Chemsex กับสิ่งที่ต้องคำนึง
Chemsex คืออะไร?
- Chemsex คือ การใช้ยาในบริบทของการมีเพศสัมพันธ์ อาจจะเป็นก่อนหรือระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
- ในประเทศไทย พบว่าประมาณ 18% ของ MSM (Male who has sex with male หรือชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย) ใช้ chemsex (คำนึงว่า MSM ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ยา และ MSM ที่ใช้ยาไม่ได้ใช้ในบริบทของการมีเพศสัมพันธ์ทั้งหมด และไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ยาในบริบทการมีเพศสัมพันธ์มีปัญหาด้านการใช้)
- การใช้ยา บางคนอาจใช้ยาเป็นบางครั้งบางคราวเวลาไปปาร์ตี้ หรือมีเพศสัมพันธ์ และบางครั้งอาจใช้ติดต่อกันนานหลายวัน
- ตัวยาที่นิยมใช้ในการมี chemsex คือ GHB/GBL, ไอซ์ และอาจมีการใช้ยาหลายตัวร่วมกัน
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ chemsex อาจมีทั้งที่เกิดจากตัวยาและความเสี่ยงอื่นๆจากการอยู่ในวิถีของ Chemsexเช่น การไม่ใช้ถุงยาง ลืมกิน PrEP ถูกกระทำความรุนแรง การฉีดที่ไม่ปลอดภัยหรือการแชร์เข็ม เป็นต้น
- ในโลกออนไลน์ เปิดโอกาสให้คนสามารถเข้าถึง chemsex ได้ง่าย และมักใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆเพื่อสื่อถึงการใช้ chemsex
ปัจจัยที่ทำให้คนใช้ chemsex
- ทำให้รู้สึกสุขสมกับเซ็กส์มากขึ้น (ยาช่วยเพิ่มการรับรู้ทางประสาทระหว่างมีเซ็กส์) บางคนรู้สึกว่าการใช้ chemsex ทำให้กล้าที่จะลองประสบการณ์ใหม่ในการมีเซ็กส์ (ลดความยับยั้งชั่งใจ)ทำให้มีเซ็กส์ได้ดีและนานขึ้น (บางคนอาจรู้สึกกดดัน หรือไม่มั่นใจว่าตนเองสามารถมีเซ็กส์ได้ดี การใช้ยาจะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกนั้น) และความรู้สึกต่อตนเอง การสั่งสอนหรือความคิดความเชื่อในสังคมว่าการมีเซ็กส์แบบชาย-ชายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ (บาป หรือผิดธรรมชาติ) ได้ส่งผลให้บางคนรู้สึกผิดหรืออับอายต่อตนเอง อาจทำให้ไม่สามารถสละความรู้สึกนี้ในขณะมีเซ็กส์ได้ จึงเลือกใช้ chemsex เพื่อกดความรู้สึกนั้น
- ความเหงา รู้สึกโดดเดี่ยว เช่น อาจจะย้ายมาที่เมืองใหม่ ๆ หรือยากในการหาความสัมพันธ์ที่จริงจังเพราะในสังคม MSM เน้นการหาคู่นอนมากกว่าหาความสัมพันธ์จริงจัง
- วัฒนธรรมเซ็กส์ในกลุ่มเกย์ ที่มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไร้การยับยั้งชั่งใจ เร่าร้อน สนุก และทุกคนดูฮอท จึงใช้ chemsex เป็นตัวช่วยที่จะอยู่ในวัฒนธรรมนี้ได้
- ผู้ที่ใช้ chemsex มีหลากหลายตัวตน รสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ใช่เพียงกลุ่ม MSM เท่านั้น มีคู่ชายหญิง transgender ที่ใช้เช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์ที่กลุ่ม MSM หันมาใช้ chemsex เยอะและพบกับความเสี่ยงมากมาย
- ชีวิตประจำวัน การมีตัวตนในสังคม การใช้ชีวิตที่บางคนไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ หรืออาจกังวลในการเผชิญการตีตราและเลือกปฏิบัติ
- อาชีพและปัจจัยทางเศรษฐกิจ บางคนอาจทำงานบริการและใช้ยาในงานหากลูกค้าต้องการให้ใช้ หรือบางคนที่เป็นผู้ขายยา หารายได้เพิ่มด้วยการให้บริการ
- ความสัมพันธ์กับคู่ ปัจจัยต่างๆ เช่น การไม่พูดเรื่องเซ็กส์ อาจทำให้ไม่สามารถบอกความต้องการหรือไม่กล้ามีเซ็กส์ในบางรูปแบบ การใช้ยาอาจช่วยลดความยับยั้งชั่งใจนั้น หรือบางคนอาจติดอยู่ในกรอบความเชื่อว่าการมีเซ็กส์กับผู้ชายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม จึงใช้ยาเพื่อกดความรู้สึกไม่ดีไว้ หรือแค่ต้องการมีเซ็กส์ได้นานขึ้น สนุกขึ้น ให้รู้สึกว่าตัวเองหรือคู่เซ็กซี่กว่าเดิม
- ความสัมพันธ์กับครอบครัว และเพื่อน กลุ่มเพื่อนที่เป็น MSM อาจส่งเสริมภาพลักษณ์ที่สังคมได้ผูกความเป็น MSM เข้ากับเซ็กส์ที่เร่าร้อนและสุดเหวี่ยง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาไม่ว่าจากการไปปาร์ตี้ หรือจากการใช้แอพหาคู่ และในความสัมพันธ์อื่น ๆ บางคนอาจไม่สามารถเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวหรือสังคมได้ จึงหนีจากกรอบและสร้างตัวตนระหว่างการใช้ chemsex
- โซเชียลมีเดีย จากพื้นที่ที่มักไม่เปิดต่อ MSM ทำให้การหาคู่ผ่านโลกออนไลน์เป็นที่นิยม และเปิดโอกาสให้เข้าถึงยาได้
Chemsex ทำอย่างไรกับร่างกาย
สารเคมีที่ใช้เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเพศนั้น มีการทำงานผ่านระบบประสาทและสมอง จึงขออธิบายที่มาที่ไปของระบบที่ตอบสนองดังนี้
1. สมอง คือ อวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย สมองทำให้เรามีความสามารถในการรับรู้จดจำ รู้สึกนึกคิด แสดงอารมณ์ และตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น เพราะสมอง คือ อวัยวะสำคัญของระบบประสาทส่วนกลางมีการหลั่งสารเคมีชนิดต่าง ๆที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (Neurotransmitters) เพื่อเป็นตัวนำสัญญาณประสาทจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์ประสาทหนึ่ง หรือเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทกับเซลล์กล้ามเนื้อ โดยการส่งสัญญาณจะเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างเซลล์เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้น การทำงานของระบบประสาทก็จะเกิดความสมบูรณ์
2. สารสื่อประสาท (Neurotransmitters)คือ สารเคมีที่ส่งสัญญาณประสาทจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์ประสาทหนึ่ง สารสื่อประสาทมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ และควบคุมระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งหากสูญเสียความสมดุลจะทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ หรือ ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน โรคอ้วน โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทเมื่อมีการกระตุ้นโดยสัญญาณประสาท ตัวส่งสารสื่อประสาทจะหลั่งสารสื่อประสาทออกมาในปริมาณที่เหมาะสมเป็นระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นสารสื่อประสาทจะถูกดูดกลับเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ ย่อยสลาย หรืออาจติดอยู่กับตัวรับเลยก็ได้ โดยสารสื่อประสาทในร่างกายมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรมบุคลิกภาพ และ ลักษณะนิสัยรวมถึง ระบบการทำงานของร่างกาย โดยมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทแต่ละชนิด รวมถึงการ มีความรักหรือความสัมพันธ์ทางเพศ และ การใช้สารเสพติด
สารสื่อประสาท | ||||
สารสื่อประสาทและหน้าที่ | สิ่งกระตุ้นทั่วไป | สารสื่อประสาทกับความสัมพันธ์ทางเพศ | หากปริมาณต่ำเกินไป | หากปริมาณมากเกินไป |
เอนโดฟิน เป็นยาระงับความปวดตามธรรมชาติ ช่วยบรรเทาความเครียด สร้างความรู้สึกเพลิดเพลินเป็นสุข เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองและมีส่วนช่วยในการควบคุมให้อยากอาหารน้อยลง | คือ การได้ทำกิจกรรมที่ชอบหรือ พึงพอใจเช่นการออกกำลังกายการเล่นดนตรี การสร้างสรรค์งานศิลปะการนวดการดูทีวี หรือการรับประทานอาหาร | การสัมผัสคนรักการแสดงความรัก หรือในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ | มีอาการซึมเศร้าวิตกกังวล หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว ปวดเมื่อย หรือนอนไม่หลับ | – |
อะดรีนาลิน ความจำเป็นต่อกระบวนการย่อยสลายดูดซึมสารอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงานสำหรับร่างกายทำให้หัวใจแข็งแรงและทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อมากขึ้นเมื่อร่างกายเกิดความเครียด | การทำกิจกรรมที่มีความท้าทายความเสี่ยง หรือมีความตื่นเต้น รวมถึงการลุ้นผลรางวัล การเล่นการพนัน | การจีบคนที่เรามีความสนใจเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ หรือเพื่อต้องการให้อีกฝ่ายตอบรับ | – | หากอะดรินาลินมีระดับผิดปกติ จะมีผลต่อความวิตกกังวล การนอนหลับ อารมณ์ ความดันเลือดสูง |
โดปามีน มีบทบาทต่อการเรียนรู้การจดจำ ทักษะต่าง ๆการนอนหลับ ระบบภูมิคุ้มกัน ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สมาธิในการทำงาน การมองโลกในแง่ดี อารมณ์ที่พึงพอใจความรู้สึกรักและยินดี รวมถึงช่วยควบคุมการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวและอารมณ์ | โดปามีนจะมีการหลั่งได้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในช่วงอายุ 12-30 ปี เนื่องจากเป็นช่วงของวัยเจริญพันธุ์การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น นม ไข่เนื้อสัตว์ หรือธัญพืชต่างๆ | ช่วงเวลาที่ถึงจุดสุดยอดของการมีเพศสัมพันธ์ | โรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า | การย้ำคิดย้ำทำอารมณ์ร้อนหรือทำให้เกิดโรคจิตเภท |
เซโรโทนิน ประมาณ 80-90% จะถูกสร้างและอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ที่เหลือจะสร้างที่สมอง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว ความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ เป็นมิตรควบคุมความรู้สึกเจ็บปวดความอยากอาหาร การนอนหลับความปรารถนาทางเพศ การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เพิ่มความดันเลือดความทรงจำและการเรียนรู้ | มีการหลั่งเองตามธรรมชาติของร่างกายและ การทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ นมไข่ถั่วเหลือง ปลาทูน่า รวมถึง การออกกำลังกาย และการรับแสงแดดอ่อนๆ | ขณะที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ของการชอบพอหลงใหล หรือตกหลุมรัก | ความเครียดวิตกกังวล อยู่ไม่สุข ไม่มีสมาธิโกรธง่ายหงุดหงิด และบางครั้งก็แสดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง อาการซึมเศร้า ไมเกรน และเกิดแนวโน้มการฒ่าตัวตายได้ รู้สึกง่วงนอนในระหว่างวันมากกว่าตอนกลางคืน ความต้องการทางเพศลดลง นอนไม่หลับ | กระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขคลื่นไส้และอาเจียนสับสนเพ้อ เห็นภาพหลอน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ มีไข้สูงมากกว่า 40 องศา กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กระตุกจนเกิดอาการชัก |
นอร์อะดรีนาลิน เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำตาลกลูโคสสู่กระแสเลือดมากขึ้นเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้สมองตื่นตัวเพื่อเพิ่มความเร็วในการตอบสนองในภาวะคับขันและ ทำให้มีสมาธิ มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายในช่วงกลางคืน และตอนตื่นนอน | มีการหลั่งเมื่อร่างกายอยู่ในสถานการณ์คับขัน ภาวะกดดัน หรือมีอันตรายและการหลั่งตามธรรมชาติในเวลากลางวันและหลั่งลดลงในเวลากลางคืน | มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายในช่วงกลางคืนและ ตอนตื่นนอน | โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้าความดันเลือดต่ำ | หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดสูงอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเกิดความรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป |
สารเสพติดและชื่อเรียกในกลุ่มผู้ใช้ยา
สารเสพติด | ชื่อเรียกในกลุ่มผู้ใช้ |
ยาไอซ์ (Methamphetamine) | ตัวใหญ่/ น้ำแข็ง /งาน/ สเก็ต/ ไฮ/ บิน |
ยาอี/ยาเลิฟ (Ecstasy)/Methylenedioxymethamphetamine (MDMA) | ขนม / อี / MDMA |
ยาบ้า (Amphetamine) | ตัวเล็ก/ ยาม้า / ม้า / สปีด |
เคตามีน (Ketamine) | เค |
ป๊อปเปอร์ (Alkyl nitrites) | ป๊อปเปอร์ |
ซาแน็กซ์ (Alprazolam) | ยาแมว / แมว / แน็กซ์ / มาโน่ |
GHB (Gamma hydroxybutyrate) | GHB |
สารเสพติดทำงานกับสมองของเราอย่างไร
สารเสพติด | ผลต่อสารสื่อประสาท |
สารเสพติดทุกชนิด | เพิ่ม เอนโดฟิน เอนโดฟินเป็นยาระงับความปวดตามธรรมชาติ ช่วยบรรเทาความเครียด สร้างความรู้สึกเพลิดเพลินเป็นสุข เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองและมีส่วนช่วยในการควบคุมให้อยากอาหารน้อยลง |
สารเสพติดทุกชนิด | อะดรีนาลีน สูงขึ้นในขณะที่กำลังรอสารเสพติดเข้าร่างกาย อะดรีนาลีนมีความจำเป็นต่อกระบวนการย่อยสลายดูดซึมสารอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาสำหรับร่างกาย ทำให้หัวใจแข็งแรงและทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อมากขึ้นเมื่อร่างกายเกิดความเครียด |
เฮโรอีน, ยาไอซ์, โคเคน, ยาอี, GHB | เพิ่ม โดปามีน โดปามีนมีบทบาทต่อการเรียนรู้การจดจำ ทักษะต่าง ๆ การนอนหลับ ระบบภูมิคุ้มกัน ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สมาธิในการทำงาน การมองโลกในแง่ดี อารมณ์ที่พึงพอใจ ความรู้สึกรักและยินดี รวมถึงช่วยควบคุมการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวและอารมณ์ |
ยาอี , ยาไอซ์ | เพิ่ม เซโรโทนิน เซโรโทนินประมาณ 80-90% จะถูกสร้างและอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ที่เหลือจะสร้างที่สมอง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก ช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว ความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ เป็นมิตร ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด ความอยากอาหาร การนอนหลับ ความปรารถนาทางเพศ การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เพิ่มความดันเลือด ความทรงจำและการเรียนรู้ |
ยาอี , ยาไอซ์ | เพิ่ม นอร์อะดรีนาลิน นอร์อะดรีนาลีนมีหน้าที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำตาลกลูโคสสู่กระแสเลือดมากขึ้น เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้สมองตื่นตัว เพื่อเพิ่มความเร็วในการตอบสนองในภาวะคับขันและ ทำให้มีสมาธิ มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายในช่วงกลางคืน และ ตอนตื่นนอน |
ผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเสพติดต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม
ยาไอซ์ (Methamphetamine)
วิธีการใช้ สูบ, ฉีด
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจมีสมาธิสดชื่น ตื่นตัว ลดความอยากอาหารไม่ง่วงนอน
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นหรือผิดปกติ ความดันเลือดสูงขึ้น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ปากแห้งและมีกลิ่นปาก เหงื่อออกมาก ระดับสายตาเปลี่ยนแปลง เสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำ กรณีหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์
กรณีใช้ด้วยวิธีการฉีด อาจเกิดการบาดเจ็บจากการฉีดที่ไม่ถูกต้อง และ มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวีและ ไวรัสตับอักเสบซี หากมีการใช้เข็มและอุปกรณ์การฉีดยาร่วมกัน รวมถึงความเสี่ยงจากการใช้ยาเกินขนาด
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
ผลจากการใช้ยา บางรายอาจพูดมากขึ้น คึกคักกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว จนอาจส่งผลรบกวนผู้อื่น และบางรายอาจคึกคะนองจนทำพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
การหยุดใช้ยา : อาจมีอาการซึมเศร้า รู้สึกวิตกกังวลอยู่ไม่สุข ไม่มีสมาธิโกรธง่ายหงุดหงิด และบางครั้งก็แสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว
ผลกระทบทางสังคม
หลังการใช้ยาไอซ์ร่างกายของผู้ใช้จะต้องการการนอนหลับเป็นระยะเวลาที่มากขึ้นเพื่อชดเชยในช่วงเวลาที่เคยอดนอน และผลจากการที่ร่างกายนำพลังงานที่สะสมไว้มาใช้ ซึ่งในกรณีนี้จะส่งผลให้ผู้ใช้ยาไอซ์ไม่สามารถหยุดพักการใช้ยาไอซ์ได้หากจำเป็นต้องกลับไปทำงาน หรืออาจส่งผลให้ไปทำงานสาย และการหลับในเวลาทำงานหรืออาจส่งผลให้ลืมกินยาต้านหรือลืมกินPrEP ได้
ยาอี/ Ecstasy (Methylenedioxymethamphetamine : MDMA)
วิธีการใช้ กิน
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ผู้ใช้รู้สึกมีความสุขสดชื่นตื่นตัว รู้สึกดีกับตัวเอง มั่นใจในตัวเอง รู้สึกไว้วางใจและพึงพอใจในผู้อื่น ต้องการเข้าสังคมหรือทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่น
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดสูง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น กล้ามเนื้อแข็งเกร็งกระตุกจนเกิดอาการชัก
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
ผลจากการใช้ยา : เกิดความรู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุขคลื่นไส้และอาเจียนสับสน เพ้อ เห็นภาพหลอน
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
หลังการใช้ หรือ การหยุดใช้ยาอี อาจส่งผลต่อความรู้สึกซึมเศร้า ไม่มั่นใจหรือไม่สนุกในการเข้าสังคม รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
GHB (Gamma hydroxybutyrate)
วิธีการใช้ กินโดยผสมเครื่องดื่ม
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกสงบ เกิดอาการเคลิ้มสุข
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาเจียน กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่ เกิดภาวะกายใจไม่สงบ และการชัก หรือการสลบ หมดสติ การใช้ยาเกินขนาดอาจจะทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากตัวยาเป็นน้ำจึงคำนวณปริมาณการใช้ได้ยาก และตัวยาที่เป็นน้ำ ก็สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วมากขึ้น
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
การหยุดใช้ยาอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า มีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
การใช้ GHB ในงานปาร์ตี้สังสรรค์ โดยเฉพาะการใช้ยาผสมเครื่องดื่มซึ่งไม่ได้ผสมยาด้วยตัวเอง อาจหมดสติและโดนล่วงละเมิดทางเพศได้
ป๊อบเปอร์ ( สารประกอบประเภท Alkyl nitrites)
วิธีการใช้ กินโดยผสมเครื่องดื่ม
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
มีผลต่อการคลายตัวของกล้ามเนื้อรวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด ,ช่องทวารหนัก , ลำคอและทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้นทันทีทั่วร่างกายจึงทำให้เกิดความรู้สึกร้อนและตื่นเต้น
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
การสูดดม : อาจทำให้เกิดรอยไหม้ ผิวหนังลอกบริเวณจมูกและปาก เยื้อบุโพรงจมูกถูกทำลายการระคายเคืองภายในลำคอ เวียนหัว
การใช้ยาในปริมาณที่มากไป : อาจส่งผลให้ความดันเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว การใช้ป๊อปเปอร์ ร่วมกับยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ : เช่น ไวอากร้า ซึ่งการออกฤทธิ์มีผลต่อการขยายตัวของหลอดเลือดเช่นเดียวกันอาจส่งผลให้ความดันเลือดลดลงอย่างรุนแรง ผู้ใช้อาจมีอาการหน้ามืดเป็นลม หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือดซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
การใช้ป๊อปเปอร์ร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ อาจส่งผลให้รู้สึกมีความสุขทางเพศลดลงเนื่องจาก ป๊อปเปอร์มีผลต่อการไหลเวียนของเลือดทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกร้อนวูบวาบ จึงรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ป๊อปเปอร์ช่วยลดความเจ็บระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
ไม่มีข้อมูล
ซาแน็กซ์ ( Xanac : Alprazolam)
วิธีการใช้ กิน
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสงบ ความวิตกกังวลลดลง มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
การใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไป ผู้ใช้อาจไม่รู้สึกตัวแต่ยังคงพูดคุยหรือทำสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นปกติโดยที่ขณะนั้นไม่รู้สึกตัวและจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือสูญเสียความทรงจำชั่วคราวมีบุคลิกที่เปลี่ยนแปลง การพูดหรือถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆและอาจเดินเซ เหมือนคนเมาเหล้า และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
หากใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน แล้วหยุดใช้ยาทันทีอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและบางรายมีอาการชักมีความรู้สึกไม่มั่นใจในการเข้าสังคม หรือ การทำสิ่งแปลกใหม่
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
การใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไป ผู้ใช้อาจไม่รู้สึกตัว แต่ยังคงพูดคุยหรือทำสิ่งต่าง ๆได้เป็นปกติ แต่อาจมีบุคลิกที่เปลี่ยนแปลงเช่น พูดมากขึ้น การพูดหรือถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆโดยจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ และ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและมีผลต่อภาพลักษณ์ทางสังคม
ยาเค (Ketamine)
วิธีการใช้ สูดดม เหมือนยานัตถุ์
ผลเชิงบวกที่ผู้ใช้คาดหวัง
ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มสลับกับมึนงงคล้ายเมาสุรา
ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
ระหว่างการออกฤทธิ์ผู้ใช้อาจมีอาการตาแข็ง ตัวแข็งเดินเซ พูดลิ้นพันกัน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดสูงขึ้น หากได้รับยาในปริมาณมากเกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการจิตเตลิดและอาละวาด รวมถึงอาจเกิดอาการชัก การใช้ยาปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้มีการมีอาการปวดแสบเวลาปัสสาวะ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีเลือดออกจากกระเพาะปัสสาวะ บางรายอาจต้องผ่าตัดเพื่อใช้กระเพาะปัสสาวะเทียม
ผลกระทบทางลบต่ออารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
การใช้ยาเคร่วมกับสารกระตุ้นประสาท เช่นยาไอซ์ ยาอี ยาบ้า ป๊อปเปอร์ อาจทำให้ชีพจรและความดันเลือดสูงขึ้น ผู้ใช้ยาอาจรู้สึกวิตกกังวลและกระวนกระวาย
พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง
ผู้ใช้มีการใช้ยาเคซ้ำๆหรือใช้ยาอย่างต่อเนื่อง หากหยุดใช้ยาอาจส่งผลให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือ ไม่คุ้นชินเมื่อทำกิจวัตรประจำวันโดยไม่ได้ใช้ยาเค รวมถึงอาจหงุดง่าย โมโหง่ายและอาจมีภาวะซึมเศร้า
ที่มา
จารุณี ศิริพันธุ์ สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ พีราณี ศุภลักษณ์,CHEMSEX 101.เรียนรู้ เข้าใจ เพื่อป้องกันและลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ Chemsex ในประเทศไทย. สนับสนุนโดย LINKAGES Thailand FHI 360