีขนน้อย อาจเพียงแค่เสริมฮอร์โมนเพศหญิง และไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายก็ได้ แต่บางรายที่ร่างกายมีความเป็นผู้ชายมาก หรือบางรายที่ไม่พึงพอใจในรูปร่าง ก็สามารถใช้ยาต้านฮอร์โมนในระยะหนึ่งจนพอใจ ทั้งนี้ต้องให้แพทย์คอยติดตาม การใช้ยาควรคำนึงถึง วัย และภาวะโรคภัยด้วย
ตัวอย่างของ Anti Androgen hormones ในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน
ชื่อการค้า | ตัวยาสำคัญ | รายละเอียด |
Androcur | Cyproterone acetate 50 mgขนาดแนะนำ 25-50 mg/วัน | เป็นยารักษามะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนชาย เช่นมะเร็งต่อม ต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากโต ผลทำให้ร่างกายมีความเป็นชายน้อยลง จึงนิยมนำมาใช้สำหรับข้ามเพศ ใช้บ่อยในยุโรปและในวงการสาวประเภทสองในไทย แต่ไม่แนะนำให้ใช้ระยะยาวเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ (UK guideline 2016) ส่วนในอเมริกา ไม่ใช้เพราะกังวัลผลข้างเคียงต่อตับ |
Aldactone | Spironolactone 100 mg ขนาดแนะนำ 100-300 mg/วัน | เป็นยาขับปัสสาวะ ที่ใช้รักษาโรคที่ร่างกายเสียสมดุลน้ำและเกลือแร่เช่นโซเดียมและโพแทสเซียม ทำให้เกิดการบวมน้ำ จึงต้องขับน้ำออก นอกจากนี้ยังใช้รักษา โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ โพแทสเซียมต่ำ อาการบวมจากหลายสาเหตุ เช่น หัวใจวาย โรคไต และตับแข็ง ยานี้ยังออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายได้ แต่หากใช้ในระยะยาวอาจทำให้ โพแทสเซียมในเลือดสูงได้ (Hyperkalemia) |
Proscar ,Propecia | Finasteride 5 mg ขนาดแนะนำ 2.5-5 mg/วัน | เป็นยารักษาผมร่วม ปลูกผม และภาวะต่อมลูกหมากโต ซึ่งมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายได้ อย่างไรก็ตามยังมีการศึกษาไม่มากนักถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ข้ามเพศ |
สรุปการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศสำหรับหญิงข้ามเพศ
– ไม่แนะนำ ยาคุมกำเนิด, พรีมาริน, ยาเอสตราดิออลแบบฉีด
– ไม่แนะนำทุกรูปแบบ
– ควรใช้เอสตราดิออลควบคู่ไปกับยาต้านฮอร์โมนเพศชาย
– หญิงข้ามเพศที่ผ่าตัดอัณฑะออกแล้วหรือผ่าตัดแปลงเพศแล้ว แนะนำหยุดใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย ใช้เอสตราดิออลเพียงตัวเดียว เป็นฮอร์โมนทดแทน
อ้างอิง