ชุดตรวจ Gen 4 มีบริการแล้วที่แคร์แมท แต่ อย่ารีบตรวจเอชไอวี ถ้า…?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราอยากรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วหรือไม่ ก็ต้องไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี ก็ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว ไม่ใช่หรือ คำตอบคือใช่ แต่อย่าลืมว่า หากเมื่อเชื้อเข้าร่างกายไปแล้ว มันใช้เวลาอีกหลายวัน กว่าชุดตรวจจะตรวจพบมัน วันนี้เรามาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวีจากการเจาะเลือด กับระยะเวลาที่ควรตรวจเลือด กันนะคะ
ผลเลือดบอกอะไรเราได้บ้าง
วิธีตรวจหาเชื้อที่ใช้ยืนยันได้ดีที่สุดคือการเจาะเส้นเลือดที่แขน เราแปรผลเลือดออกมาได้ดังนี้
ผลเลือดบวก = มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย
ผลเลือดลบ = ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ แน่ใจหรือ?
คำว่าผลเลือดบวก หมายถึง เราได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าแล้ว เป็นการยืนยันตามหลักการตรวจที่ถูกต้องทางการแพทย์ ส่วนผลเลือดลบนั้น ก็แปลว่า ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ยังไม่ชัวร์ ถ้าจะให้ชัวร์ คุณต้องพ้น วินโดว์ พีเหรียด (window period) ไปก่อน
Window period คืออะไร
คือ ช่วงเวลาที่คุณได้รับเชื้อมาแล้ว แต่ตัวภูมิคุ้นกันของร่างกาย (antibody) และตัวเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย (antigen) ยังไม่ขึ้นถึงระดับที่จะตรวจหาได้ด้วยชุดตรวจ
ระยะเวลาของ วินโดว์ พีเหรียด ขึ้นกับชนิดของชุดตรวจ
เดิมที ในสมัยที่โลกเพิ่งรู้จักเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ราวปี ค.ศ. 1983 เทคโนโลยีในการตรวจหาเชื้อในร่างกายยังไม่ดีพอ ชุดตรวจสามารถตรวจหาได้เฉพาะ antibody ของเชื้อ (แต่ไม่สามารถตรวจหาตัวเชื้อได้) ซึ่งใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์หรือ 70 วัน กว่าจะพบ HIV antibody เรียกว่าเป็นชุดตรวจแบบแรก Gen 1 (First generation) และได้พัฒนามาเรื่อยๆตามลำดับดังนี้
ชนิดของชุดตรวจ | ปีที่เริ่มใช้ (ค.ศ.) | สิ่งที่ตรวจได้ | ระยะเวลาโดยประมาณที่ตรวจพบ |
Gen 1 | 1983 | HIV antibody | 70 วัน |
Gen 2 | 1987 | HIV antibody | 42 วัน |
Gen 3 | 1991 | HIV antibody | 21 วัน |
Gen 4 | 1997 | HIV antibody, HIV antigen | 14 วัน |
Gen 5 | 2015 | HIV antibody, HIV antigen
(ลดความซับซ้อนและตรวจได้แม่นยำกว่า Gen 4) |
14 วัน |
NAT
(Nucleic acid test) |
2001 | HIV RNA | 10 วัน |
อ้างอิงจาก Clinical evaluation of BioPlex 2200 HIV Ag-Ab, an automated screening method providing discrete detection of HIV-1 p24 antigen, HIV-1 antibody, and HIV-2 antibody.
Salmona M, Delarue S, Delaugerre C, Simon F, Maylin SJ Clin Microbiol. 2014 Jan; 52(1):103-7.
ตัวอย่างการนับ window period จากชุดตรวจ Gen 3
หลังจากติดเชื้อเอชไอวีแล้ว อีกประมาณ 21 วัน ภูมิของเชื้อ (antibody) จะเริ่มปรากฏในร่างกาย ดังเส้นสีเขียวในรูปที่ 1 ดังนั้นการนับ window period สำหรับการเลือกใช้ชุดตรวจ Gen3 จึงอยู่ที่ประมาณ 21 วันหลังจากที่เรารับเชื้อมา หากเรารีบมาตรวจก่อนนั้น ก็จะตรวจไม่พบภูมิของเชื้อเลย ผลเลือดที่ได้จะเป็น ผลเลือดลบ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเราไม่ได้รับเชื้อ แต่ความจริงคือ เราได้รับเชื้อแล้ว แต่ภูมิยังไม่ทันสร้างในวันที่เรามาตรวจ เช่น มาตรวจในวันที่ 7 หลังรับเชื้อ ผลเลือดจะยังคงเป็นลบ แต่เมื่อตรวจซ้ำหลังจากนั้นอีก 14 วันขึ้นไป ผลเลือดจะเป็นบวก
รูปที่ 1 Window period หรือช่วงเวลาที่ชุดตรวจแต่ละชนิดยังไม่พบภูมิของเชื้อและตัวเชื้อเอชไอวี แหล่งอ้างอิง : https://www.grepmed.com/images/1924/infectiousdiseases-screening-diagnosis-detection-antibody
หลายคนเรียก Window period ว่า ระยะฟักตัว ?
ระยะฟักตัว คือช่วงเวลาระหว่างการสัมผัสสิ่งที่ทำให้เกิดโรค กับการปรากฏอาการของโรค ในกรณีโรคติดเชื้อ ระยะฟักตัวคือระยะเวลาที่เชื้อเพิ่มจำนวนจนถึงจุดที่จะทำให้เกิดอาการในผู้ป่วยได้ กรณีของเชื้อเอชไอวี หลังจากรับเชื้อแล้วประมาณ 14-28 วัน จะแสดงอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ทั่วไป หรือคล้ายกับอาการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น รูปที่ 2 ชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการป่วยเฉียบพลันเกิดขึ้นเพราะเชื้อเพิ่มจำนวนสูงซึ่งเป็นเวลา 14-28 วันหลังรับเชื้อนั่นเอง
รูปที่ 2 ช่วงระยะเวลาที่ผู้รับเชื้อเอชไอวีเกิดอาการป่วยเฉียบพลัน แหล่งอ้างอิง : National HIV Curriculum, https://www.hiv.uw.edu/go/screening-diagnosis/acute-recent-early-hiv/core-concept/all
บังเอิญว่า ชุดตรวจ Gen 3 ใช้เวลาประมาณ 21 วันที่จะตรวจพบ antibody และชุดตรวจ Gen 4 ใช้เวลาประมาณ 14 วันที่จะตรวจพบ p24 antigen ของเอชไอวี ซึ่งระยะเวลานี้ ผู้รับเชื้อเริ่มแสดงอาการป่วยพอดี ดังนั้นระยะเวลาของ window period จาก Gen3,Gen4 จึงใกล้เคียงกับระยะเวลาของระยะฟักตัว จนทำให้หลายคนเข้าใจว่า window period กับระยะฟักตัว มีความหมายเหมือนกันหรือเป็นคำคำเดียวกัน อาจแนะนำได้เป็นภาษาที่ง่ายๆเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สองคำนี้มีที่มาต่างกัน หากเราพูดถึงชุดตรวจ NAT ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วันจะพบเชื้อ ชุดตรวจนี้พบเชื้อก่อนที่ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยด้วยซ้ำ ดังนั้นในกรณีนี้จะบอกว่า window period เท่ากับระยะฟักตัวไม่ได้
ชุดตรวจ Gen 4 มีบริการแล้วที่แคร์แมท
ชุดตรวจ Gen 4 สามารถตรวจหาทั้ง HIV antigen (p24) และ HIV antibody ซึ่งใช้เวลาประมาณ 14 วันขึ้นไปหลังจากการรับเชื้อ อักนัยหนึ่งคือ ชุดตรวจนี้ตรวจรู้ผลแน่นอนหลังจากเมื่อผ่าน window period ไปแล้ว 14 วัน
กรณีที่คุณมีความเสี่ยง เช่นมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันเมื่อ 5 วันที่แล้ว เกิดความกังวลใจ จึงรีบมาตรวจเลือดวันนี้ เจ้าหน้าที่จะชี้แจงคุณว่ายังอยู่ใน window period (สำหรับชุดตรวจ Gen4) ผลเลือดที่ได้ในวันนี้ หากเป็นผลเลือดลบ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าคุณปลอดจากเชื้อเอชไอวี ต้องกลับมาตรวจซ้ำในอีก 9 วันขึ้นไป และในช่วง 9 วันที่กำลังรอตรวจซ้ำนี้ ต้องไม่มีความเสี่ยงใดๆ เพื่อจะได้ทราบผลเลือดที่แน่นอน
กรณีตัวอย่างที่อาจเกิดขึ้น
และมันก็มีที่ซับซ้อนกว่านั้น ! เมื่อ window period ไม่จบ สมมุติว่า คุณมีความเสี่ยงในวันที่ 1 แล้วคุณจะรอตรวจในวันที่ 15 ถือว่าพ้น window period แล้ว แต่ในวันที่ 6 คุณมีความเสี่ยงอีก คราวนี้วันที่ 15 ของคุณจะถือว่ายังอยู่ใน window period ครั้งใหม่ทันที ซึ่งคุณต้องรอไปอีก 14 วันหลังจากความเสี่ยงซ้ำครั้งนั้น นั่นก็คือหลังจากวันที่ 20 เป็นต้นไป จึงจะรู้ผลเลือดที่แน่นอน
และถ้าคุณยังควบคุมความเสี่ยงไม่ได้อีก ก็ต้องนับไปอีก 14 วันไปเรื่อยๆนั่นเอง