ไวรัสตับอักเสบ ซี
(Hepatitis C)
รู้จักไวรัสตับอักเสบ ซี
- ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส
- เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก
- โดยคาดว่ามีประชาการ 1-2 % ทั่วโลกติดเชื้อไวรัส ซี
- คนส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ เลยจนกว่าจะมีการเสื่อมของตับมากๆ จึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลียบ้าง ซึ่งตอนนั้นก็มักเกิด ตับแข็งแล้ว ซึ่งพบว่าประมาณ20 ปี ประมาณ 20% ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะตับแข็งรวมถึงอาจเกิดมะเร็งตับตามมาได้ประมาณร้อยละ 1-3 ต่อปี
- สำหรับประเทศไทยก็พบผู้ป่วย1-2% ของประชากรเช่นกันและจะพบมากขึ้น ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไวรัสตับอักเสบ ซี น่ากลัวจริงหรือ
- เชื้อไวรัสชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก แม้ว่าจะใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนส่องก็ไม่สามารถมองเห็นได้ มีเพียงวิธีสกัดเอาสารพันธุกรรมของไวรัสแล้วนำมาขยายเพิ่มจำนวนล้าน ๆ เท่าเท่านั้นจึงจะมองเห็น นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใด ๆ
- ในกรณีที่ติดเชื้อจากการได้รับเลือด จะมีระยะฟักตัวประมาณ6 – 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยน้อยกว่า 25% อาจมีอาการอ่อนเพลีย และบางครั้งอาจเป็นโรคดีซ่าน ซึ่งจะต้องตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ เพราะตับของผู้ป่วยทุกรายจะทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะการตรวจหาระดับ AST (SGOT) และ ALT (SGPT)
- ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยเพียง15% เท่านั้นที่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้ ส่วนอีก 85% จะมีอาการเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีอาการ หรืออาจมีเพียงอ่อนเพลียเล็กน้อยเท่านั้น และหากเป็นเรื้อรังก็จะค่อยๆกลายเป็นตับแข็งดังกล่าวแล้วข้างต้น
การติดต่อของไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดขึ้นได้อย่างไร
- จากการรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่
- การสักหรือเจาะตามร่างกาย
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติด
- การติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดต่อจากมารดาไปสู่ทารก พบได้น้อยมาก
- ยังไม่มีหลักฐานว่าการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการทำงานด้วยกันตามปกติ จะทำให้ติดต่อได้
การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี ทำได้โดย
- การตรวจการทำงานของตับ ซึ่งบ่งถึงการอักเสบของตับ
- ตรวจหาหลักฐานของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยการตรวจ anti-HCV หากให้ผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ และตรวจหา HCV RNA ซึ่งจะบอกถึงปริมาณไวรัสซี นอกจากนั้น การตรวจสายพันธุ์ของไวรัสจะมีความสำคัญต่อการเลือกยาและระยะเวลาในการใช้ยารักษา
- การตรวจพยาธิสภาพของตับ เพื่อประเมินการอักเสบและพังผืดในตับ ทำได้โดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับหรือใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับวัดปริมาณพังผืด (ความยืดหยุ่น) ในเนื้อตับ
- การตรวจ ultrasound และการตรวจเลือดหาสาร alpha-fetoprotein เพื่อประเมินภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ
ยาสำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
ยาที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์และเป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน คือ ยาฉีด Pegylated interferon สัปดาห์ละ 1 ครั้งร่วมกับการรับประทานยา Ribavirin ทุกวัน โดยได้รับยาต่อเนื่องเป็นเวลา 24 – 48 สัปดาห์ อัตราการตอบสนองอาจสูงถึงร้อยละ 90 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสที่เป็น
สิ่งที่คุณทำได้ เพื่อต้าน “ไวรัสตับอักเสบ ซี”
ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ทำได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับสร้างภูมิป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หลักสำคัญคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการรับเลือดโดยไม่จำเป็น คู่สมรสที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ มารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถให้นมบุตรได้
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซี
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ไวรสแบ่งตัวมากขึ้นและตับเสื่อมเร็วขึ้น ไม่รับประทานยาสุ่มสี่สุ่มห้าโดยปราศจากคำสั่งของแพทย์
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสดังกล่าว
- ผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) มักมีโรคตับลุกลามเร็วขึ้น ควรปฏิบัติตนเพื่อลดภาวะดังกล่าวด้วย
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ควรออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรพบแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับอย่างสม่ำเสมอทุก 3 – 6 เดือน เพื่อประเมินการทำงานของตับ ตรวจระดับAST และ ALT เพื่อทราบระดับของการอักเสบ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ต้องตกใจกับระดับค่าที่วัดได้ เพราะไม่มีส่วนสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการอักเสบ เพราะโดยธรรมชาติ ไวรัสชนิดนี้จะมีระดับขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นปกติอยู่แล้ว หากแพทย์พบว่าตับท่านอักเสบ ต่อเนื่องอาจพิจารณาให้การรักษาซึ่งในปัจจุบันมียาฉีด อินเตอร์เฟอรอน ร่วมกับยารับประทาน ไรบาไวริน ทำให้โรคหายขาดได้สูง
เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี ได้หรือไม่
โดยปกติผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่มีผลกระทบต่อกันแต่อย่างใด เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น ในเพศหญิงสามารถมีบุตรได้โดยการติดต่อไปยังทารกพบได้น้อยมาก และสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ
ที่มา
- https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=369
- https://theworldmedicalcenter.com/th/new_site/health_article/detail/ ?page=“ไวรัสตับอักเสบซี”-ต้านได้-รักษาได้