ปัจจุบันได้มีการพัฒนารักษาไวรัส รวมทั้งมีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตยาวขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อ HIV ควรจะปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อวางแผนการรักษา ซึ่งเชื้อ HIV จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันโดยเริ่มทำลายเซลล์ CD4 เมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็จะเกิดการติดเชื้อ และการรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัสนั้นก็เป็นเพียงการหยุดหรือทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวลดลงจนไม่อาจลุกลามกลายเป็นโรคเอดส์
ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้ป่วยเพื่อวางแผนในการรักษา
เลือกแพทย์และโรงพยาบาลที่รักษา
ปัจจัยข้อหนึ่งที่ทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จคือแพทย์ผู้รักษาและโรงพยาบาล ทีมงานทางการแพทย์ตะต้องมีคุณภาพ และต้องเข้าใจปัญหาที่ผู้ป่วยกำลังประสบอยู่ทุกวัน อีกทั้งยังต้องวางแผนการรักษา ให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ และป้องกันผู้อื่นไม่ให้ได้รับเชื้อจากตัวผู้ป่วย
ผู้ที่ติดเชื้อมักจะมีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาทางด้านจิตใจ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถปรึกษากับทีมงานที่รักษาได้ ที่สำคัญคือต้องไว้ใจซึ่งกันและกัน
เข้าใจหลักการรักษา
เชื้อ HIV จะไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งเชื้อนั้นจะถูกสร้างโดย CD4 Cell เมื่อเชื้อมีปริมาณมากเซลล์ CD4 Cell ก็จะต่ำ จึงควรเริ่มการรักษาก่อนที่ภูมิคุ้มกันจะถูกทำลาย
และนอกจากดูจำนวน CD4 Cell แล้วก็ยังต้องดู viral load หรือปริมาณเชื้อที่อยูในกระแสเลือดด้วย หากพบ viral load มาก เชื้อในร่างกายก็จะมาก อวัยวะก็จะถูกทำลายมากและเร็ว ที่สำคัญคืออาจเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาคือจะต้องทำให้ปริมาณเชื้อ (viral load) ในร่างกายมีน้อยที่สุด
การรักษาจะใช้ยาร่วมกันหลายชนิดเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา โปรดจำไว้ว่าหากเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาอย่าหยุดยาชนิดใดชนิดหนึ่งโดยลำพัง ให้ปรึกษาแพทย์เสมอ เพราะอาจจะทำให้เชื้อดื้อยา
การเลือกใช้ยารักษา
การจะเลือกใช้ยารักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
- ปริมาณเซลล์ CD4 และปริมาณเชื้อ HIV ( viral load )
- ประวัติการรักษาโรคติดเชื้อ HIV
- ปริมาณยาที่ใช้และราคายา
- ผลข้างเคียงของยา
- การออกฤทธิ์ต้านกันของยาที่ใช้ร่วมกัน
เมื่อไรถึงจะเริ่มรักษา
ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นเหมือนกันว่าจะเริ่มรักษาโรคต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคเอดส์ นั่นคือเซลล์ CD4 ลดลง และมีปริมาณเชื้อมาก (viral load) การรักษาผู้ป่วยจะแยกเป็นกรณีที่แตกต่างกันไป ดังเช่น
กรณีการรักษาผู้ป่วยหลังสัมผัสโรคติดเชื้อ HIV ( Post-Exposure Prophylaxis ) ควรทำภายใน 72 ชั่วโมง เช่น การที่เจ้าหน้าที่ถูกเข็มตำขณะทำงานโดยที่เข็มนั้นเปื้อนเลือดผู้ป่วย HIV… หลังสัมผัสเชื้อทันทีจะไม่สามารถใช้วิธีการเจาะเลือดหา viral load หรือ antigen หรือ antibody ได้ เพราะจะยังหาไม่พบ
การให้ยาแก่คนที่สัมผัสโรคจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ แต่ในกรณีของผู้ที่ร่วมเพศกับผู้ที่ไม่ทราบว่าติดเชื้อ HIV หรือไม่ ยังไม่มีรายงานว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากแค่ไหน ดังนั้นผู้ที่สัมผัสโรคต้องปรึกษากับแพทย์ก่อนว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการใช้ยา หากต้องใช้จะเป็นเวลานานแค่ไหน และผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง
กรณี Primary Infection หมายถึง ภาวะตั้งแต่เริ่มได้รับเชื้อจนกระทั่งภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HIV เพิ่มขึ้นจนสามารถตรวจพบได้ ช่วงระยะนี้มีเวลาประมาณ 12-20 สัปดาห์ หากพบผู้ป่วยในระยะนี้ต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าให้รับประทานตลอดชีวิต แต่บางท่านแนะนำให้รับประทานยา 24 เดือนแล้วลองหยุดยา
กรณี ผู้ที่ติดเชื้อ HIV โดยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Patients with Established Infection ) การรักษาผู้ที่ติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ เป็นต้น
การรักษา
ก่อนการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อในหลายแง่มุม รวมทั้งการระยะและอาการของโรค การดื้อยา ผลข้างเคียงของยา ราคายา การติดเชื้อฉวยโอกาส และเมื่อตัดสินใจรักษาแล้ว แพทย์จะจ่ายยาที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อป้องกันการดื้อยา ผู้ป่วยต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษา เพราะการขาดยาแม้เพียงมื้อใดมื้อหนึ่ง ก็จะทำให้ระดับยาในเลือดลดลง ซึ่งทำให้เชื้อดื้อยาได้ ผู้ป่วยต้องปรึกษากับแพทย์ถึงราคายาเนื่องจากขณะนี้ราคายังแพงอยู่
เป้าหมายในการรักษา
เชื้อ HIV เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV จะทำให้เชื้อหยุดหรือชะลอการดำเนินของโรคเอดส์ โดยมีเป้าหมายในการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ดังนี้
- เพื่อยืดอายุและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในระยะยาว
- หยุดการแบ่งตัวของไวรัสให้เหลือน้อยที่สุด(น้อยกว่า 50) และนานที่สุด
- สามารถใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพให้นานที่สุด
- ลดผลข้างเคียงของยา
ข้อสำคัญคือผู้ที่ติดเชื้อ HIV สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในระยะยาวโดยที่ไม่เกิดอาการ ทั้งที่ยังไม่ได้รักษา ดังนั้นผู้ป่วยบางรายยังไม่จำเป็นต้องรีบรักษาก็ได้ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์
การติดตามการรักษา
หลังการรักษาด้วยยาต้านไวรัส HIV เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นแพทย์อาจจะนัดตรวจทุก 3-6 เดือน เพื่อประเมินสิ่งต่อไปนี้
- ดูประสิทธิผลของยา หากได้ผลดี CD4-T และ viral load ควรจะอยู่ในเกณฑ์ดี
- ผลข้างเคียงของยา และปัญหาเกี่ยวกับผู้ป่วย
- ดูการดำเนินของโรคว่าเชื้อกลายไปเป็นโรคเอดส์หรือยัง
- ดูว่ามีโรคฉวยโอกาสเกิดขึ้นหรือยัง
- ดูแลสุขภาพทั่วไป
แหล่งข้อมูล: www.siamhealth.net