สปสช.เยี่ยมชมการทำงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ขององค์กรภาคประชาสังคมในเชียงใหม่
เชียงใหม่, 13 ธันวาคม 2565 – นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 2 แห่งซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากแผนงานฉุกเฉินของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) ผ่านองค์การเพื่อความร่วมมือแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้โครงการ EpiC ประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในเวลา 9.00 เดินทางไปเยี่ยมชมการให้บริการสุขภาพที่นำโดยกลุ่มประชากรหลัก หรือ Key Population Led Health Services (KPLHS) ของมูลนิธิแคร์แมท คุณศตายุ สิทธิกาน ผู้อำนวยการมูลนิธิแคร์แมท ให้ข้อมูลว่า มูลนิธิแคร์แมทเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงบริการและสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยได้มีการเยี่ยมชมคลินิกเพื่อศึกษาโครงการจัดบริการเพื่อยุติปัญหาเอดส์ตามชุดบริการ Reach-Recruit-Test-Treat-Retain (RRTTR) รวมไปถึงศึกษาการเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องโครงการรักเพื่อน ชวนเพื่อน รักสุขภาพ Care for friend Safe life Safe sex ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการทำงานด้านสุขภาพจิตในวัยเรียน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการดังกล่าวของกลุ่มวัยเรียนในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน พร้อมกันนี้ยังได้เยี่ยมชมการสาธิตการจัดบริการในกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมทอีกด้วย
ต่อมาเวลา 09.45 เดินทางไปเยี่ยมชมการทำงานของมูลนิธิเอ็มพลัส พร้อมรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของมูลนิธิ โดย คุณพงศ์ภีระ พัฐภีระพงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส ทั้งนี้มูลนิธิเอ็มพลัสเป็นองค์กรชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านจัดบริการด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงงานด้านสุขภาพทางเพศ และสิทธิทางเพศในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในระดับประเทศ นอกจากนี้มูลนิธิเอ็มพลัสยังเป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่นำร่องจัดบริการเพร็พร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและผู้หญิงข้ามเพศ ปัจจุบันมูลนิธิเอ็มพลัสได้มีการทำงานครอบคลุมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ใช้สารเสพติด โดยมุ่งเน้นให้กลุ่มประชากรหลักเหล่านี้เข้าถึงบริการสุขภาพด้านเอชไอวี เพื่อลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการยุติเอดส์ภายในปี 2573 ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
ในช่วงท้าย มูลนิธิเอ็มพลัสและมูลนิธิแคร์แมทได้มีการหารือถึงความก้าวหน้าของการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากสปสช. ความท้าทาย โอกาสและความร่วมมือในอนาคตเพื่อพัฒนาระบบบริการด้านเอชไอวีและระบบสุขภาพของกลุ่มประชากรหลัก อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทยภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นระบบสุขภาพที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาชาติ