การพัฒนากระบวนการเพื่อเข้าถึงกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงโดยใช้รูปแบบของเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อสนับสนุนการทำงานยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทยขององค์กรแคร์แมท ดำเนินการโดยกระบวนการเสริมศักยภาพผู้รับบริการที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีให้มีความรู้และทักษะในการให้ข้อมูลเรื่องเอชไอวีกับกลุ่มเพื่อนที่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยง การสร้างแรงจูงใจในการนำกลุ่มเป้าหมายให้มารับบริการที่ศูนย์สุขภาพ และการประสานภาคีเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้เกิดการทำงานที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายเพื่อยุติปัญญาเอชไอวี/เอดส์ได้อย่างแท้จริง
จากข้อมูลสถานการณ์การระบาดของเอชไอวีในประเทศไทยโดยการนำเสนอของศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) ในเวทีเสวนาเรื่องการจัดบริการสุขภาพโดยชุมชน เมื่อวันที่11 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาข้อมูลการคาดประมาณการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ยังพบว่ากลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง รวมถึงพนักงานบริการชายยังมีจำนวนที่สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ โดยคิดเป็นร้อยละ 49 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดจำนวน 6,139 ราย/ปี (Summary Result 2010-2030 Projection for HIV/AIDS in Thailand by Thailand Working Group on HIV/AIDS Projection) ซึ่งก่อให้เกิดส่งผลกระทบในหลายด้านทั้งในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพ การรับและถ่ายทอดเชื้อ การใช้ชีวิตทางเพศที่ปลอดภัย ประเด็นสุดท้ายคือผลกระทบในเรื่องการของตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศของคนทั่วไป หน่วยงานด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนจึงได้ร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในรูปแบบของชุดบริการ RRTTPR ซึ่งได้แก่
- Reach : การค้นหาและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อเอไอวี
- Recruit : นำกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่บริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดโดยสมัครใจโดยทันที
- Test : ให้บริการตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสมพันธ์ โดยรู้ผลในวันเดียว
- Treat : นำผู้มีผลเลือดบวกเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว
- Prevention : การส่งเสริมการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต
- Retrain : กระบวนการดูแลสนับสนุนติดตามและให้บริการกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังรวมถึงงานด้าน Prevention การส่งเสริมการป้องกันไม่ว่าผู้รับบริการจะมีผลเลือดจะเป็นลบหรือบวกด้วยการแจกอุปกรณ์การป้องกันซึ่งได้แก่ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นสำหรับกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย ซึ่งแนวทางนี้ถือว่าเป็นแนวทางการทำงานหลักของหน่วยงานผู้ให้บริการสุขภาพทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ในประเทศไทย
องค์กรแคร์แมทเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงผลกำไร มีการดำเนินงานด้านการดูแลและสนับสนับสนุนกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และในปัจจุบันได้เปิดบริการศูนย์สุขภาพชุมชนแคร์แมทเพื่อให้บริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดโดยสมัครใจโดยในปี พ.ศ. 2558 – 2560 มีผู้มาใช้บริการรวมทั้งสิ้น 4,874 ราย แยกเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 3,794ราย และสาวประเภทสอง 1,080 ราย มีการตรวจพบสถานะการมีเชื้อเอชไอวี จำนวน 407 ราย และมีสถานะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 110 ราย (M&E: รายงานสรุปข้อมูลผู้มาใช้บริการศูนย์สุขภาพแคร์แมท,ตุลาคม 2560) โดยทั้งหมดได้มีการประสานต่อกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่การรักษาด้วยยาต้านไวรัสและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตามสิทธิของผู้รับบริการ
แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่ากลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่ถูกประเมินว่าเป็นผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูง และในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาของศูนย์ฯ ได้สะท้อนว่าการตัดสินใจเพื่อตรวจเลือดของกลุ่มเป้าหมายยังมีความไม่มั่นใจในคุณภาพและบริการในเรื่องของผลแลปการอ่านค่าผลเลือดที่ออกมาของศูนย์สุขภาพ รวมถึงเชื่อมประสานการทำงานกับหน่วยงานผู้ดูแลและให้บริการด้านสุขภาพในแต่ละพื้นที่ขององค์กรแคร์แมทยังมีน้อยเมื่อมี
การประสานต่อส่อกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการรักษาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลและสนับสนุนจึงทำให้ขาดการติดตามเรื่องการดูแลสุขภาพที่ต่อเนื่องของกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ องค์กรแคร์แมทจึงได้ดำเนินการประสานความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (รพ./รพสต.) หน่วยงานสถานศึกษา ผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาด้านเอชไอวี/เอดส์และสุขภาพแบบองค์รวม โดยการจัดประชุมสร้างความเข้าใจและกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการทำงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ซึ่งถือเป็นปัญหาด้านสุขภาพของคนทุกคนในชุมชน
การดำเนินการเพื่อยุติปัญหาเอดส์ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศที่จะนำไปสู่ความสำเร็จประเด็นสำคัญคือต้องให้กลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูลที่รอบด้านสามารถวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของตัวเอง มีทางเลือกในการใช้บริการด้านสุขภาพโดยคำนึงเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติ ตลอดจนมีคุณภาพมาตรฐานที่เท่าเทียมกันกับระบบบริการปกติของภาครัฐ มีเพื่อนที่คอยสนับสนุนและติดตามดูแลสร้างความตระหนักในการป้องกันตัวเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจากภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของคนไทยที่เท่าเทียมกันทุกคน