รู้หรือไม่ ถุงยางที่ใช้กันนั้นแท้จริงแล้ว....
เรามารู้ประวัติศาสตร์ รู้รูปแบบ รู้วิธีใช้ ให้มากขึ้นกันเถอะ แคร์แมทขอเสนอบทความดีๆนั่นคือ
ถุงยางอนามัย ถุงอนามัยสตรีและสารหล่อลื่น
(male condom, female condom and lubricants)
อ.ดร.ภก.ดนุช ปัญจพรผล
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
1 เม.ย.2565
บทนำ(1-3)
สุขภาวะทางเพศและการคุมกำเนิดของประชาชนเป็นสิ่งที่ได้รับตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งจากสังคมไทยใน
ปัจจุบัน จากแนวคิดโปรแกรมถุงยางอนามัย (comprehensive condom programming) ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย
แห่งชาติ พ.ศ. 2558-2562 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยหรือถุงอนามัยสตรี รวมถึงสารหล่อลื่นให้เป็นวิถี
ชีวิตปกติ ลดปัญหาการตั้งครรภ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ และความเสี่ยงจากโรคมะเร็งที่สามารถแพร่ผ่านจากการมี
เพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานตามนโยบายยังไม่เต็มประสิทธิภาพสืบเนื่องจากหลายเหตุปัจจัย ในปีพ.ศ. 2561 ตลาด
ถุงยางอนามัยในประเทศไทยมีมูลค่า 1,423 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 0.6 สาเหตุเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงด้าน
ทัศนคติและพฤติกรรมเรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยพบว่าอายุของเยาวชนที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกลดลง มีความเชื่อว่าเรื่องเพศที่ผิด
และความประมาท รวมถึงการรณรงค์จากภาครัฐลดลง สิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงยางอนามัยในหมู่เยาวชนลด
น้อยลง ทำให้สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่และปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในยุทธศาสตร์
ด้านถุงยางอนามัย (พ.ศ.2563-2573) จึงมียุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน ส่งเสริม
ให้ประชาชนเข้าถึงถุงยางอนามัย รวมถึงพัฒนาระบบบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพถุงยางอนามัย เป็นต้น โดยร้านยาเป็นหนึ่ง
ในจุดบริการเป้าหมายที่สามารถส่งเสริม ให้ความรู้ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยให้กับประชาชนเพื่อส่งเสริมการ
แก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวได้
ความเป็นมาของถุงยางอนามัย(4)
หลักฐานเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่เก่าแก่ที่สุดคือในสมัยพระเจ้าไมนอสแห่งเกาะครีต
ราว 3000 ปีก่อนคริสตกาล โดยพระองค์เชื่อว่าในน้ำอสุจิของพระองค์มีอสรพิษและแมงป่องอยู่จึงทำให้เหล่าสตรีที่มีความสัมพันธ์
กับพระองค์เสียชีวิต ดังนั้นพระองค์จึงใช้กระเพาะปัสสาวะของแกะใส่ไปในอวัยวะเพศหญิงเพื่อป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์และการ
เสียชีวิตของพระมเหสี ต่อมาในช่วงค.ศ. 1000 สมัยอียิปต์โบราณ มีการใช้ปลอกสวมอวัยวะเพศที่ทำจากผ้าลินินสีต่าง ๆ เพื่อ
จำแนกชนชั้นของประชากรและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในเลือด “บิลฮาร์เซีย” ซึ่งติดเชื้อจากทางเดินปัสสาวะ ในยุคโรมันโบราณพบ
การระบาดของโรคซิฟิลิส ชาวโรมันจึงผลิตปลอกสวมอวัยวะเพศจากผ้าลินิน ลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะของแพะหรือแกะเพื่อ
ป้องกันโรค สำหรับในภูมิภาคเอเชีย ช่วงก่อนคริสตศตวรรษที่ 15 ประเทศจีนมีการใช้ถุงที่ทำจากผ้าไหมหล่อลื่นด้วยน้ำมันเพื่อ
ป้องกันโรคระบาดและในประเทศญี่ปุ่นมีใช้กระดองเต่าหรือหนังเป็นวัตถุดิบ
หลักฐานการใช้ถุงยางอนามัยเกิดขึ้นในทวีปยุโรปเกิดขึ้นราวคริสตศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 1 โดยผลิตจากปลา
และลำไส้ของแพะ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อซิฟิลิสในกองทัพ ต่อมาในสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ทรงกังวลเกี่ยวกับจำนวนบุตร
จึงให้แพทย์ทำถุงเพื่อคุมกำเนิดขึ้น โดยผลิตจากลำไส้แกะ โดยคำว่า “condom” ปรากฎครั้งแรกในบันทึกของนายแพทย์ Daniel
Turner และคำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในปีค.ศ. 1785 เป็นต้นมา เพราะมีการบรรจุคำนี้ลงในพจนานุกรรมภาษาถิ่นของ
ลอนดอน โดยคำว่า condom มีที่มาจาก 2 ทฤษฎี ทฤษฎีแรกคือมาจากชื่อสกุลของนายแพทย์ Colonel Condom นายแพทย์ที่
สร้างถุงคุมกำเนิดให้กับพระเจ้าชาร์ลที่ 2 และอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่ามาจากคำว่า “condus” ในภาษาลาตินที่มีความหมายว่าภาชนะ
รองรับ (vessel)
พบการใช้ถุงที่ทำจากลำไส้เล็กหรือกระเพาะปัสสาวะของสัตว์จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยทหารเยอรมันใช้เพื่อ
ป้องกันโรคซิฟิลิสและหนองใน จากนั้นความนิยมของถุงที่ทำมาจากลำไส้สัตว์เริ่มลดน้อยลง ในช่วงปีค.ศ. 1920 ถุงยางอนามัยที่ทำ
มาจากยางธรรมชาติได้เกิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะมีความยืดหยุ่นที่ดีและสามารถผลิตมาก จึงถูกนำไปใช้ใน
กองทัพอเมริกันและยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และภายหลังการอุบัติของเชื้อเอชไอวีในช่วงปีค.ศ. 1980 ถุงยางอนามัยจึงถูก
ใช้เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการป้องกันโรคและคุมกำเนิดของประชากรโลกจนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการพัฒนารูปแบบ สี กลิ่น และเติม
สารต่าง ๆ ให้เป็นทางเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละคน
ถุงยางอนามัยในประเทศไทยและการป้องกันโรค
ในช่วงต้น ประเทศไทยใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการวางแผนครอบครัว แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในไทยในปี
พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา จึงเกิดโครงการถุงยางอนามัย 100% ขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ดังแสดงในตารางที่ 1(5)
ความหมายของถุงยางอนามัยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขคือ “ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ น้ำยาง
สังเคราะห์ หรือวัสดุอื่น ใช้สวมอวัยวะเพศชายระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อใช้คุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์”
โดยกำหนดให้ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องได้รับอนุญาตในการผลิตหรือนำเข้า มีมาตรฐานและข้อกำหนดเกี่ยวกับ
ผลิตภัณฑ์ การบรรจุ เครื่องหมายและฉลากให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธาณสุข(6)
ตารางที่ 1 ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(7)
โรคทางเพศสัมพันธ์ | ประสิทธิภาพการป้องกันโรค |
เอดส์ | มากกว่าร้อยละ 90 |
ไวรัสตับอักเสบบี | มากกว่าร้อยละ 90 |
พยาธิในช่องคลอด | มากกว่าร้อยละ 90 |
หนองในแท้ | มากกว่าร้อยละ 90 |
หนองในเทียม | ร้อยละ 50-90 |
ซิฟิลิส | ร้อยละ 50-90 |
เริม | ร้อยละ 10-50 |
แผลริมอ่อน | ร้อยละ 10-50 |
หูดหงอนไก่ | ไม่สามารถป้องกันได้ หรือน้อยกว่าร้อยละ 10 |
เมื่อใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง พบว่ามีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงถึง 98% หมายถึงครอบครัวที่มีการใช้ถุงยาง
เป็นประจำใน 1 ปี พบสตรีที่ตั้งครรภ์เพียง 2 คนใน 100 คน ในขณะที่ผู้ที่ใช้ถุงยางอนามัยสม่ำเสมอแต่ไม่ถูกต้องในบางครั้งจะพบ
การตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึง 18 คนใน 100 คน(8)
วัสดุที่ใช้ในการผลิตถุงยางอนามัย(9-10)
น้ำยางธรรมชาติ (Latex) เป็นวัสดุที่นิยมใช้ทำถุงยางอนามัย เนื่องจากมีความกระชับ ยืดหยุ่นดี ราคาถูก สามารถใช้
ร่วมกับสารหล่อลื่นชนิดน้ำหรือซิลิโคนได้ แต่ห้ามใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นที่เป็นสูตรน้ำมัน อย่างไรก็ตามมีคนจำนวนหนึ่งที่แพ้น้ำยาง
ธรรมชาติ อาจจะเกิดการระคายเคือง ผื่นแดงและผิวหนังบวมพองได้ จึงต้องหลีกเลี่ยงไปใช้ถุงยางอนามัยที่ผลิตจากวัสดุอื่นแทน
หนังแกะ (Lambskin) ทำมาจากลำไส้เล็กของแกะ ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ถือเป็นวัสดุที่เก่าแก่ที่สุด โดยในปัจจุบันมี
การนำกลับมาใช้อีกครั้ง ถุงยางอนามัยที่ผลิตจากหนังแกะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกัน
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเชื้อเอชไอวีได้เนื่องจากถุงยางจากหนังแกะนี้จะมีรูพรุนขนาดเล็กที่เชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสผ่านได้
จุดเด่นของถุงยางประเภทนี้คือให้ความรู้สึกธรรมชาติเหมือนไม่ได้ใส่ นำส่งความอุ่นของร่างกายได้ดี สามารถใช้กับสารหล่อลื่นได้
ทุกประเภททั้งสูตรน้ำ ซิลิโคนและน้ำมัน แต่มีราคาค่อนข้างสูง มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าน้ำยางธรรมชาติและอาจจะมีกลิ่นที่ไม่พึง
ประสงค์
โพลีไอโซพรีน (Polyisoprene) เป็นยางสังเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่นและทนทานเหมือนน้ำยางธรรมชาติ มีราคาต่ำกว่า
หนังแกะและสูงกว่าน้ำยางธรรมชาติ สามารถใช้กับสารหล่อลื่นสูตรน้ำและซิลิโคนเช่นเดียวกับน้ำยางธรรมชาติ
โพลียูรีเทน (Polyurethane) เป็นพลาสติกสังเคราะห์ลักษณะบางใส ใช้ทำทั้งถุงยางอนามัยและถุงอนามัยสตรี จุดเด่น
ของวัสดุนี้คือส่งผ่านความรู้สึกและความร้อนได้ดี และบางกว่าน้ำยางธรรมชาติ แต่มีราคาที่สูงกว่า รวมถึงความแข็งแรงและความ
ยืดหยุ่นน้อยกว่า อาจส่งผลถึงความกระชับของถุงยางอนามัยที่ไม่ดีเท่าถุงยางอนามัยจากน้ำยางธรรมชาติ สามารถใช้กับสารหล่อ
ลื่นสูตรน้ำและซิลิโคนได้
ไนไตรล์ (Nitrile) เป็นยางสังเคราะห์ ใช้ในถุงอนามัยสตรีแทนสารโพลียูรีเทน เนื่องจากสามารถนำส่งความร้อนได้ดีและมี
ราคาถูก รวมถึงสามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นทั้งสูตรน้ำ ซิลิโคน และน้ำมัน
ปัจจัยพิจารณาการเลือกใช้ถุงยางอนามัย(11)
1. ขนาด
เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกถุงยางอนามัย เพราะขนาดถุงยางอนามัยที่เหมาะสมจะส่งผลถึงประสิทธิภาพของถุงยาง
อนามัย เนื่องจากถุงยางอนามัยที่เล็กเกินไปจะทำให้คับ แน่น ไม่สบายตัว ทำให้เกิดการฉีกขาดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่
ถ้าขนาดใหญ่เกินไปอาจจะทำให้หลุดในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ขนาดของถุงยางอนามัยที่เห็นในท้องตลาดของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 49-56 มิลลิเมตร โดยวัดจากความกว้างของถุงยางอนามัยที่
วางบนพื้นระนาบ ซึ่งการเลือกขนาดถุงยางอนามัย ให้ผู้ใช้วัดเส้นรอบวง (หน่วยมิลลิเมตร) ที่บริเวณส่วนที่หนาที่สุดของอวัยวะเพศ
ชายขณะแข็งตัวเต็มที่ นำเส้นรอบวงมาหารสองจะเป็นค่าประมาณของความกว้างของถุงยางอนามัยที่จะใช้หรือสามารถดาวน์โหลด
สายวัดจากสื่อออนไลน์ทั่วไปได้เช่นกัน จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าชายไทยจะมีการใช้ถุงยางขนาด 49, 52, 54
และ 56 คิดเป็นร้อยละ 25, 50, 12 และ 5 ตามลำดับ (11)
2. ความหนา
เป็นปัจจัยที่ส่งผลในด้านความรู้สึกขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยความหนาของถุงยางอนามัยในท้องตลาดทั่วโลกจะอยู่ระหว่าง
0.01-0.09 มิลลิเมตร ความหนาปกติของถุงยางอนามัยโดยทั่วไปอยู่ในช่วง 0.05-0.07 มิลลิเมตร และสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่ม
ความรู้สึกให้คล้ายกับการไม่สวมถุงยางอนามัย สามารถใช้แบบบางพิเศษซึ่งจะมีความหนาเพียง 0.01-0.02 มิลลิเมตร
3. รูปร่างและพื้นผิวสัมผัส
รูปร่างของถุงยางอนามัยมีผลต่อความกระชับ โดยทั่วไปจะเป็นแบบผนังขนาน สำหรับแบบผนังไม่ขนาน โดยจะมีส่วนเว้า
หรือโป่งขึ้นที่ส่วนปลายของถุงยางอนามัยผลิตเพื่อเพิ่มความกระชับกับอวัยวะเพศชายมากขึ้น นอกจากนี้ส่วนปลายสุดของถุงยาง
อนามัยบางรุ่นจะมีกระเปาะเพื่อรองรับน้ำอสุจิ
ผิวสัมผัสของถุงยางอนามัยสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผิวเรียบ และผิวขรุขระ ถุงยางอนามัยแบบผิวขรุขระผลิต
เพื่อเพิ่มความรู้สึกให้แก่เพศหญิงหรือทั้งสองฝ่ายในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถุงยางอนามัยแบบผิวขรุขระจะมีหลายรูปแบบเช่น
แบบปุ่ม แบบขีด แบบเกลียวหรือแบบผสม อย่างไรก็ตามมีรายงานพบว่าถุงยางอนามัยแบบผิวขรุขระสามารถเกิดการระคายเคือง
ในเพศหญิงบางคนได้
4. สารฆ่าเชื้ออสุจิ
สาร nonoxynol เป็นสารฆ่าเชื้ออสุจิ ทำหน้าที่ขัดขวางการเคลื่อนที่ของอสุจิไปยังเซลล์ไข่ โดยมีการใช้สาร nonoxynol-
9 เคลือบบนผิวนอกของถุงยางอนามัย(10) แต่จากรายงานขององค์การอนามัยโลกปีค.ศ. 2001 รายงานว่าไม่มีหลักฐานว่าการใช้
ถุงยางอนามัยที่เคลือบด้วยสาร nonoxynol-9 จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีกว่าถุงยางอนามัยที่ไม่มีสารฆ่าเชื้ออสุจิ
นอกจากนี้ยังพบว่าสารฆ่าเชื้ออสุจิดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิว จึงอาจทำให้ผนังช่องคลอดและผนังอวัยวะเพศชายเกิด
การระคายเคืองหรือรอยถลอกได้ในผู้ที่ใช้ถุงยางอนามัยที่เคลือบด้วยสารนี้ตั้งแต่วันละ 2 ครั้งขึ้นไป ส่งผลให้เพิ่มโอกาสในการติด
เชื้อเอชไอวีและเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้สารฆ่าเชื้ออสุจิส่งผลทำให้ถุงยางอนามัยมีอายุที่สั้นลง แต่อย่างไรก็ตามการใช้ถุงยาง
อนามัยที่เคลือบสารฆ่าเชื้ออสุจิก็ยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีได้มากกว่าการไม่ใช้ถุงยางอนามัย(12-14)
5. สารชะลอการหลั่ง
สารชะลอการหลั่งที่นิยมใช้เป็นกลุ่มของยาชา ใช้เคลือบที่ถุงยางอนามัยเพื่อแก้ปัญหาสำหรับเพศชายที่มีความไวต่อ
ความรู้สึกมากและเกิดภาวะหลั่งเร็ว โดยสารที่นิยมใช้ได้แก่ เบนโซเคนและลิโดเคน เป็นต้น
6. สารหล่อลื่น
สารหล่อลื่นนิยมใช้เคลือบบนถุงยางอนามัย เพื่อช่วยให้อายุของถุงยางอนามัยนานขึ้น ง่ายต่อการแกะออกจากบรรจุ
ภัณฑ์และช่วยลดการระคายเคืองช่องคลอดในระหว่างใช้ได้ สารหล่อลื่นที่นิยมใช้มากมักจะเป็นสารหล่อลื่นในกลุ่มซิลิโคน เช่น โพลี
ไดเมธิลไซโลเซน เป็นต้น เนื่องจากเป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ละลายน้ำจึงหล่อลื่นได้ยาวนานและไม่มีปฏิกิริยากับสารอินทรีย์อื่น
นอกจากนี้ยังมีถุงยางอนามัยบางรุ่นที่ใช้สารหล่ออื่นที่สามารถละลายน้ำได้ เช่นโพลีเอธิลีนกลัยคอล หรือกลีเซอรีนด้วยเช่นกัน โดย
ปริมาณสารหล่อลื่นที่ใส่ประมาณ 150-300 มิลลิกรัมต่อถุงยางอนามัย 1 ชิ้น(14) นอกจากนี้พบการใช้สารหล่อลื่นพิเศษบางประเภท
อาจจะทำให้อุ่นในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งจะช่วยเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกของคู่รักได้มากยิ่งขึ้น(15)
7. กลิ่นและสี
การแต่งกลิ่นและสีให้กับถุงยางอนามัยเพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกและอรรถรสทางเพศ ช่วยดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของ
อวัยวะเพศชายและหญิง และสามารถใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ทางปากได้ โดยกลิ่นที่นิยมมาก ได้แก่ กลิ่นสตอรว์เบอร์รี่ กล้วย วานิ
ลา และช็อกโกแลต เป็นต้น สำหรับการแต่งสี ถุงยางอนามัยนิยมใช้สีธรรมชาติหรือแต่งสีชมพู แต่ในต่างประเทศอาจจะพบถุงยาง
อนามัยที่แต่งสีพิเศษตามเทศกาล เช่นแต่งสีส้ม-ดำสำหรับเทศกาลฮาโลวีน, สีเขียว-แดงสำหรับเทศกาลคริสต์มาส หรือชมพู-แดง
ในช่วงวันวาเลนไทน์ เป็นต้น นอกจากนี้ถุงยางอนามัยบางรุ่นอาจจะมีการใส่สารเรืองแสงในที่มืดด้วยเช่นกัน(14)
ข้อดีและข้อเสียของถุงยางอนามัย(11,15)
ข้อดี
1. เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
2. ไม่พบผลข้างเคียงที่อันตรายจากการใข้ถุงยางอนามัย
3. มีขนาด สีสัน รูปแบบพื้นผิวให้เหมาะสมกับผู้ใช้
4. สะดวกในการใช้และหาซื้อได้ทั่วไป
ข้อเสีย
1. จำเป็นต้องใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ อาจจะเกิดความไม่ยินยอมของทั้งสองฝ่าย
2. อาจจะหลุดหรือฉีกขาดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้
3. คนที่แพ้น้ำยางธรรมชาติ ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติได้
วิธีการใช้ถุงยางอนามัย(16)
1. ตรวจสอบวันหมดอายุของถุงยางอนามัย และควรมีถุงยางอนามัยสำรอง เพื่อป้องกันกรณีถุงยางอนามัยรั่วหรือฉีกขาด
2. แกะถุงยางอนามัยจากบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันความเสียหายต่อถุงยางอนามัยและห้ามคลี่ถุงยาง
อนามัยออกก่อนนำไปใช้
3. สวมใส่ถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่
4. นำด้านที่เป็นกระเปาะไว้ด้านนอก บีบปลายถุงยางอนามัยเพื่อไล่อากาศออก
5. สวมถุงยางอนามัยแล้วรูดลงมาจนถึงโคนอวัยวะเพศ
6. ตรวจสอบถุงยางอนามัยว่าไม่มีรอยรั่วหรือฉีดขาดก่อนการมีเพศสัมพันธ์
7. ภายหลังมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรถอนอวัยวะเพศขณะแข็งตัวโดยจับรอบอวัยวะเพศชายในบริเวณขอบของถุงยาง
อนามัย
8. ถอดถุงยางอนามัยอย่างระมัดระวัง โดยเริ่มจากบริเวณส่วนโคนอวัยวะเพศก่อน แล้วรูดน้ำอสุจิไปอยู่ที่ปลายถุง มัด
ปาดถุง ห่อด้วยกระดาษ และควรทิ้งในถังขยะสำหรับขยะติดเชื้อจะเหมาะสมที่สุด
9. ถ้าเกิดการฉีกขาดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ควรเปลี่ยนถุงยางอนามัยทันที แต่ถ้าไม่มั่นใจหรือเพิ่งทราบในภายหลัง
การมีเพศสัมพันธ์แล้วว่าถุงยางอนามัยชำรุด ควรให้ฝ่ายหญิงรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
10. ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยสบู่อ่อน ๆ อย่างนุ่มนวล โดยเฉพาะในฝ่ายหญิงไม่ควรสวนล้างอวัยวะเพศ เพราะเสี่ยง
ต่อการติดเชื้อและนำไปสู่การอักเสบของโพรงมดลูกได้
คำแนะนำเกี่ยวกับถุงยางอนามัย(15)
1. ไม่ควรใช้ถุงยางอนามัย 2 ชั้น เนื่องจากการเสียดสี จะทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดและผู้ใช้ติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
2. ใส่ถุงยางแล้วลดความรู้สึกทางเพศ อาจจะมีความเป็นไปได้สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่สามารถแก้ไขได้เพราะถุงยาง
อนามัยมีหลายประเภท สามารถเลือกใช้แบบที่เหมาะสมกับสภาวะของผู้ใช้ เช่นแบบบางพิเศษที่สามารถให้ความรู้สึกอย่างเต็มที่
หรือแบบที่ให้ความรู้สึกอุ่นเพื่อสามารถกระตุ้นความรู้สึกได้ดียิ่งขึ้น ยกเว้นผู้ที่ประสบปัญหาหลั่งเร็วสามารถเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่
ผสมยาชา เพื่อยืดระยะเวลาในการมีเพศสัมพันธ์ได้
3. ควรเลือกถุงยางอนามัยให้ถูกต้องตามขนาดที่เหมาะสมและควรใช้สารหล่อลื่นที่เหมาะสมกับวัสดุที่ใช้ผลิตถุงยางนั้น ๆ
4. การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก ควรเลือกใช้ถุงยางอนามัยแบบแต่งกลิ่น เนื่องจากไม่มีสารหล่อลื่นและสามารถเลือก
กลิ่นได้ตามรสนิยม
5. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก สามารถเลือกใช้ถุงยางอนามัยแบบใดก็ได้ เพราะไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่บ่งชี้ว่า
ถุงยางอนามัยแบบใดดีกว่ากัน แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องใช้สารหล่อลื่นปริมาณมากเพื่อลดความเสี่ยงของการฉีกขาดของถุงยางอนามัย
6. น้ำอสุจิไม่สามารถซึมผ่านถุงยางอนามัยได้
7. ควรใช้ถุงยางอนามัยตลอดระยะเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ร่างกายจะมีการหลั่งสาร
คัดหลั่งและอสุจิตลอดเวลา
8. เมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งที่ 2 ต้องเปลี่ยนถุงยางอนามัยอันใหม่ ห้ามใช้ซ้ำ
9. ถุงยางอนามัยใช้ได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถล้างน้ำใหม่แล้วใช้ซ้ำได้ เพราะจะเกิดการฉีกขาด หลุดหรือหลวมได้
10. ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในกระเป๋าสตางค์ เนื่องจากการเสียดสี อากาศร้อน และแรงกดทับจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมคุณภาพ ควรจะพกแค่เฉพาะวันที่ต้องการใช้เท่านั้น สำหรับเวลาที่ไม่ได้ใช้ควรเก็บในที่เย็น แห้งและพ้นจากแสงแดด
ถุงอนามัยสตรี (Female condom)
ถุงอนามัยสตรีเกิดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยนายแพทย์ชาวเดนมาร์กชื่อ Lasse Hessel โดยลักษณะของ
ถุงอนามัยสตรีจะเป็นถุงใส เนื้อนุ่มแต่มีความเหนียวและแข็งแรง ถุงอนามัยสตรีมีความยาวใกล้เคียงกับถุงยางอนามัยของผู้ชาย แต่
มีแหวนยืดหยุ่นที่ปลายทั้งสองด้าน โดยด้านหนึ่งเป็นด้านปิด สำหรับด้านเปิดจะเป็นด้านที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย จะอยู่นอกอวัยวะเพศ
หญิง ถุงอนามัยสตรีมีอายุการเก็บรักษา 5 ปี(17,18)
สำหรับประเทศไทยให้ความสนใจกับถุงอนามัยสตรีมากขึ้นในปัจจุบัน โดยในแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 –
2565) ตามยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย (พ.ศ. 2563 – 2573) ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560
– 2573 มีการผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงอนามัยสตรีให้ง่ายและตรงตามความต้องการของผู้หญิงในราคาที่ถูกลง
และสนับสนุนการใช้ถุงอนามัยสตรีเป็นทางเลือกให้ผู้หญิงมากขึ้น รวมถึงแสวงหาการสนับสนุนถุงอนามัยสตรีจากองค์กรระหว่าง
ประเทศมากขึ้น(3)
ประเภทของถุงอนามัยสตรี
1. ถุงอนามัยสตรี FC1®
เป็นถุงอนามัยสตรีรุ่นแรก ผลิตจากพลาสติกสังเคราะห์คือโพลียูรีเทนหล่อลื่นด้วยสารหล่อลื่นประเภทซิลิโคนโดยบริษัท
Female Health Company ของสหรัฐอเมริกา และปีค.ศ. 1992 เริ่มออกจำหน่ายในทวีปยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร,
สวิสเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อิตาลี และออสเตรีย เป็นต้น ต่อมาองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการับรองและขายใน
สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1994(19)
2. ถุงอนามัยสตรี FC2®
ถุงอนามัยสตรีรุ่นที่ 2 เป็นการพัฒนามาจาก FC1® โดยบริษัท Female Health Company เช่นเดียวกัน แต่เปลี่ยนวัสดุ
เป็นยางสังเคราะห์ไนไตรล์แทนโพลียูรีเทน ในปี ค.ศ. 2003 เริ่มจัดจำหน่ายในทวีปยุโรปในปี ค.ศ. 2005 และปี ค.ศ. 2009 ผ่าน
การรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(19) ปัจจุบันส่งออกไปมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก(20) ซึ่งถุงอนามัยสตรี
FC2® มีประสิทธิภาพสูงเช่นเดียวกับ FC1® แต่มีราคาที่ถูกกว่า นอกจากนี้มีการเพิ่มขนาดวงแหวนด้านปลายเปิดให้มีขนาดใหญ่
คลุมอวัยวะเพศหญิงและฐานของอวัยวะเพศชายเพื่อการป้องกันการสัมผัสกันของอวัยวะเพศ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ดียิ่งขึ้น
และยางสังเคราะห์มีความเหนียวนุ่มจึงทำให้ไม่เกิดเสียงรบกวนในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์(21)
จากงานวิจัยในสตรีที่ใช้ถุงอนามัยสตรีในแอฟริกาใต้เปรียบเทียบกันระหว่าง FC1® และ FC2® พบว่าอัตราการฉีกขาด
ของ FC1® และ FC2® อยู่ในอัตราที่ต่ำ เพียง 0.73% และ 0.85% ตามลำดับ การหลุดเข้าไปในช่องคลอดบางส่วนหรือทั้งหมดของ
FC1® พบ 3.14% และ FC2® พบ 2.98% สำหรับการหลุดออกจากอวัยวะเพศหญิงของถุงอนามัยสตรีทั้งสองรุ่นอยู่ในระดับที่ต่ำ
กว่า 0.37% และความล้มเหลวด้านคลินิกของ FC1® อยู่ที่ 5.24% และ FC2® อยู่ที่ 4.3% แสดงให้เห็นว่าถุงอนามัยสตรีทั้ง 2 รุ่นมี
ประสิทธิภาพที่ดี(22)
3. ถุงอนามัยสตรีอื่น ๆ(19,20)
นอกจากบริษัท Female Health Company ยังพบการผลิตถุงอนามัยสตรีจากประเทศอินเดียและจีนเช่นกัน เช่น ถุง
อนามัยสตรี CupidTM ของบริษัท Cupid Ltd. ประเทศอินเดีย ซึ่งผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ, ถุงอนามัยสตรี O’lavieTM และ
Phoenurse® โดยบริษัท Shanghai Medical Apparatus company และ Tianjin Condombao Medical Polyurethane
Tech. Co. Ltd ประเทศจีน ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองยี่ห้อผลิตมาจากโพลียูรีเทน
ในด้านประสิทธิภาพของถุงอนามัยสตรี พบว่ามีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดประมาณ 95% แต่ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี
ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือเพียง 79%(8) และถุงอนามัยสตรีสามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีได้สูงกว่า 95% รวมถึงสามารถป้องกัน
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น โรคซิฟิลิสและหนองในได้(17)
ข้อดีและข้อเสียของถุงอนามัยสตรี(23)
ข้อดี
1. ป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
2. ฝ่ายหญิงสามารถใช้ถุงอนามัยสตรีได้ ถ้าฝ่ายชายไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย
3. สามารถใช้ได้กับผู้ที่แพ้น้ำยางธรรมชาติ
4. สามารถใส่ไว้ในอวัยวะเพศหญิงได้นานถึง 8 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ และไม่จำเป็นต้องถอดทันทีภายหลังเพศสัมพันธ์
ข้อเสีย
1. ถุงอนามัยสตรีอาจจะหลุดได้ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
2. บางคู่อาจจะเกิดการระคายเคืองได้
3. ฝ่ายชายอาจจะเสียความรู้สึกทางเพศได้ เนื่องจากความเทอะทะของถุงอนามัยสตรี
4. อาจจะเกิดเสียงในขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรใช้สารหล่อลื่นเพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว
5. ราคาแพง และยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย
6. มีขนาดเดียว
วิธีการใช้ถุงอนามัยสตรี(15,23)
1. ตรวจสอบวันหมดอายุของถุงอนามัยสตรี
2. แกะถุงยางอนามัยสตรีอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันความเสียหาย ไม่ควรใช้ปากแกะหรือใช้เล็บจิกบริเวณที่มีถุงอนามัย
สตรีอยู่
3. ถอดแหวนหรือตัดเล็บ เพื่อป้องกันการรั่วของถุงอนามัยสตรีในขณะใส่
4. ทาสารหล่อลื่นที่ถุงอนามัยสตรี บีบส่วนปลายปิดหรือบริเวณที่วงแหวนหนาให้เล็กลงแล้วสอดเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง
ในท่านอน หรือท่าสควอช หรือท่ายืน ยกขาข้างหนึ่งวางบนเก้าอี้ก็ได้ โดยเลือกท่าที่สะดวกที่สุด
5. ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปภายในถุงอนามัยสตรี ดันไปถึงบริเวณปากมดลูก
6. ตรวจสอบถุงยางอนามัยว่าไม่เกิดการพับงอ
7. สังเกตว่าวงแหวนด้านปลายเปิดของถุงอนามัยสตรีจะอยู่ด้านนอกคลุมปริเวณปากอวัยวะเพศ
8. การถอดถุงอนามัยสตรี โดยจับวงแหวนด้านปลายเปิด บิดเป็นเกลียวเพื่อให้อสุจิอยู่ภายในถุง นำออกอย่างเบามือ ห่อ
ด้วยกระดาษแล้วทิ้งลงในถังขยะสำหรับขยะติดเชื้อ
9. เปลี่ยนถุงอนามัยสตรีอันใหม่ เมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ซ้ำ ไม่ควรนำมาล้างแล้วใช้ซ้ำ
10. ในกรณีเมื่อฝ่ายชายเสร็จกิจ แต่วงแหวนด้านปลายเปิดเข้าไปภายในช่องคลอด ไม่ได้คลุมที่ด้านนอกอวัยวะเพศหญิง
ฝ่ายหญิงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
คำแนะนำเกี่ยวกับถุงอนามัยสตรี(21,23)
1. ห้ามใช้ถุงยางอนามัยที่หมดอายุแล้ว
2. สามารถใช้ถุงอนามัยสตรีในช่วงมีประจำเดือนได้
3. ถ้าพบการฉีกขาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ควรหยุดกิจกรรม ทำความสะอาดอวัยวะเพศและเปลี่ยนถุงอนามัยสตรีอันใหม่
4. ไม่แนะนำให้ใช้ถุงอนามัยสตรีร่วมกับถุงยางอนามัยของผู้ชายเพราะเสี่ยงกับการเสียดสีและฉีกขาดได้
5. สามารถใช้ถุงอนามัยสตรีกับการคุมกำเนิดวิธีอื่นได้ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย
ได้ แต่ห้ามใช้ร่วมกับฝาครอบปากมดลูก (diaphragm) และ วงแหวนคุมกำเนิด (inner ring) เนื่องจากอุปกรณ์อยู่ในตำแหน่ง
เดียวกันกับถุงอนามัยสตรี
6. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก สามารถใช้ถุงอนามัยสตรีได้ โดยใช้สารหล่อลื่นปริมาณมากเพื่อช่วยในการนำถุง
อนามัยสตรีเข้าไปในทางทวารหนัก
ถุงยางยูนิเซ็กซ์ (unisex condom)
วันที่ 28 ตุลาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานเกี่ยวกับถุงยางยูนิเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก ผลิตโดยทีมวิจัยและ
พัฒนาผลิตภัณฑ์ของนายแพทย์ John Tang Ing Chinh ประเทศมาเลเซีย ภายใต้ชื่อ Wondaleaf Unisex Condom จัดจำหน่าย
เฉพาะในประเทศมาเลเซีย โดยถุงยางยูนิเซ็กซ์ 1 กล่อง บรรจุถุงยางจำนวน 2 ชิ้นพร้อมสารหล่อลื่นสูตรน้ำ 2 ซอง ราคา 14.99 ริง
กิตมาเลเซีย(24)
ถุงยางยูนิเซ็กซ์ผลิตจากโพลียูรีเทน มีความหนา 0.03 มิลลิเมตร มีขนาดเดียว ความพิเศษของถุงยางนี้คือมีขอบด้านบน
เป็นกาว 1 ด้าน ซึ่งสามารถพลิกเพื่อติดกับบริเวณหัวหน่าวรอบอวัยวะเพศชายหรือหญิงก็ได้ โดยทางบริษัทอธิบายว่าการมีแถบกาว
จะทำให้ไม่เกิดการเลื่อนหลุดในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการติดคลุมรอบ ๆ
หัวหน่าวจะทำให้เพิ่มการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ แต่ข้อแนะนำที่เพิ่มเติมสำหรับการใช้ถุงยางยูนิเซ็กซ์คือ การ
ลอกถุงยางออกจะไม่ทำให้เจ็บปวดสำหรับผู้ที่กำจัดขนบริเวณหัวหน่าวแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้กำจัดขน ควรลอกออกอย่างช้า ๆ(25)
สารหล่อลื่นหรือเจลหล่อลื่น(26-28)
สารหล่อลื่นมีความจำเป็นในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีการหลั่งสารหล่อลื่นออกมาน้อย ซึ่งจะก่อให้เกิด
ความเจ็บปวดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์หรือการระคายเคืองของเนื้อเยื่ออวัยวะเพศหญิงได้ สารหล่อลื่นแบ่งออกได้เป็น 3
ประเภท ดังนี้
1. สารหล่อลื่นสูตรน้ำ (water based lubricants)
เป็นสารหล่อลื่นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางมากที่สุด สามารถหาซื้อได้ง่าย มีจุดเด่นคือเข้ากันได้กับผิวหนังและไม่มี
ผลกระทบต่อเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอด ล้างออกง่าย สามารถใช้กับถุงยางอนามัยและเซ็กซ์ทอยได้ทุกประเภทโดยไม่ทำให้
เสื่อมสภาพ
สารหล่อลื่นสูตรน้ำที่มีกลีเซอรีนเป็นส่วนประกอบ จะมีรสชาติหวานเล็กน้อย ราคาถูก หาได้ง่าย ไม่เป็นมัน แต่ข้อเสืยคือ
แห้งไว ต้องเติมบ่อยๆ และมักจะทำให้รู้สึกเหนียวติดได้ ยิ่งไปกว่านั้นการใช้กลีเซอรีนกับอวัยวะเพศหญิงจะทำให้มีความเสี่ยงในการ
ติดเชื้อยีสต์ได้ง่าย จึงมีคำแนะนำไม่ควรใช้กับอวัยวะเพศหญิง สามารถใช้หล่อลื่นในการมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือทวารหนักได้
สารหล่อลื่นสูตรน้ำที่ไม่มีกลีเซอรีนในส่วนประกอบเพื่อลดปัญหาการติดเชื้อยีสต์ในช่องคลอด โดยอาจจะใช้สารอื่น เช่น
โพรพิลีน ไกลคอล ซึ่งเป็นสารที่ไม่เป็นมัน ลดการระคายเคืองในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่พบว่าสารดังกล่าวอาจจะทำให้เกิด
การระคายเคืองเนื้อเยื่อได้ โดยมีการศึกษาบอกว่าพบอัตราเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีได้เพิ่มมากขึ้นและมีรสขม นอกจากนี้ โดยทั่วไปสารหล่อลื่นสูตรน้ำอาจจะมีส่วนประกอบของสารกันเสียกลุ่มพาราเบน ซึ่งบางคนมีอาการแพ้สารดังกล่าว อาจจะทำให้
เกิดการแพ้ คันและบวมได้ จึงอาจจะเลือกให้สารหล่อลื่นสูตรน้ำที่ปราศจากพาราเบนจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้
นอกจากนี้อาจจะมีการเติมสารอื่น ๆ เช่น เติมสารให้ความอุ่นร้อน เช่น แคปไซซิน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดและ
กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ หรือเติมสารบำรุงและให้ความชุ่มชื้น เช่น อโลเวร่า หรือ กรดไฮยาลูรอนิก หรือมีการแต่งกลิ่น-สี เป็นต้น
2. สารหล่อลื่นสูตรซิลิโคน (silicone based lubricants)
สารหล่อลื่นประเภทนี้ราคาสูงกว่าสารหล่อลื่นสูตรน้ำ เป็นสารหล่อลื่นที่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก แต่มี
แนวโน้มว่าจะเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นสารหล่อลื่นที่ปรับไปตามอุณหภูมิร่างกาย สามารถหล่อลื่นได้นานกว่าสารหล่อลื่น
สูตรน้ำ ไม่ระเหย จึงไม่ต้องเติมระหว่างทำกิจกรรม ยิ่งไปกว่านั้นยังให้ความรู้สึกนุ่มนวลและมีรายงานการแพ้น้อย โดยสารสำคัญที่
ใช้เช่น ไซโคลเมธิโคน หรือ ไดเมธิโคนอล เป็นต้น ซึ่งข้อจำกัดของสารหล่อลื่นประเภทนี้คือล้างออกยาก รสชาติไม่ดี และไม่สามารถ
ใช้กับถุงยางอนามัยหรือเซ็กซ์ทอยที่มีส่วนประกอบของซิลิโคนได้ ส่วนใหญ่มักจะเหมาะกับคู่ที่แต่งงานหรือทราบผลเลือดซึ่งกันและ
กันที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
3. สารหล่อลื่นสูตรน้ำมัน (oil based lubricants) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
สารหล่อลื่นสูตรน้ำมันปิโตรเลียม เช่นวาสลีน น้ำมันมิเนรัล เป็นต้น สารหล่อลื่นกลุ่มนี้มีราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย แต่ไม่
เหมาะกับการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้ถุงยางอนามัยหรือเซ็กซ์ทอยเสียสภาพ ล้างยากและ
ทิ้งคราบที่ผ้า สารหล่อลื่นสูตรนี้จึงเหมาะกับการมีเพศสัมพันธ์ภายนอกหรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองของเพศชาย
สารหล่อลื่นสูตรน้ำมันธรรมชาติ เช่นน้ำมันมะกอก น้ำมันอาโวคาโด น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น เป็นสารหล่อลื่นที่มีความ
ปลอดภัยสูง รับประทานได้ หาง่ายและราคาถูก จึงสามารถใช้นวดตัวหรือใช้ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ เนื่องจากร่างกายสามารถ
กำจัดน้ำมันเหล่านี้ดี แต่ข้อเสียคือสามารถทำให้ถุงยางอนามัยหรือเซ็กซ์ทอยเสียสภาพได้เช่นกันและเป็นคราบติดผ้าได้ ล้างออกได้
ยาก
เอกสารอ้างอิง
1. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานประจำปี พ.ศ. 2562 กองโรคเอดส์
และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. 2562
2. บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด. รายงานประจำปี 2561. 2561
3. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563-
2565) ตามยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย (พ.ศ. 2563-2573) ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-
2573. 2563
4. Khan F, Mukhtar S, Dickinson IK, Sriprasad S. The story of the condom. Indian J Urol. 2013;29(1):12-15
5. กองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. โครงการถุงยางอนามัย 100% มาตรการป้องกันโรคเอดส์ในประเทศ
ไทย. 2538
6. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ถุงยางอนามัย พ.ศ. ๒๕๕๖. 2556
7. Panupong. ป้องกัน ปลอดภัย ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. [cited 2021 October 05]. Available from:
https://healthythai.online/categories/healthful/news/1677
8. Nazario B. Condoms. [cited 2021 October 06]. Available from: https://www.webmd.com/sex/birthcontrol/
birth-control-condoms
9. Hatcher RA, Trussell J, Nelson AL, Cates W, Stewart FH, Kowal D. Contraceptive Technology. 19th ed. New
York: Ardent Media; 2009
10. Types of condoms. [cited 2021 October 06]. Available from: https://goaskalice.columbia.edu/answeredquestions/
types-condoms
11. MedThai. ถุงยางอนามัย. [cited 2021 October 06]. Available from: https://medthai.com/ถุงยางอนามัย
12. World Health Oraganization. WHO/CONRAD Technical Consultation on nonoxynol-9; 2001 Oct 9-10;
Geneva, Switzerland. Geneva: World Health Oraganization.; 2003
13. Rees AM. Consumer Health USA volume 2. Arizona: Oryz Press; 1997
14. Blackledge RD. Forensic Analysis on the Cutting Edge: New Methods for Trace Evidence Analysis. New
Jersey: John Wiley & Sons; 2007
15. The sexual health charity FPA. Your guide to male and female condoms. England: FPA; 2014
16. UNAIDS. The male condom UNAIDS Technical update. Geneva: UNAIDS Information Centre; 2000
17. UNAIDS. The female condom and AIDS UNAIDS point of view. Geneva: UNAIDS Information Centre; 1997
18. PATH, UNFPA. Female Condom: A Powerful Tool for Protection. Seattle: UNFPA, PATH; 2006
19. WHO/UNFPA. Female Condom: Generic Specification, Prequalification and Guideline for Procurement 2012.
Geneva: WHO Press; 2012
20. The Female Health Company. All about the FC2 female condom. [cited 2021 October 06]. Available from:
https://fc2femalecondom.com/wp-content/uploads/2017/03/All-About-the-FC2-Handout_English-web.pdf
21. Female condoms. [cited 2021 October 06]. Available from:
https://www.rhsupplies.org/fileadmin/uploads/rhsc/Working_Groups/New_Underused_RH_Technologies_Caucu
s/Documents/Technical_Briefs/rhsc-brief-female-condom_A4.pdf
22. Beksinska M, Smit J, Mabude Z, Vijayakumar G, Joanis C. Performance of the Reality polyurethane female
condom and a synthetic latex prototype: a randomized crossover trial among South African women.
Contraception. 2006 Apr;73(4):386-93
23. DerSarkissian CB. Female condoms. [cited 2021 October 06]. Available from:
https://www.webmd.com/sex/birth-control/what-are-female-condoms
24. Ebrahim H. Malaysian gynaecologist creates ‘world’s first unisex condom’. [cited 2021 October 29].
Available from: https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/malaysian-gynaecologistcreates-
worlds-first-unisex-condom-2021-10-28/
25. Wondaleaf Unisex Condom. [cited 2021 October 29]. Available from:
https://www.wondaleaf.com/wondaleaf-unisex-condom/
26. Moon A. Girl Sex 101. USA: Lunatic Ink; 2014
27. Amherd C. 7 Steps to Pain-Free Sex: A Complete Self-Help Guide to Overcome Vaginismus, Dyspareunia,
Vulvodynia & Other Penetration Disorders. 3rd ed. Munich: P6 Beckenbodenzentrum; 2013
28. Price J. Naked at Our Age: Talking Out Loud About Senior Sex. New York: Seal Press; 2011