ยาเพร็ป คืออะไร? เพร็ป (PrEP) ย่อมาจาก PreExposure Prophylaxis เป็นส่วนสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่มีความเสี่ยงสูง
เพร็ป คือ สูตรยาต้านไวรัสที่ให้ทานเป็นประจำวันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติด เชื้อเอชไอวี ถ้าเขาไปรับเชื้อมา ทุกวันนี้ เพร็ป ให้ผลที่มีประสิทธิภาพมากในกลุ่มชายรักชาย และสาวประเภทสองที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สูตรยานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพใน การลดการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ในกลุ่มชายหญิงทั่วไป และในกลุ่มผู้ใช้เข็มฉีดยาเสพติด
การกินยา PrEP เป็นวิธีการป้องกันเชื้อเอชไอวีอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิผลสูง และมีความปลอดภัยมากหากมีการกินอย่างถูกวิธีและมารับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ ทางคลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย จึงได้เริ่มเปิดให้บริการ “PrEP-30” ขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้มารับบริการที่คลินิกนิรนามสามารถประเมินลักษณะพฤติกรรมเสี่ยงของตนเองได้ว่าเหมาะสมกับการเลือก PrEP มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันเชื้อเอชไอวีของตนเองหรือไม่ โดยช่วยประเมินความพร้อมของร่างกายเมื่อจะเริ่มใช้ PrEP และจ่ายยา PrEP โดยเน้นความสำคัญของการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงต้องกลับมาตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเป็นประจำอย่างน้อยทุก 3 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับบริการที่เลือกใช้ยา PrEP มีความเข้าใจและตั้งใจจะใช้อย่างจริงจัง คอยเฝ้าระวังผลข้างเคียง และหากพบว่าติดเชื้อเอชไอวีขึ้นมาก็จะได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาอีกด้วย
เนื่องจากบริการ PrEP ยังไม่ได้ถูกรวมอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพต่างๆ ของประเทศไทย บริการ “PrEP-30” นี้ จึงเป็นบริการที่ผู้รับบริการต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งรวมค่ายา และค่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 30 บาทต่อวัน หรือ 900 บาทต่อเดือน
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 National Institures of Health (NIH) หรือสถาบันวิจัยสุขภาพ ได้ประกาศผลการวิจัยว่า ในการจ่ายยาต้านไวรัสนั้น สามารถป้องกันเอชไอวีด้วยได้หรือไม่ ผลปรากฎว่า ยาทานที่หลายคนรู้จักในนาม ทรูวาด้า (Truvada) ให้ผลโดยเฉลี่ยถึง 44% ในการเพิ่มการป้องกันเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชาย และสาวประเภทสอง ที่ได้รับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งเดือน ควบคู่ไปกับตรวจเลือด และใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์วิธีอื่นโดยป้องกัน
การศึกษายังอยู่ในระหว่างงานวิจัยว่ายาต้านจะสามารถใช้ได้ผลในกลุ่มชายหญิง และผู้ใช้ยาหรือไม่ โดยผลปรากฎว่า การรับประทานยาทรูวาด้า สำหรับผู้หญิง ที่ออกมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 นั้น ยังไม่ปรากฏผลงานวิจัยออกมา
สรุปคือทุกวันนี้ยาเพร็ป ให้ผลที่มีประสิทธิภาพมากในกลุ่มชายรักชาย และสาวประเภทสองที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สูตรยานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยว่ามีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ในกลุ่มชายหญิงทั่วไป และในกลุ่มผู้ใช้เข็มฉีดยาเสพติด
กองควบคุมโรค หรือ CDC เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนานโยบายในการให้บริการการรับประทานยาเพร็ป แต่ในขณะที่ยังรอการอนุมัติอยู่นั้น กองควบคุมโรคได้พัฒนาวิธีการจ่ายยาเพร็ปสำหรับป้องกันเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว นอกจากนี้กองควบคุมโรคในสหรัฐอเมริกา ยังออกคำแนะนำให้กลุ่มชายรักชาย ดังนี้
- ณ ปัจจุบัน ยาเพร็ปให้ผลในการลดการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มชายรักชาย หรือไบเซ็กช่วล และสาวประเภทสองที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเท่านั้น และยังไม่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพสำหรับชายหญิง และผู้ใช้ยาเสพติด
- ควรใช้ในกลุ่มบุคคลที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ไม่มีเชื้อเอชไอวีเท่านั้น โดยเริ่มจากการตรวจเชื้อเอชไอวีในขั้นตอนแรกของการรับบริการ และทำการตรวจอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีความสำคัญมากที่ผู้ใช้ยาเพร็ปทุกท่านจะต้องดูแลและประเมินสุขภาพ เพราะการทานยาอาจมีผลข้างเคียง
- ผู้ที่รับประทานยาเพร็ป ไม่ควรมองว่านี่เป็นวิธีแรกที่จะป้องกันเชื้อเอชไอวี แต่ให้มองว่าเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ เมื่อทานควบคู่ไปกับการตรวจเชื้ออย่างสม่ำเสมอ และการป้องกันวิธีอื่นๆ ด้วย ดังนั้นกลุ่มชายรักชายจะยังคงต้อง:
3.1 ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง และใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
3.2 ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบถึงสภาพร่างกายของตัวเอง
3.3 ตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของท่านอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ
3.4 รับข้อมูลและคำแนะนำของการรับประทานยาทุกครั้ง รวมถึงลดความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันและการใช้ยาเสพติด
3.5 ลดจำนวนคู่นอนลง
3.6 การรับประทานยาเพร็ปเป็นประจำทุกวันสำคัญมาก เพราะงานวิจัยระบุว่ายาเพร็ปให้ผลในการป้องกันในระดับที่สูงในกลุ่มที่ทานเป็นประจำ
แต่การป้องกันจะไม่ได้ผลในกลุ่มที่ไม่ทายาอย่างต่อเนื่อง
3.7 รับประทานยาเพร็ปควบคู่ไปกับการรับคำปรึกษาเรื่องสุขภาพ การตรวจเอชไอวี และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
3.8 ผู้ใดที่คิดว่าตัวเองควรได้รับประทานยาเพร็ปควรปรึกษาแพทย์
แหล่งข้อมูล: www.adamslove.org/