เป็นที่รู้กันว่าผู้ติดเชื้อ HIV ในปัจจุบัน สามารถรับยาต้านไวรัส จนมีอาการดี สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเป็นโรคเอดส์ แต่กระนั้นก็ต้องรับประทานยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต ไม่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเลยจะดีกว่าไหม? แล้วเรารู้หรือไม่ว่ามีสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อ HIV คือ….?
คำตอบคือ “งดการมีเพศสัมพันธ์” … อ้าว ถ้างดไม่ได้ล่ะ ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
“โอ้ยยย มีเพศสัมพันธ์บ่อยมาก เปลี่ยนคู่ขาเป็นว่าเล่น”
“เคยติดเชื้อหนองในบ้าง ซิฟิลิสบ้าง แผลริมอ่อนบ้าง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
“รับงานXXX ในและนอกสถานที่ รับงานเป็นหลักแหล่ง ไม่เป็นหลักแหล่ง ไม่ว่าจะที่ผับบาร์ หรือตามเสาไฟถนน”
“คิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง แต่อยากลองป้องกันดู ไม่แน่ใจว่าจะพลาดเมื่อไหร่”
“แฟนติดเชื้อ HIV แล้ว รักเขามาก แต่เรายังไม่ติดและมีเพศสัมพันธ์กัน”
“ไม่ชอบใช้ถุงยาอนามัย ไม่ฟิน ไม่สนุก ไม่รู้สึกเสียว ใช้ไม่สะดวก หาไม่ได้ ณ เวลานั้น คู่ไม่ยอมใช้ บลาๆๆๆ”
เดี๋ยวค่ะ ใจเย็น เรามีอีก 1 ทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยได้ทุกครั้ง หรือเข้าข่ายที่กล่าวมาข้างต้น สามารถรับประทานยาชนิดหนึ่งซึ่งช่วยได้ นั่นคือ ยา เพร็พ (PrEP)
PrEP ย่อมาจาก Pre Exposure Prophylaxis คือยาป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีในคนที่เสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ก่อนมีเซ็กส์) ย้ำว่า ก่อนมีเซ็กส์ ถ้าหลังมีเซ็กส์แล้วกินยาภายใน 72 ชั่วโมง นั้นเรียกว่ายา PEP (Po
st exposure Prophylaxis) นะจ๊ะ
มีคนบอกว่า กินเพร็พก็เหมือนกินยาคุมกำเนิด คือกินเพร็พกันไว้ไม่ให้ติดเชื้อ HIV เหมือนกินยาคุมกันไว้ไม่ให้ท้อง ส่วนยา PEP เหมือนกินยาคุมฉุกเฉิน กินหลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่เหนื่อยไหม ต้องหวาดระแวง ต้องรีบไปหายามากินให้ทันภายใน 72 ชั่วโมง และทั้ง PEP กับยาคุมฉุกเฉินก็มีประสิทธิภาพไม่ถึง 100% ซึ่งถ้าเรากินยาก่อนมีเซ็กส์เพื่อป้องกันไว้จะได้ผลป้องกันดีกว่าที่เรามากินทีหลังมีเซ็กส์แล้ว เหมือนเราเอากระสอบมากั้นไม่ให้น้ำท่วมบ้านเรา ย่อมดีกว่าปล่อยให้น้ำเข้าไปแล้ววิดออกจนเหนื่อย จริงไหม????
เพร็พป้องกันได้แค่ไหน?
คนที่กินยาสม่ำเสมอ สามารถป้องกันได้ 92% งานวิจัยและรายละเอียดที่ลิ้งค์นี้ค่ะ
http://www.bangkok.go.th/upload/user/00000150/sti/060661/1.%20PrEP_TG_BMA_06062018%20KT_PP%20marked.pdf
หลายคนอาจยังสับสน ว่าศูนย์สุขภาพแคร์แมทของเรามีบริการยาอะไร PrEP หรือ PEP ซี่งที่ผ่านมา มีคนมาขอ PEP เยอะพอสมควร เป็นสิ่งดีที่เรายังตระหนักถึงการป้องกันอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดความเสี่ยงขึ้น แต่จะดีกว่าไหมที่เราเลือกที่จะป้องกันไว้ก่อนเลย สิ่งที่เราเรียกว่า”ความเสี่ยง” ก็แทบจะไม่มี ขอเรียนให้ทราบว่า ณ ตอนนี้ เรามีเฉพาะยาเพร็พ (PrEP) ให้อย่างเดียว เรามาเน้น “ป้องกัน” กันแบบสบายๆ แบบเพร็พ ดีกว่า ป้องกัน กึ่งแก้ไข แบบPEP กันเถิดหนา
อย่างไรก็ตาม เราต้องขอย้ำอีกอย่างว่า PrEP และ PEP ป้องกันได้แค่ HIV แต่ไม่สามารถป้องกันโรคอื่นจากเพศสัมพันธ์ได้ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หูด เริม แผลริมอ่อน ดังนั้น การป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การใช้ถุงยางอนามัย ร่วมกับการกิน PrEP ด้วยทุกครั้งที่มีเซ็กส์
พี่ๆน้องๆ ท่านใดสนใจรับเพร็พ ติดต่อเราทีมแคร์แมทได้ สามารถสอบถามก่อนทางเพจของเฟสบุ๊คได้เลยค่ะ หรือพร้อมตรวจเลือด เดินเข้าคลินิกเราได้เลย เรามียาเพร็พ ฟรี เพียงแต่เรามีนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน กินยาได้นานเท่าที่คิดว่าหมดความเสี่ยงแล้ว
องค์กรแคร์แมทมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ให้เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ให้บริการยา PrEP โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดแก่กลุ่มเป้าหมาย ขอบคุณค่ะ/ครับ