ฮอร์โมนสำหรับหญิงข้ามเพศ ( Hormones for Transgender women)
คำว่า หญิงข้ามเพศ ( Transgender women) เริ่มเป็นที่คุ้นหูของคนไทยโดยทั่วไปมากขึ้น นอกจากคำเรียกแบบเดิม เช่น สาวประเภทสอง สาวสอง กะเทย ทั้งนี้คำว่าหญิงข้ามเพศ ในความหมายทางสังคมวิทยาเป็นคำเรียกผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นผู้ชายแต่ต้องการเปลี่ยนเพศสภาพของตนให้เป็นเพศตรงข้าม ซึ่งก็คือเพศหญิง (MTF หรือ Male to female transformation) โดยที่บุคคลนั้นจะยังไม่แปลง หรือแปลงเพศไปแล้วก็ได้ คนที่ยังไม่แปลงเพศก็ยังถืออัตลักษณ์และเพศสภาพของตนให้ดูเหมือนผู้หญิงโดยถือว่ายังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ การเปลี่ยนจากชายเป็นหญิงของกลุ่มสาวประเภทสองหรือหญิงข้ามเพศมักอาศัย ฮอร์โมน เป็นตัวช่วย ซึ่งมีความจำเป็นมากที่จะเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพให้เข้าใกล้ความเป็นหญิงมากที่สุด ฮอร์โมน ในที่นี้คือ ฮอร์โมนเพศหญิง
ปกติในร่างกายคนเรา ไม่ว่าทั้งหญิงและชาย มีทั้งฮอร์โมนเพศหญิง และฮอร์โมนเพศชายในคนคนเดียว แต่สัดส่วนมากน้อยต่างกัน โดยผู้ชายมี ฮอร์โมนเพศชาย (Androgen ; Testosterone ) มากกว่า ฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen, Progesterone) ในร่างกายผู้ชาย Testosterone ส่วนใหญ่สร้างจากลูกอัณฑะ ส่วนน้อยจากต่อมหมวกไตด้านนอก (Adrenal Cortex) ส่วน Estrogen ในผู้ชายจะผลิตน้อยมาก มีแหล่งผลิตจากอัณฑะ ต่อมหมวกไต และเซลล์ไขมันในร่างกาย (Adipocytes) และ Progesterone ในผู้ชาย ผลิตน้อยเช่นกันจากอัณฑะและต่อมหมวกไต
ผู้หญิง มีฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมน Estrogen และ Progesterone ส่วนมากผลิตจากรังไข่ ส่วนน้อยจากต่อมหมวกไต ส่วน Testosterone ในผู้หญิง ผลิตน้อยมาก ที่ต่อมหมวกไต
ตามที่กล่าวมา หลักการของ MTF ที่จะทำให้สาวประเภทสองหรือหญิงข้ามเพศมีความเป็นหญิงมากขึ้นก็คือ เสริมฮอร์โมนเพศหญิง และลดฮอร์โมนเพศชายลง การปรับเพิ่มลดฮอร์โมนควรทำตามหลักการแพทย์ มีแพทย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ และตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนเพศโดยความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากแต่ในอดีตถึงปัจจุบันหญิงข้ามเพศหลายคนยังใช้ฮอร์โมนอย่างไม่ถูกวิธี ได้รับความรู้จากการถ่ายทอดจากหญิงข้ามเพศรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนฝูง ที่เป็นแบบพูดปากต่อปาก ซึ่งไม่ได้มีงานวิจัยหรือองค์ความรู้ที่เป็นหลักการทางคลินิกมารองรับ ทำให้เกิดผลข้างเคียงและผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) จึงได้สนับสนุนให้เกิดคลินิกแทนเจอรีน (Tangerine) ที่เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะตอบสนองความต้องการของหญิงข้ามเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือและปลอดภัย มีบริการให้คำปรึกษา และตรวจวัดระดับฮอร์โมน บริการยาเพร็พ (PrEP) รวมทั้ง ตรวจเอชไอวี ซิฟิลิส และคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
คลินิกเทคนิกการแพทย์แคร์แมท เป็นอีกที่หนึ่งที่ร่วมมือกับสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และคลินิกแทนเจอรีน แคร์แมทให้บริการตรวจวัดระดับฮอร์โมนหญิงข้ามเพศ และมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมน พร้อมกับคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส และบริการยา PrEP
รายละเอียดเพิ่มเติม คลินิกแทนเจอรีน https://ihri.org/th/tangerine/
หลักการใช้ฮอร์โมนในการข้ามเพศ
การเปลี่ยนสภาพร่างกายให้เข้าสู่ความเป็นผู้หญิง จำเป็นต้องอาศัย ฮอร์โมนเพศ ที่ร่างกายรับจากภายนอก จากรูปแบบยาเตรียมที่หลากหลายได้แก่ ยาเม็ด ยาทา แผ่นแปะผิวหนัง สเปรย์ และยาฉีด บางตำรับไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากผลข้างเคียงของส่วนประกอบหลักทำให้เกิดภาวะผิดปกติของร่างกาย ฮอร์โมนที่สำคัญได้แก่
- เอสโตรเจน (Estrogen)
- โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
- กลุ่มต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-Androgen hormones)
1. Estrogen
การเสริม Estrogen เข้าร่างกาย ควรคำนึงถึงผลข้างเคียง ในระยะสั้นอาจยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่ระยะยาว อาจเกิดภาวะผิดปกติแก่ร่างกาย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดดำอุดตัน/ลิ่มเลือดที่ปอด มะเร็งเต้านม ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) สูงรุนแรง (ควรระวังการใช้เอสโตรเจนชนิดรับประทาน) และการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ Estrogen ที่เสริมเข้าสู่ร่างกาย แบ่งประเภทตามรูปแบบทางเคมีได้แก่ 17-β estradiol , Ethinyl Estradiol, Estradiol valerate, Conjugated Estrogen ตัวที่คลินิกแทนเจอรีนแนะนำให้ใช้ มีดังนี้
รูปแบบยาเม็ด
แนะนำ | ไม่แนะนำ |
17β-estradiol hemihydrate (Estrofem) 2-6 มิลลิกรัม/วัน เพราะ 17β-estradiol เป็นชนิดเดียวกับ estradiol ที่สร้างขึ้นในร่างกาย (Bioidentical) จึงมีความเข้ากับร่างกายได้สูง เกิดผลข้างเคียงน้อยมาก | Ethinyl Estradiol ซึ่งเป็นส่วนประกอบใน “ยาคุมกำเนิด”หลายยี่ห้อ เช่น Diane-35, Preme, Sucee, Anna, Yasmin, Melodia, , Mercilon, Marvelon เพราะ Ethinyl Estradiol มีผลข้างเคียงต่อหลอดเลือดดําทำให้อุดตัน และ โรคหลอดเลือดหัวใจ ผลข้างเคียงจะมากขึ้น ถ้าใช้ขนาดสูง และนาน |
Estradiol valerate (Progynova) 2-6 มิลลิกรัม/วัน เพราะ Estradiol valerate เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Estradiol ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ร่างกายสร้าง | Conjugated Estrogens (Premarin, Estromon) เพราะตรวจหาปริมาณในกระแสเลือดได้ยากมาก |
รูปแบบการให้ยาทางผิวหนัง ( Transdermal delivery system )
นอกจากการรับประทานแล้ว ยาฮอร์โมนสามารถทำในรูปแบบแผ่นแปะผัวหนัง หรือเจลทา ยาสามารถซึมเข้าผิวหนังและเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อออกฤทธิ์ได้โดยตรง โดยไม่ผ่านกระบวนการทำลายยาที่ตับก่อนออกฤทธิ์ ( First pass metabolism) ในขณะที่ Estrogen ในรูปแบบยาเม็ด เมื่อเข้าสู่กระเพาะอาหารแล้ว จะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับ ถูกเอนไซม์ในตับทำลายหรือเปลี่ยนสภาพ (metabolized) ยาจนเหลือปริมาณที่ออกฤทธิ์น้อยลงมาก ดังนั้นในตำรับยาเม็ดจึงมักใช้ปริมาณยาเตรียมที่สูงเพื่อให้เหลือปริมาณที่ออกฤทธิ์ได้ในอวัยวะเป้าหมาย ส่วนยาฮอร์โมนที่ส่งผ่านทางผิวหนังจะใช้ปริมาณยาเตรียมที่ต่ำกว่ายาเม็ดเพราะไม่ถูกทำลายที่ตับก่อนออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมายนั่นเอง อีกทั้งยังคงระดับยาในกระแสเลือดอย่างคงที่มากกว่ายาเม็ด ในที่นี้ขอนำเสนอการให้ยาทางผิวหนังในรูปแบบแผ่นแปะผิวหนัง และเจลทาผิวหนัง
แบบแผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patches) แนะนำใช้ในผู้ที่ อายุ > 40ปี, สูบบุหรี่, ผู้ที่ตับมีปัญหา โดสที่แนะนำคือ 25 -200 ไมโครกรัม/วัน (ครึ่งแผ่น – 4 แผ่น) เปลี่ยนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หนึ่งแผ่นแปะ จะได้ตัวยา Estradiol 50 ไมโครกรัม/วัน แปะบริเวณผิวหนังที่อ่อนและไม่มีขน เช่น ท้องแขน ต้นแขน ต้นขา ท้อง หลัง แปะทิ้งไว้แม้ในขณะอาบน้ำได้
แบบเจลทา ใช้ 2.5 – 10 กรัม/วัน ทาวันละครั้ง (1-4 ไม้ตวง) หนึ่งไม้ตวง จะได้ตัวยาเอสตราดิออล 1.5 มิลลิกรัม ทาผิวหนังบริเวณที่สะอาด ผิวอ่อนและไม่มีขน เช่น แขน ต้นแขน ท้องแขน แก้มก้นด้านบน ท้องน้อย หลังเอว ต้นขา หลีกเลี่ยงบริเวณเต้านม หรือผิวที่มีเยื่อเมือก ไม่จำเป็นต้องนวดคลึงบริเวณที่ทายาเพราะยาไม่เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า
อย่างไรก็ตาม ยาสูตรที่มี Estradiol ทั้งหลาย อาจมีผลข้างเคียง ควรหลีกเลี่ยง ใช้ปริมาณน้อย หรือหยุดสำหรับ
– ผู้มีความผิดปกติเช่น เป็นมะเร็งหรือเคยเป็นมะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน (เช่นมะเร็งเต้านม)
– ผู้มีประวัติหรือกำลังมีภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (Thrombosis) โดยเฉพาะที่ขา
– ผู้มีประวัติหรือกำลังเกิดภาวะลิ่มเลือดผิดปกติ โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ โรคตับ
– ผู้ที่แพ้หรือไวต่อเอสโตรเจนจากภายนอกร่างกาย
รูปแบบยาฉีด
ยาฉีดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการฉีดเข้ากระแสเลือดโดยตรง ซึ่งไม่ผ่าน First pass metabolism เช่นเดียวกับยาที่ให้ทางผิวหนังอื่นๆ และเห็นผลค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ตามอาจเกิดอันตรายได้ในรายที่แพ้ยาฉีด ถึงขั้นช็อคหมดสติ เกิดผื่น หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ฉีด
หญิงข้ามเพศนิยมฉีดยาเป็นชุดคู่กัน หลอดหนึ่งเป็น Estradiol valerate หรือ Estradiol benzoate ร่วมกับหลอดที่เป็น Progesterone การใช้ยาฉีดที่มี Progesterone ร่วมกับ Estradiol จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือดดำ หลอดเลือดหัวใจและสมองเพิ่มขึ้น รวมถึงไขมันในเลือดสูงมากกว่า เมื่อเทียบกับการฉีด Estradiol เดี่ยวๆ อนึ่งการใช้ Estradiol เดี่ยวอย่างปลอดภัย ควรคำนึงถึงปริมาณยาที่ฉีดเข้าไปแต่ละครั้ง ร่างกายได้รับมากกว่าแบบยาเม็ดหรือยาทา ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อระบบหลอดเลือด ไขมัน และภาวะซึมเศร้า ในระยะยาวได้เช่นกัน โดยเฉพาะในหญิงข้ามเพศที่หาซื้อยามาฉีดเองอย่างบ่อยครั้งเกิดความจำเป็น โดยขาดความรู้และไม่ได้อยู่ในวิจารณญาณของแพทย์ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับหญิงข้ามเพศ คลินิกแทนเจอรีน ยังไม่แนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนชนิดฉีดแก่หญิงข้ามเพศ
ตัวอย่างสูตรการฉีดยาฮอร์โมนในหญิงข้ามเพศ (ทุกตัว ไม่แนะนำให้ฉีด)
ชื่อการค้า | ส่วนประกอบ | รายละเอียด |
Progynon | Estradiol valerate 10 mg | เป็นฮอร์โมนตัวเดียวกับ Progynova ซึ่งเป็นยาเม็ด แต่ไม่แนะนำให้ฉีด เพราะยังไม่ผ่าน อย. ในไทย และปริมาณที่ได้รับสูงกว่าการกิน ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว |
Proluton | Hydroxyprogesterone caproate (เป็น Progesterone ชนิดหนึ่ง) 250 mg | ใช้ป้องกันการแท้งบุตรและปรับสมดุลประจำเดือน หญิงข้ามเพศนิยมฉีดเพราะเชื่อว่าทำให้มีต้านมดูเป็นธรรมชาติ นิยมฉีดคู่กับ progynon หากใช้ในหญิงข้ามเพศ อาจเกิดผลต่อสุขภาพ หลอดเลือด หัวใจ อารมณ์ จึงไม่แนะนำให้ใช้ |
Oestradiol Benzoate | Estradiol benzoate 5 mg | มีคุณสมบัติเหมือน Estradiol valerate แต่ออกฤทธิ์ในร่างกายสั้นกว่า (รูปเกลือ Benzoate 4-8 วัน, valerate 7-8 วัน) มีการคงระดับในร่างกายไม่มากเท่ารูป valerate จึงต้องฉีดซ้ำบ่อยกว่า |
Phenokinon “F” | Estradiol benzoate 5 mg ผสมกับ Progesterone 50 mg | มีส่วนผสมกับ Progesterone ในหลอดเดียว จึงไม่แนะนำให้เป็นทางเลือกในการข้ามเพศ |
Duotone Fort T.P. | Estradiol benzoate 3 mg ผสมกับ Progesterone 50 mg | Estradiol benzoate ปริมาณต่ำ แต่มีส่วนผสมของ Progesterone จึงไม่แนะนำ |
2. Progesterone
• บางคนเชื่อว่าทำให้เต้านมมีการพัฒนาคล้ายธรรมชาติ
• บางการวิจัย พบว่าผลต่อเต้านม ยังไม่ชัดเจน
• การใช้โปรเจสเตอโรนในหญิงวัยทอง พบมะเร็งเต้านมสูงขึ้นโดยเฉพาะ การใช้ร่วมกับเอสโตรเจน
• หลาย guideline ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะอาจทำให้เกิดหลอดเลือดดำอุดตัน เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองเพิ่มขึ้น มีภาวะซึมเศร้า มีน้ำหนักเพิ่ม และไขมันในเลือดสูง
3. Anti Androgen hormones
คำว่า Androgen ใช้เรียกโดยรวมว่า เป็นฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งทำให้ร่างกายมีลักษณะความเป็นชาย ส่วน Testosterone เป็นหนึ่งในฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งส่วนใหญ่ในร่างกาย กลไกสำคัญในการข้ามเพศของสาวประเภทสองคือ การเพิ่มฮอร์โมนหญิง และลดฮอร์โมนชาย โดยปกติแล้ว เมื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงเพียงอย่างเดียว ในระยะยาว ร่างกายจะมีกลไกกดการสร้างฮอร์โมนเพศชายให้ลดลงเอง หญิงข้ามเพศที่มีรูปร่าง หรือผิวละเอียด มีขนน้อย อาจเพียงแค่เสริมฮอร์โมนเพศหญิง และไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายก็ได้ แต่บางรายที่ร่างกายมีความเป็นผู้ชายมาก หรือบางรายที่ไม่พึงพอใจในรูปร่าง ก็สามารถใช้ยาต้านฮอร์โมนในระยะหนึ่งจนพอใจ ทั้งนี้ต้องให้แพทย์คอยติดตาม การใช้ยาควรคำนึงถึง วัย และภาวะโรคภัยด้วย
ตัวอย่างของ Anti Androgen hormones ในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน
ชื่อการค้า | ตัวยาสำคัญ | รายละเอียด |
Androcur | Cyproterone acetate 50 mgขนาดแนะนำ 25-50 mg/วัน | เป็นยารักษามะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนชาย เช่นมะเร็งต่อม ต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากโต ผลทำให้ร่างกายมีความเป็นชายน้อยลง จึงนิยมนำมาใช้สำหรับข้ามเพศ ใช้บ่อยในยุโรปและในวงการสาวประเภทสองในไทย แต่ไม่แนะนำให้ใช้ระยะยาวเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ (UK guideline 2016) ส่วนในอเมริกา ไม่ใช้เพราะกังวัลผลข้างเคียงต่อตับ |
Aldactone | Spironolactone 100 mg ขนาดแนะนำ 100-300 mg/วัน | เป็นยาขับปัสสาวะ ที่ใช้รักษาโรคที่ร่างกายเสียสมดุลน้ำและเกลือแร่เช่นโซเดียมและโพแทสเซียม ทำให้เกิดการบวมน้ำ จึงต้องขับน้ำออก นอกจากนี้ยังใช้รักษา โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ โพแทสเซียมต่ำ อาการบวมจากหลายสาเหตุ เช่น หัวใจวาย โรคไต และตับแข็ง ยานี้ยังออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายได้ แต่หากใช้ในระยะยาวอาจทำให้ โพแทสเซียมในเลือดสูงได้ (Hyperkalemia) |
Proscar ,Propecia | Finasteride 5 mg ขนาดแนะนำ 2.5-5 mg/วัน | เป็นยารักษาผมร่วม ปลูกผม และภาวะต่อมลูกหมากโต ซึ่งมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายได้ อย่างไรก็ตามยังมีการศึกษาไม่มากนักถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ข้ามเพศ |
สรุปการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศสำหรับหญิงข้ามเพศ
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
– ไม่แนะนำ ยาคุมกำเนิด, พรีมาริน, ยาเอสตราดิออลแบบฉีด
- ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
– ไม่แนะนำทุกรูปแบบ
- ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti androgen hormones)
– ควรใช้เอสตราดิออลควบคู่ไปกับยาต้านฮอร์โมนเพศชาย
– หญิงข้ามเพศที่ผ่าตัดอัณฑะออกแล้วหรือผ่าตัดแปลงเพศแล้ว แนะนำหยุดใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย ใช้เอสตราดิออลเพียงตัวเดียว เป็นฮอร์โมนทดแทน
อ้างอิง
- ณัฐวุธ สิบหมู่ ,เภสัชวิทยา : เนื้อหาสำคัญและแบบฝึกหัด Pharmacology : principles and exercises Author: บรรณาธิการ, ณัฐวุธ สิบหมู่ Imprint: กรุงเทพฯ : ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2559.
- Caine YG, Bauer KA, Barzegar S, et al. Coagulation activation following estrogen administration to postmenopausal women. Thromb Haemost. 1992;68:392–395.
- Olié V, Plu-Bureau G, Conard J, et al. Menopause hormone therapy and recurrence of venous thromboembolism among postmenopausal women. Menopause. 2011;18:488–493.
- พินทุสร เกตุวงศา,การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศสำหรับหญิงข้ามเพศ และการตรวจติดตามวัดระดับฮอร์โมน,สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ,2564
- https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=4487
- Oriowo MA, Landgren BM, Stenström B, Diczfalusy E (April 1980). “A comparison of the pharmacokinetic properties of three estradiol esters”. Contraception. 21(4): 415–24.