วันที่ทั่วโลกปราศจากการตีตราอันเนื่องมาจากเอชไอวี (Zero HIV Stigma Day)
“Human First” เป็นหัวข้อรณรงค์ วันที่ทั่วโลกปราศจากการตีตราอันเนื่องมาจากเอชไอวีในปี 2023 เพื่อเน้นย้ำมิติความเป็นมนุษย์ของผู้ที่มีเอชไอวีและได้รับผลกระทบจากเอชไอวี ที่ควรได้รับสิทธิความเป็นมนุษย์เฉกเช่นมนุษย์ทุกคน ให้เห็นมนุษย์ ไม่ใช่เห็นแต่ไวรัส และการเลือกปฏิบัติใดๆ ต่อผู้มีเอชไอวีควรถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ข้อเสนอเพื่อการขจัดการตีตราอันเนื่องมาจากเอชไอวี https://zerohivstigmaday.org/wp-content/uploads/2023/07/ZeroHIVStigmaDay_Toolkit.pdf
- ตระหนักในศักดิ์ศรี สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีเอชไอวีและได้รับผลกระทบจากเอชไอวีทุกคน
- ลดความกลัวในการเอ่ยถึงสถานะการมีเอชไอวีและการโดดเดี่ยวจากสังคม และสร้างเสริมให้คนใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยและเป็นตัวตนของตัวเองมากขึ้น
- ผลักดันให้เกิดความต้องการตรวจหาสถานะของการมีเอชไอวี ที่นำไปสู่การรู้ว่ามีเอชไอวีแต่เนิ่นๆ และเข้าสู่กระบวนการรักษาเอชไอวี การดูแล บริการทางสังคมที่นำไปสู่ภาวะกดไวรัสได้จนตรวจไม่พบไวรัสในเลือดและไม่ส่งต่อไวรัสให้กับคนอื่นได้ (U = U)
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้การพูดคุยเรื่องเอชไอวีทำได้อย่างเปิดเผย ส่งเสริมข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งผ่านและการป้องกันไวรัส และส่งเสริมให้คนยอมรับวิธีการป้องกัน อาทิ การป้องกันด้วยยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อ (PrEP) และกลยุทธ์ต่างๆ ของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction)
- ผลักดันให้เกิดความเสมอภาคของทุกคนในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และการรักษา โดยไม่เกี่ยวกับสถานะของการมีเอชไอวี
ความเป็นมา
วันที่ 21 กรกฎาคม ได้รับการเลือกและเสนอให้เป็นวันสร้างความตระหนักเรื่องการตีตราอันเนื่องมาจากเอชไอวี เพื่อเป็นเกียรติให้กับคุณ พรูเด็นซ์ โนบันตู มาเบเล่ (Prudence Nobantu Mabele) หญิงผิวดำชาวแอฟริกาใต้คนแรกที่แบ่งปันเรื่องสถานะการมีเอชไอวีให้กับสาธารณะรับรู้ เธอต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงและเด็กที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี และความรุนแรงทางเพศภาวะ คุณพรูเด็นซ์ เกิด 21 กรกฎาคม ปี 1971 ได้รับเอชไอวีปี 1990 พูดถึงสถานการณ์มีเอชไอวีของเธอในที่สาธารณะในปี 1992 และเสียชีวิตลงในวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2017 https://en.wikipedia.org/wiki/Prudence_Nobantu_Mabele
วันสร้างความตระหนักเรื่องทั่วโลกปราศจากการตีตราอันเนื่องมาจากเอชไอวี สร้างความเคลื่อนไหวไปทั่วโลก รวมผู้คน ชุมชน และประเทศทั้งหลายให้ตระหนักและลงมือปฏิบัติต่อการตีตราอันเนื่องมาจากเอชไอวี เพื่อนักกิจกรรมด้านเอชไอวีที่จากไปและเพื่อนักกิจกรรมทุกคนที่ยังคงต่อสู้กับเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง
วันที่ทั่วโลกปราศจากการตีตราอันเนื่องมาจากเอชไอวี ริเริ่มในปี 2021 โดย 4 องค์กร
- NAZ เป็นองค์กรด้านสุขภาพทางเพศและเอชไอวีที่นำการดำเนินงานโดยชนกลุ่มน้อย ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษทำงานแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมเรื่องสุขภาพทางเพศในชุมชนคนผิวดำ ผิวน้ำตาล และชุมชนที่ถูกทำให้เป็นชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทั่วโลกมาร่วม 30 ปี
- IAPAC เป็นสมาพันธ์แพทย์และวิชาชีพด้านสุขภาพทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกกว่า 3 หมื่นคน ทำงานเพื่อยุติการระบาดของเอชไอวี วัณโรค และไวรัสตับอักเสบ บี และซี
- Global HIV Collaborative องค์กรความร่วมมือระดับโลกด้านเอชไอวีของผู้นำและนักกิจกรรมระดับโลกเพื่อยกระดับผลลัพธ์การดำเนินงานด้านเอชไอวีในชุมชนผิวดำทั่วโลก
- Fast-Track Cities Institute เป็นความร่วมมือเพื่อการสนับสนุนให้เมืองและเมืองหลวงต่างๆ ทั่วโลกดำเนินการเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG3) เพื่อยุติการระบาดของเอชไอวีและวัณโรค รวมของ WHO ในการยุติไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี และ SDG 11 เพื่อให้เมืองและเมืองหลวงต่างๆ น่าอยู่ ปลอดภัย เข้มแข็งและยั่งยืน