องค์กรที่นำโดยประชากรหลักของไทยให้ความหวังสำหรับการจัดหาเงินทุนด้านเอชไอวีที่ยั่งยืน
เมื่อเงินทุนด้านเอชไอวีระหว่างประเทศลดลง องค์กรของไทยจึงต้องหาเงินทุนก้อนใหม่ในประเทศและพัฒนากิจการเพื่อสังคม
แปลจากข่าวของ https://www.aidsmap.com/news/aug-2023/thai-key-population-led-organisations-give-hope-sustainable-hiv-financing?fbclid=IwAR29DtzgMGJhH66OOisbpa6By3qt9hk9DdIDWnNPCOl71_F-8mmMaxynZWM
23 August 2023
การศึกษาที่นำเสนอในการประชุมสมาคมเอดส์นานาชาติด้านวิทยาศาสตร์เอชไอวี ครั้งที่ 12 (IAS 2023) โดย คุณศตายุ สิทธิกาน จากมูลนิธิแคร์แมท ประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่นำโดยประชากรหลัก 11 องค์กรดำเนินตนเองไปได้อย่างไร แม้ว่าเงินทุนระหว่างประเทศจะถูกตัดลงจาก 84% ของงบประมาณในปี 2559 เป็น 50% ในปี 2565
องค์กรเหล่านี้ใช้กลยุทธ์สองทางประคับประคองตนเองเพื่อให้บริการด้านเอชไอวีต่อไป ประการแรก คือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในประเทศให้มากขึ้น และประการที่สอง ได้แก่การก่อตั้งและดำเนินกิจการเพื่อสังคมได้สำเร็จ
สิ่งสำคัญคือต้องมองเห็นองค์กรเหล่านั้นที่นำโดยประชากรหลักซึ่งได้สร้างคุโณปการต่องานด้านเอชไอวีของไทย ประชากรหลักคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีอย่างไม่ได้สัดส่วน ในประเทศไทย ได้แก่ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ผู้ใช้ยาเสพติด ผู้หญิงข้ามเพศ และผู้ให้บริการทางเพศ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประชากรหลัก
กลุ่มประชากรหลักจึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่ตอบสนองนโยบายด้านเอชไอวีในประเทศไทย ซึ่ง 47%ของผู้ถูกวินิจฉัยเอชไอวีรายไหม่พบจากองค์กรเหล่านี้ และประชาชนสี่ในห้าคนมีโอกาสเข้าถึงยา PrEP ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการขององค์กร (ประเทศไทยมีโครงการ PrEP ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย)
“นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่แล้ว ผู้ป่วยที่เราพบจากบริการด้านสุขภาพที่นำโดยประชากรหลักมี CD4 สูงกว่า” ศตายุ สิทธิกาน กล่าวกับ AIDSMAP “อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีที่ศูนย์ของรัฐบาลมักจะไปตรวจเอชไอวีเมื่อมีอาการป่วยแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีค่า CD4 ต่ำกว่าในขณะที่วินิจฉัย”
การวินิจฉัยเอชไอวีตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเพื่อช่วยชีวิต และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อฉวยโอกาส กดเชื้อไวรัสได้ และทำให้ ‘ตรวจไม่พบเท่ากับไม่แพร่เชื้อ’ (U=U) เป็นจริง
องค์กรเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในการขับเคลื่อนการตรวจหาผู้ป่วย HIV รายใหม่ การประสานส่งต่อบริการสุขภาพ การติดตามหลังตรวจ การป้องกัน HIV การสนับสนุนด้านจิตสังคม และการกำกับดูแลบริการที่นำโดยชุมชน
เข้าหาทรัพยากรในประเทศมากขึ้น
เมื่อเงินทุนระหว่างประเทศสำหรับโครงการด้านเอชไอวีลดลง ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับองค์กรเหล่านี้ที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในประเทศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ของรัฐบาลไทยได้คืนเงินให้กับองค์กรต่างๆ ในการให้บริการด้านเอชไอวีและบริการด้านสุขภาพ อื่นๆ แต่ไม่มีความแน่นอนว่าสัญญาหรือเป้าหมายรายปีจะมีการต่ออายุปีต่อปี
ภายใต้ข้อตกลงใหม่ หากองค์กรได้รับการรับรองจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะได้รับสิทธิประโยชน์ 2 เท่า ประการแรกสามารถทำงานร่วมกับ สปสช. ได้อย่างต่อเนื่อง และประการที่สอง สามารถตรวจตามเป้าที่องค์กรกำหนดจำนวนได้เอง (free-flow target) และคืนเงินตามผลการปฏิบัติงาน
ข้อแม้ประการหนึ่งคือ นโยบายนี้มีไว้สำหรับบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามโครงการคุ้มครองสากลของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมประมาณ 80% ของประชากร ตามที่ AIDSMAP รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กล่าวถึงการตัดสินใจของรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2565 ที่ไม่อนุญาตให้มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพประเภทอื่นหรือไม่มีความคุ้มครองเลยนอกเหนือจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ และอื่นๆ)
แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนดังกล่าว แต่เงินเบิกจ่ายคืนที่ได้จากสปสช. ยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์กร “แคร์แมท ต้องรวมแหล่งเงินทุนต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อปิดช่องว่างที่เกิดจากการลดลงของกองทุนระหว่างประเทศ” ศตายุ กล่าวกับ Aidsmap
วิธีหนึ่งที่องค์กรต่างๆ จะเพิ่มการสนับสนุนภายในประเทศจากสปสช. คือการขยายขอบข่ายงานบริการเพื่อเรียกเงินชดเชยมากขึ้น นอกเหนือจากบริการต่างๆของแคร์แมท เช่น การจัดหาบริการตรวจ HIV และยา PrEP ในปัจจุบัน ยังให้บริการสำหรับโรคไม่ติดต่อและสุขภาพจิตอีกด้วย แคร์แมทได้รับเงินทุนจากกองทุนป้องกันเอชไอวี สภากาชาดไทย ในโครงการพระองค์เจ้าโสมสวลี เพื่อสนับสนุนการทำงานกับเยาวชนทั่วไปและกลุ่มเยวชนที่เป็นประชากรหลักในโรงเรียน ให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ (เช่น การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน) ในขณะที่องค์กรอื่นๆ เช่น มูลนิธิ MPLUS ได้จดทะเบียนคลินิกของตนเป็นโพลีคลินิกเพื่อให้สามารถจัดบริการเพิ่มเติมอื่นๆได้
ผู้ให้บริการและสมาชิกในทีมต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างกว้างขวางและการสร้างขีดความสามารถเพื่อให้ได้ทักษะที่จำเป็นในการจัดการบริการทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข FHI360 USAID สถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และพันธมิตร
บางองค์กรกำลังจดทะเบียนคลินิกของตนกับรัฐบาลเป็นคลินิกเทคนิกการแพทย์ เพื่อให้สามารถให้บริการทดสอบในห้องปฏิบัติการและรับเงินคืนได้ แต่คลินิกเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้จ่ายยาใดๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้อนุญาตให้ 11 องค์กรที่ทำงานให้แก่โครงการ USAID ในส่วนของโครงการ EpiC ให้สามารถจ่ายยา PrEP และยาต้านไวรัสภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลของรัฐที่เป็นพันธมิตร จึงทำให้บริการที่นำโดยประชากรหลักสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดว่าใครสามารถสั่งจ่ายยาที่รายงานโดย Aidsmap ในเดือนกุมภาพันธ์ได้
องค์กรอื่นๆ ได้ขยายพื้นที่ทำงาน โดยเริ่มจากหนึ่งจังหวัด (เชียงใหม่) ในปี 2560 มูลนิธิเอ็มพลัสได้ขยายงานไปยัง 10 จังหวัดภายในปี 2565 การสนับสนุนภายในประเทศประจำปีจาก สปสช. ก็เพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน จาก 5% ในปี 2560 เป็น 50% ในปี 2565 ของงบประมาณทั้งหมด
โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่ดี
ยุทธศาสตร์ที่สองคือการจัดตั้งและดำเนินกิจการเพื่อสังคม (Social enterprise) ตัวอย่างเช่น ประมาณหกปีที่แล้ว สมาชิกในทีมคนหนึ่งของ Caremat ได้พัฒนาแอปพลิเคชันบนเว็บเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบในระบบรวบรวมข้อมูลแบบที่ใช้กระดาษ เช่น ลายมืออ่านไม่ออกและบางส่วนของแบบฟอร์มถูกเว้นว่างไว้
จึงเป็นที่มาของการสร้างแอปพลิเคชันบนเว็บที่ช่วยให้สามารถรวบรวมข้อมูลและติดตามผู้รับบริการในบริการดูแล HIV อย่างต่อเนื่อง ด้วยระบบ RRTTPR ( เข้าถึง พามาตรวจ บริการตรวจ ส่งต่อรักษา ป้องกัน และเก็บรักษาผู้รับบริการ) นอกจากจะถูกใช้ภายใน Caremat เป็นที่แรกแล้วแล้ว องค์กรยังได้จัดตั้งบริษัท Accelerate Community Technology Social Enterprise (ACTSE) เพื่อสร้างรายได้
เครื่องมือรวบรวมข้อมูลที่พัฒนาโดย ACTSE ปัจจุบันมีการใช้งานโดยพันธมิตรโครงการ EpiC อื่นๆ ในประเทศไทย รวมถึงมูลนิธิ MPLUS และสมาคม Rainbow Sky แห่งประเทศไทย องค์กรไทยที่ทำงานในโครงการเอชไอวีที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนโลกก็ใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้เช่นกัน
ในปี 2565 ACTSE มีมูลค่าการซื้อขาย 100,000 เหรียญสหรัฐ และทำกำไร 20,000 เหรียญสหรัฐ บังเอิญว่าหลังจากการก่อตั้ง ACTSE ไม่นาน รัฐบาลไทยก็ได้พัฒนากรอบกฎหมายสำหรับกิจการเพื่อสังคมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
“ปัจจุบัน Caremat และมูลนิธิ MPLUS เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ ACTSE” เทิดชัย สัตยาพาณิชย์ จาก FHI360 กล่าวกับ AIDSMAP “เรายังอยู่ในกระบวนการพัฒนาโมเดลกิจการเพื่อสังคมอีก 2 โมเดล หนึ่งคือโมเดลสำหรับสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (ซึ่งรวมถึงศูนย์ฝึกอบรมเรื่องความอ่อนไหวทางเพศเพื่อรองรับภาคเอกชน พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ และแผนกสินค้า) และ อีกโมเดลสำหรับพนักงานบริการในกลุ่มหรือมูลนิธิ SWING (ซึ่งเป็นร้านเบเกอรี่)”
การจัดหาเงินทุนด้านเอชไอวีอย่างยั่งยืนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการยุติโรคเอดส์
ความเปราะบางของโครงการด้านเอชไอวีซึ่งต้องอาศัยเงินทุนระหว่างประเทศถือเป็นประเด็นเร่งด่วน ศตายุ ยืนยันว่าการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรที่นำโดยประชากรหลักและหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญ
“องค์กรต่างๆ ได้สร้างและใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการค้นหาบุคคลที่เข้าถึงได้ยาก และนำพวกเขาเข้าสู่บริการดูแลแบบต่อเนื่อง ในทางกลับกันหน่วยงานภาครัฐก็มีบทบาทสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนเช่นกัน เราจำเป็นต้องโน้มน้าวรัฐบาลเกี่ยวกับความสามารถที่เราแสดงให้เห็นในการให้บริการด้านเอชไอวีแก่ประชากรหลัก ๆ” เขากล่าว “ไม่มีใครสามารถยุติโรคเอดส์ได้เพียงลำพัง เราต้องร่วมมือกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
การแบ่งปันความรู้ระหว่างผู้ที่ทำงานด้านการเงินด้านเอชไอวีอย่างยั่งยืนก็มีความสำคัญเช่นกัน
“หลังจากพยายามนำเสนอในการประชุม IAS ไม่สำเร็จหลายครั้ง นี่เป็นครั้งแรกที่ Caremat สามารถนำเสนอผลงานของตนได้” ดวงกมล ดอนชะอุ่ม จาก FHI360 กล่าวกับ AIDSMAP
“องค์กรที่นำโดยประชากรหลักกำลังทำงานที่สำคัญเกี่ยวกับการดูแลและควบคุมเอชไอวี เช่นเดียวกับการสร้างความก้าวหน้าในด้านการเงินที่ยั่งยืนและการกระจายเงินทุนที่หลากหลาย” เธอกล่าวต่อ “พวกเขาจะต้องมีพื้นที่ในการนำเสนอ เรียนรู้ และแบ่งปันในการประชุมระดับโลก”
References
Sittikarn S et al. Sustaining key population-led HIV services as international donor funding declines: fragile success in domestic financing and social enterprise development in Thailand. 12th IAS Conference on HIV Science, Brisbane, abstract EPE0879, 2023.