Testosterone (ฮอร์โมนเพศชาย) กับจุดสุดยอดของผู้ชาย
หัวข้อที่น่ารู้
1 Testosterone คืออะไร? ทำอย่างไรกับร่างกาย
2. Testosterone สร้างจากไหน
3. ระดับ Testosterone เปลี่ยนไปตามวัยอย่างไร
4. ผู้ชายมีอารมณ์ทางเพศตอนไหนเป็นพิเศษ
5. ระดับ Testosterone เมื่อมีถึงจุดสุดยอด
6. เหตุใดเมื่อถึงจุดสุดยอดแล้ว มันอ่อนปวกเปียกไประยะหนึ่ง
7. การช่วยตัวเองเกี่ยวข้องอย่างไรกับระดับ Testosterone
8. ภาวะขาด Testosterone
9. ทำอย่างไรให้ Testosterone กลับคืนมา
1. Testosterone คืออะไร? ทำอย่างไรกับร่างกาย
เป็นฮอร์โมนเพศตัวหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น Testosterone ในมนุษย์เพศชายเป็นตัวสำคัญในการสร้างและพัฒนาเนื้อเยื่อสืบพันธ์ุของผู้ชายได้แก่ อัณฑะและต่อมลูกหมาก รวมทั้งให้ร่างกายมีลักษณะความเป็นชายเช่น มีกล้าม มีมวลกระดูกที่ใหญ่หนา และมีขนดก (1,2) สูตรทางเคมีคือ C19H28O2
2. Testosterone ในร่างกาย สร้างจากไหน
ฮอร์โมนชนิดนี้สร้างได้ในร่างกายทั้งเพศชายและหญิง ในผู้ชาย Testosterone ส่วนใหญ่ผลิตจากลูกอัณฑะ ส่วนน้อยจากต่อมหมวกไต ส่วนในผู้หญิง ผลิตน้อยในรังไข่ และต่อมหมวกไต ผู้ชายวัยผู้ใหญ่มีระดับ Testosterone สูงกว่าผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ 7-8 เท่า (3)ซึ่งร่างกายผู้ชายสามารถผลิตฮอร์โมนนี้ได้มากกว่าผู้หญิงถึงวันละ 20 เท่า การผลิตแต่ละครั้งจะอยู่ในร่างกายได้นาน 4-8 ชั่วโมง (4,5)
3. ระดับ Testosterone เปลี่ยนไปตามวัยอย่างไร
ก่อนกำเนิด
Testosterone มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบอวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะ ขนาดของอัณฑะ ต่อมลูกหมากและท่อน้ำเชื้อ ในตัวอ่อนเพศชาย (ุ6)
วัยทารก
ในวัยนี้ผลของฮอร์โมนเพศชายมีผลน้อยมาก ระดับ Testosterone เพิ่มขึ้นในทารกเพศชายในหลายสัปดาห์หลังจากเกิด และยังคงระดับไปอีก 2-3 เดือน แต่เดือนที่ 4-7 เป็นต้นไประดับฮอร์โมนชายลดลงอย่างมาก ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด (7,8)
วัยเด็กก่อนเจริญพันธ์ุ
Testosterone ยังไม่มีอิทธิพลมากในเด็กเล็กจนถึงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ผลจากฮอร์โมนชายเริ่มปรากฏชัดขึ้นในทั้งเด็กชายและเด็กหญิงที่เริ่มโตขึ้น เช่นมีกลิ่นตัว ผิวมัน เป็นสิว มีขนมากขึ้น เด็กโตเริ่มมีขนอวัยวะเพศ ขนรักแร้ ขนที่หน้า เป็นต้น (9)
วัยเจริญพันธ์ุ
เด็กชายที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เริ่มมีระดับฮอร์โมนชายมากกว่าในเด็กหญิง ร่างกายเริ่มสร้างสเปิร์มในอัณฑะ อวัยวะเพศชายขยายขนาด รวมถึงคลิตอริสขยายขนาดในผู้หญิง มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น เกิดลึงค์แข็งตัวบ่อยครั้งในชาย และคลิตอริสคัดตึงในหญิง นอกจากนี้ยังทำให้รูปร่างของขากรรไกร คาง จมูกเปลี่ยนไปโดยทำงานร่วมกับ Growth hormone มีส่วนทำให้กระดูกหยุดการยืดขยาย แต่ในผู้ชายจะค่อยไปเป็นค่อยไป ในขณะที่ผู้หญิงจะหยุดสูงเร็วกว่าเนื่องจากอิทธิพลของเอสโตรเจนเป็นหลัก Testosterone ทำให้เกิดมัดกล้าม ทำให้ไหล่กว้างขึ้น เสียงห้าว ลูกกระเดือกใหญ่ ต่อมไขมันใหญ่ขึ้น ทำให้เป็นสิว หน้าเริ่มตอบลงเป็นผลจากมวลไขมันใต้ผิวหนังลดลง มีขนขึ้นที่หัวหน่าว ต้นขา หน้าแข้ง ใบหน้า หน้าอก รักแร้ (10)
วัยผู้ใหญ่ขึ้นไป
ฮอร์โมน Testosterone มีส่วนสำคัญในการสร้างสเปิร์ม เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และยังมีส่วนควบคุมกระบวนการทำงานของเกร็ดเลือดที่ส่งผลให้เลือดหยุดไหลเมื่อเกิดบาดแผล (11) ในวัยผู้ใหญ่นี้ Testosterone จึงมีความสำคัญต่อทั้งเพศหญิงและชาย ระดับของมันจะลดลงตามอายุของมนุษย์โดยเฉพาะในเพศชาย
4. ผู้ชายมีอารมณ์ทางเพศตอนไหนเป็นพิเศษ
บทนี้ขอนำเสนอรูปแบบการหลั่งของ Testosterone ในร่างกายผู้ชาย ในแต่ละวันระดับ Testosterone ในกระแสเลือดพุ่งขึ้นสูงในช่วงเช้าตรู่ และสูงสุดเวลา 8.00 น. ซึ่งส่งผลให้อวัยวะเพศชายแข็งตัว จึงเป็นที่มาของการ เคารพธงชาติ นั่นเอง การหลั่ง Testosterone เริ่มลดลงเต็มที่ในช่วงเย็นถึงหัวค่ำ ช่วงนี้ความรู้สึกทางเพศมักน้อย และเริ่มเพิ่มขึ้นอีกตอนดึก จึงไม่แปลกใจว่าผู้ชายมักอยากมีเพศสัมพันธ์ตอนกลางคืนและตอนเช้า จากภาพ (12) เป็นการตรวจวัดระดับ Testosterone ในอาสาสมัครเพศชายโดยเปรียบเทียบสองกลุ่มคือช่วงวัยหนุ่ม จำนวน 17 คน และวัยชรา จำนวน 12 คน จะเห็นว่าระดับฮอร์โมนชายลดลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่ลักษณะรูปแบบการหลั่งก็ยังคล้ายคลึงกัน
5. เมื่อผู้ชายถึงจุดสุดยอด ระดับ Testosterone เป็นอย่างไร
การทดลองเล็กๆในปี ค.ศ. 2020 จากชายสุขภาพดี 7 คน อายุเฉลี่ย 36 ปี (13) ระบุว่า ระดับฮอร์โมนจะไต่ระดับตั้งแต่ภาวะปกติ การเริ่มแข็งตัวของอวัยวะเพศ จุดไคลแมกซ์ ไปสูงสุดในขณะหลั่ง และลดลงหลังจากหลั่ง 10 นาที ในระดับที่เท่าๆกับตอนที่อวัยวะเพศแข็งตัว ดังที่แสดงในภาพ
(หน่วยเป็น ng/ml)
6. เหตุใดเมื่อถึงจุดสุดยอดแล้ว มันอ่อนปวกเปียกไประยะหนึ่ง
เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าทำไมเมื่อเสร็จกิจแล้ว เจ้าโลกของคุณจะอ่อนตัว และรู้สึกผ่อนคลายมากๆ ซึ่งก็เกิดกับผู้ชายส่วนใหญ่ ยกเว้นผู้ชายบางคนโดยเฉพาะหนุ่มแน่น ก็กลับมาแข็งตัวได้อย่างรวดเร็วเพราะมี Testosterone สูงมากๆ หรือไม่ก็อารมณ์พาไปประเภทว่า turn on สุดๆ ทีนี้มันเกิดอะไรขึ้นกับผู้มีเจ้าโลกโดยทั่วไป ตั้งแต่เริ่มเกิดอารมณ์ทางเพศ แข็งตัว เมื่อถึงจุดสุดยอดแล้ว และกลับมาอ่อนตัว มันมีสิ่งใดควบคุมร่างกายเราให้เป็นเช่นนั้น
คำตอบคือ จริงๆแล้ว Testosterone ไม่ได้มีผลมากนักในการผลักให้ร่างกายถึงจุดสุดยอด แต่เป็นการทำงานร่วมกันกับสารสื่อประสาทบางตัว ที่โดดเด่นได้แก่
Serotonin ช่วยควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และการหลั่งน้ำเชื้อ โดยทำงานร่วมกับระบบกลไกการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น
Dopamine ทำให้สมองสร้างความรู้สึกกระสันหรืออารมณ์หื่น (14) ซึ่งหลั่งในระดับสูงสุดขณะถึงจุดสุดยอด
เมื่อถึงจุดสุดยอดและหลั่งแล้ว ระดับ Dopamine จะลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีฮอร์โมนตัวหนึ่งชื่อว่า Prolactin พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและไปกด Dopamine ให้ลดลง ทำให้หมดความกำหนัดไปชั่วขณะ โดยเฉลี่ย 10-20 นาที Prolactin กระตุ้นให้สมองเกิดภาวะอิ่มเอมและผ่อนคลาย ภาวะหลังจากถึงจุดสุดยอด ยังถูกควบคุมด้วยฮอร์โมน Oxytocin และสารสื่อประสาท Endorphine อีกด้วยที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย (15)
ถึงแม้ว่า Dopamine และ Prolactin จะควบคุมความรู้สึก อารมณ์ และกลไกก่อนและหลังจุดสุดยอด แต่ทั้งสองตัวไม่ได้มีผลต่อระดับการหลั่ง Testosterone ในร่างกายแต่ประการใด (16)
7. การช่วยตัวเองเกี่ยวข้องอย่างไรกับระดับ Testosterone (17)
คุณผู้ชายทั้งหลายอาจสงสัยว่าการช่วยตัวเองหรือสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองจะส่งผลอย่างไรกับระดับ Testosterone ในร่างกาย คำตอบสั้นๆคือ ไม่ส่งผลใดๆ การช่วยตัวเองและการหลั่งน้ำเชื้อไม่ส่งผลใดหรือไม่เกิดผลเสียใดต่อระดับฮอร์โมนเพศชายในระยะยาว แต่หากขยายคำตอบออกมาจะพบว่า ในระยะสั้นนั้น มันส่งผลอยู่เหมือนกันในหลายๆประการ
นักวิจัยกล่าวว่า Testosterone เกี่ยวพันกับแรงขับทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย แต่ในผู้ชายจะเกิดขึ้นมากกว่า อันที่จริงระดับ Testosterone จะพุ่งสูงขึ้นในระหว่างสำเร็จความใคร่หรือขณะมี sex และร่วงกลับมาอยู่ในระดับปกติหลังจากถึงจุดสุดยอดแล้ว
จากการศึกษาเล็กๆในปีค.ศ. 1972 พบว่าการหลั่งอสุจิจากการช่วยตัวเองไม่มีผลอย่างเป็นนัยสำคัญ และไม่ส่งผลโดยตรงต่อระดับ Testosterone นั่นหมายความว่า ระดับของฮอร์โมนนี้ไม่ลดลงกว่าระดับปกติเมื่อยิ่งช่วยตัวเองมากขี้นบ่อยขึ้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเห็นของคนทั่วไป
การทดลองในปีค.ศ. 2001 (18) ในอาสาสมัครชาย 10 คน โดยให้อั้นการช่วยตัวเองนาน 3 สัปดาห์พบว่าระดับ Testosterone เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการทดลองปีค.ศ.2003 ในชาย 28 คน ที่ให้อั้นการช่วยตัวเอง พบว่าระดับ Testosterone พุ่งขั้นสูงอย่างรวดเร็วในช่วง 7 วันแรก (19) ซึ่งผู้ทดลองให้ความเห็นว่าประสิทธิภาพการหลั่งของผู้ชายน่าจะสูงสุดเมื่ออั้นไว้ไม่เกิน 7 วัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เมื่อระดับ Testosterone สูงขึ้นในเลือดจากการกลั้นไม่ให้หลั่ง แต่การถึงจุดสุดยอด ( orgasm ) ก็ไม่ได้ส่งผลให้ Testosterone สูงขึ้นอย่างฉับพลัน (17)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองไม่ได้ทำให้ระดับ Testosterone เปลี่ยนแปลงในระยะยาว จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ผมร่วง นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction) หรือเป็นสิวเห่อทั้งหน้าและหลัง แต่ทว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อาจส่งผลทางจิตใจซึ่งทำให้ระดับ Testosterone เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น บางคนอาจรู้สึกละอายเมื่อช่วยตัวเอง เนื่องจากภาวะสังคมที่ตนอาศัยอยู่ หรือจากแรงกดดันส่วนตัว ที่มองว่าการช่วยตัวเองเป็นเรื่องผิดจารีต ศิลธรรม หรือเท่ากับว่าไม่ศรัทธาต่อศาสนา (ในบางนิกาย บางศาสนา) ไม่ศรัทธาต่อคนรัก ความละอายนี้ร่วมกับปัญหาความสัมพันธ์ จึงส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า นำมาซึ่งระดับ Testosterone ที่ต่ำลงจน นกเขาไม่ขัน หรือ แรงขับดันทางเพศลดลง
คุณอาจช่วยตัวเองอย่างไม่สบายใจ โดยเฉพาะตอนที่คุณช่วยตัวเองบ่อยขึ้นในช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์กับแฟนหรือคู่นอน ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยากลำบาก และหากเกิดภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ก็จะส่งผลต่อระดับ Testosterone หลังจากนั้น ซึ่งปัญหาเช่นนี้อาจแก้ไขด้วยการหันมาพูดคุยกันอย่างเปิดอก และตกลงกันให้ดีถึงกิจกรรมทางเพศที่ต้องแบ่งเป็นสัดส่วน หรือให้คู่นอนช่วยพัฒนาความต้องการร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยในด้านจิตใจ ทำให้ระดับ Testosterone ไม่ลดลง
8. ภาวะขาด Testosterone ในผู้ชาย
(แชร์จากบทความ “เมื่อผู้ชายพร่องฮอร์โมน” Bumrungrad.com.th, Jan 2008. )(20)
อายุที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าสุขภาพของคุณต้องเสื่อมตามไปด้วยเสมอไป คนเคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ 40” เพราะเป็นช่วงที่ทุกอย่างแทบจะลงตัวหมดแล้ว แม้กระนั้น คุณผู้ชายหลายท่านกลับไม่รู้สึกว่าชีวิตได้เริ่มต้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามชีวิตกลับไม่น่ารื่นรมย์เอาเสียเลย
คุณรู้สึกเหนื่อยอย่างบอกไม่ถูก ไม่กระตือรือร้น หงุดหงิดโดยไม่มีเหตุผล เบื่อง่าย นอนไม่หลับ? บางครั้งแทบไม่อยากมองหน้าภรรยา เกิดผลกระทบต่อทั้งร่างกายจิตใจ อารมณ์ และสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง
อาการเหล่านี้ของคุณผู้ชายคล้ายคลึงกับอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (Menopause) หลายคนเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่าเป็น “ภาวะวัยทอง” บ้าง “ภาวะวิกฤติวัยกลางคน” บ้าง บางคนบอกว่าเป็นเรื่องของสังขาร และบางครั้งก็ยกให้เป็นเรื่องของสภาพจิตใจ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ฟังดูน่าหดหู่ใจทั้งสิ้น
แท้ที่จริงแล้วปรากฏการณ์ที่คุณกำลังเผชิญอยู่นั้นคืออะไร และคุณจะรับมือกับอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้อย่างไร ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนต่อมไร้ท่อและการเจริญพันธุ์มีคำตอบให้คุณแล้ว
เพียงเพราะคุณ “แก่ลง” แน่หรือ
เมื่อก่อนแพทย์เชื่อว่าอาการประหลาด ๆ ที่คุณผู้ชายประสบอยู่นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการแก่ชราและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ อาการเหล่านี้เท่าไรนัก แต่ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันแล้วว่าอาการเหล่านี้ มีที่มาจากการที่ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงนั่นเอง
“เมื่อก่อน พอพูดถึงอาการเหล่านี้ในผู้ชายก็ต้องมีการนำไป เทียบเคียงกับอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จึงเป็นที่มาของคำว่า Male Menopause” ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์กล่าว “แต่เมื่อมีการศึกษา กันอย่างกว้างขวางขึ้นพบว่าคำนี้ไม่ตรงกับความจริงนัก เพราะแม้จะมี อาการคล้าย ๆ กันทั้งชายและหญิงแต่สาเหตุนั้นแตกต่างกันอย่างมาก”
ภาวะ Menopause หรือภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิงเกิดจาก การที่รังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศอีกต่อไป แต่สำหรับ ผู้ชายนั้น “ไม่มีวันขาดฮอร์โมน เพียงแต่ว่าสภาวการณ์บางอย่าง ของร่างกายทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศลดลง จนเมื่อเกิดภาวะพร่อง ฮอร์โมน การทำงานและระบบต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ฮอร์โมนเพศ ก็ทำงานผิดเพี้ยนไป” ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์อธิบาย “ดังนั้นถ้าจะเรียกให้ถูก คำที่เหมาะสมน่าจะเป็น กลุ่มอาการที่เกิด จากภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone Deficiency Syndrome หรือ Androgen Deficiency of the Aging Male) หรือ Andropause ซึ่งเป็นคำที่คุ้นเคยมากกว่า”
ผู้ชายกับฮอร์โมน
เมื่อคุณผู้ชายเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนนั้นอาการที่ เกิดขึ้นจะค่อยเป็นค่อยไปไม่แสดงออกอย่างชัดเจน ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์กล่าวถึงผลกระทบของภาวะพร่องฮอร์โมนว่า “การที่ฮอร์โมนเพศต่ำลงนั้นส่งผลต่อคุณภาพ ชีวิตของผู้ชายอย่างมากทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ความคิด ความสัมพันธ์ และความเป็นอยู่
ผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนต่ำจะกระสับกระส่าย หงุดหงิด ง่าย ไม่กระฉับกระเฉง เฉื่อยชา มองโลกในแง่ร้าย กล้ามเนื้อ ลีบลง สะสมไขมันมากขึ้น นอนไม่หลับ สมองไม่เฉียบคม อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศ ลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ ขาดความมั่นใจ บางรายถึงกับ มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย”
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์อธิบายต่อว่า “การที่ฮอร์โมนลดลงนั้นคือลดลงทั้งหมด ฮอร์โมนตัวสำคัญที่เริ่มลดได้แก่ ฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งถือว่า เป็นฮอร์โมนกลางคืนตามปกติเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ฮอร์โมนนี้จะเริ่มหลั่งทำให้เรารู้สึกง่วงและเข้านอน จนไปหลับสนิทเอาตอนเวลา ประมาณเที่ยงคืน เมื่อหลับสนิท ต่อมใต้สมองจะผลิตฮอร์โมนออกมาหลายชนิด ชนิดแรกคือ Growth Hormone หรือฮอร์โมนของความเป็นหนุ่มเป็นสาว ซึ่งจะทำเราคงสภาพความเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่เสมอ
ฮอร์โมนชนิดต่อไปได้แก่ฮอร์โมนจากต่อม ธัยรอยด์ซึ่งจะเปลี่ยน อาหารให้เป็นพลังงานผู้ที่มีฮอร์โมนนี้ในปริมาณที่พอเพียง ก็จะมีพลัง ในการทำงานต่าง ๆ อย่างกระฉับกระเฉง ชนิดต่อมาคือ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมชราจากชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นสารเริ่มต้น ที่จะเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย
ชนิดสุดท้าย คือฮอร์โมนจากลูกอัณฑะ หรือ Testicular Hormone ที่เราเรียกว่า Testosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนของความเป็นชาย ความนึกคิดแบบชายตัดสินใจแน่วแน่ไม่ลังเล มองทุกอย่างด้วย
เหตุผลมองโลกในแง่ดีอารมณ์ดีฮอร์โมนเพศชายนี้เกี่ยวข้องกับความหนาของกระดูกกล้ามเนื้อ การเผาผลาญของไขมันการมีรูปร่างสมส่วนผู้ชายที่มี ฮอร์โมนเพศชายปกติจึงไม่ลงพุง กล้ามเนื้อแข็งแรง อารมณ์แจ่มใส”
ฮอร์โมนเพศชายประตูสู่สุขภาพ
ในระยะยาว การพร่องฮอร์โมน เพศชายเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่สำคัญอีกหลายประการ อาทิ โรคกระดูกบาง กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
“เวลาที่ผู้ชายมีฮอร์โมนลดลง ไขมันในร่างกายจะสูง มีการสะสม มากบริเวณรอบเอวหรือเรียกง่าย ๆ ว่าลงพุง ดังนั้น การลงพุงจึง กลายเป็นสัญญาณอันดับแรก ที่แสดงถึงการพร่องของฮอร์โมนเพศชาย คือถ้ามี เส้นรอบเอวเกินกว่า 94 เซนติเมตรในคนตะวันตก และเกินกว่า 90 เซนติเมตรในคนตะวันออก” ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์อธิบาย
ลงพุงอันตราย
ในไขมันจะมีฮอร์โมนชื่อ Leptin ฮอร์โมนตัวนี้ที่มีอยู่ในไขมันจะไป ยับยั้งต่อมใต้สมองไม่ให้หลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นผลผลิตฮอร์โมนเพศชาย ออกมา รวมทั้งยับยั้งลูกอัณฑะไม่ให้ผลิตฮอร์โมนเพศชายด้วย ดังนั้น ผู้ชายที่อ้วนลงพุงจึงพร่องฮอร์โมนเพศชายไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน เมื่ออ้วนลงพุง ก็จะมีฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งอยู่ในไขมันมากขึ้นส่งผลให้ สมดุลของฮอร์โมนเสียไป
“ลองคิดดู เมื่อเกิดภาวะอ้วนลงพุงแล้ว เราก็ไม่ค่อยอยากขยับ ทำกิจกรรมอะไรเท่าไร ไม่เคลื่อนไหว ไม่ใช้พลังงานก็มีไขมันสูง เมื่อไขมัน สูงก็ไปอุดตันที่เส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น กลายเป็น โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะผิดปกติของไขมัน ที่เรียกว่า Dyslipidemia ซึ่งได้แก่ ภาวะที่มีคอเลสเตอรอลชนิดเลวเยอะ มีคอเลสเตอรอลชนิดดีน้อย เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา
เพราะฉะนั้นผู้ชายที่เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพ ทางเพศนั้นก็เพราะ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศอุดตันทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่ดี พอสมองสั่งการให้อวัยวะเพศแข็งตัว จึงแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ เมื่อมีไขมันเยอะ ไขมันก็จะไปแทรกตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อที่อวัยวะเพศชาย เวลาแข็งตัวก็แข็งตัวได้ไม่เต็มที่อีก จะเห็นได้ว่าทั้งหมดทั้งปวงนี้เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกันไปทั้งระบบ”
ผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายพร่องส่วนมากจะมาพบ แพทย์ด้วยอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ Erectile Dysfunction ซึ่งเป็นภาวะ ที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ เล่าว่า “เมื่อมีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการ ‘นกเขาไม่ขัน’ แพทย์ก็จะตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายด้วย เพราะพบว่าผู้ชายที่มีปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะมีฮอร์โมนเพศอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นแพทย์จึงมีปรัชญาว่า ให้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศก่อน และรักษาสุขภาพที่ดี ของผู้ชายไปด้วย”
ภาวะพร่องฮอร์โมนแก้ไขได้
การให้ฮอร์โมนเพศชายเสริม มีคำกล่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศที่ หลายคนเคยเชื่อกันว่าเป็นเพราะร่างกายแก่ชราลงว่า “Getting old is natural, feeling old is optional.” หมายความว่า แม้ความแก่ชรา จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกแก่ชราไปด้วย แต่ปัจจุบัน รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทุกคนทำงานหนัก นอนดึก เครียด พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ และขาดการออก กำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เร่งให้เกิดภาวะฮอร์โมนพร่องก่อนวัย อันควรทั้งสิ้น
“เดี๋ยวนี้คนอายุ 30 กว่า ๆ ก็เริ่มมาปรึกษาหมอด้วยอาการ หย่อนสมรรถภาพทางเพศแล้ว” ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์กล่าว “ผู้ที่มีปัญหา จากภาวะพร่องฮอร์โมนนั้นจะเข้ามารับการรักษาจากหลายหน่วย บางราย มาด้วยอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ บางรายมารักษาเรื่องผมร่วง บางรายมาปรึกษาเรื่องอ้วน บางคนก็มาตรวจสุขภาพ แต่ไม่ว่าจะมาจาก หน่วยไหน เราก็ดูแบบองค์รวมอยู่แล้ว คือเรารักษาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อการมีสุขภาพที่ดี
เมื่อเรารู้แล้วว่าตัวบ่งชี้เบื้องต้น ของสุขภาพเพศชายคือเรื่องของสมรรถภาพทางเพศ เราจึงเช็ค ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับน้ำตาลในเลือด ไขมัน ภาวะต่าง ๆ ของร่างกาย ตรวจระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องทุกชนิด ต่อมลูกหมาก ดูไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยว่า เป็นอย่างไร ต้องปรับตรงไหนกันบ้าง เพราะฮอร์โมนผู้ชาย ไม่มีทางหมดเพียงแต่พร่องไป เพราะฉะนั้น เมื่อเราให้ฮอร์โมนเสริมไปสักระยะหนึ่ง ก็พบว่ามีพัฒนาการทางสุขภาพดีขึ้น น้ำหนักลดลง สดชื่นขึ้น สมรรถภาพ ทางเพศกลับมา ความสุขในชีวิตก็กลับมา”
การให้ฮอร์โมนเสริมเป็นวิธีการที่ได้ผลดีในผู้ที่ประสบกับภาวะพร่อง ฮอร์โมนส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียด ภายใต้การ ดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะในระหว่างการให้ฮอร์โมนก็ต้องมีการ ตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์เน้นว่าเรื่องของฮอร์โมนเพศชายนั้น ผู้ชายมี ความต่างจากผู้หญิง “ร่างกายของผู้หญิงหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนและไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้อีก ในกรณีของ ผู้หญิง เมื่อมาพบแพทย์จึงต้องมีการรับฮอร์โมนทดแทน
สำหรับผู้ชายนั้นแม้จะมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นจากการที่ระดับ ฮอร์โมนลดต่ำลง แต่ร่างกายไม่เคยหยุดสร้างฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้น จึงสามารถฟื้นฟูประสิทธิภาพในการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้ โดยแพทย์ จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อกระตุ้นการสร้าง ฮอร์โมนให้กลับเป็นปกติอีกครั้ง ในกรณีที่เป็นไปได้ แต่ในผู้ชายสูงวัย ที่มีการพร่องฮอร์โมนเพศชายแน่นอน ก็จะมีการให้ฮอร์โมนเพศชาย เสริมต่อเนื่อง”
และวิธีการในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างฮอร์โมนอย่างปกตินั้นไม่ใช่ วิธีการแปลกใหม่แต่อย่างใด ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์แนะนำวิธีการปฏิบัติตัว เพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนตามธรรมชาติดังต่อไปนี้ *เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำเพื่อให้แน่ใจว่าคุณหลับสนิทได้ตอนประมาณเที่ยงคืน *ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นฮอร์โมนนี้ ต่างจากการออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพตามปกติ (30 นาที) กล่าวคือ ต้องทำอย่างน้อยวันละ 45 นาที หรือ 300 นาทีต่อสัปดาห์ *เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ *สุดท้าย สำคัญที่สุดคือ ต้องคิดบวก มองทุกอย่างในแง่ดี จะได้ไม่เกิดภาวะซึมเศร้าซึ่งอาจทำให้คุณนอนไม่หลับได้
ปัญหาเรื่องการพร่องฮอร์โมนเพศชายนั้นมาจากรูปแบบการใช้ชีวิต เป็นสำคัญ และสามารถเยียวยาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการ ดำเนินชีวิต ควบคู่ไปกับการดูแลอย่างดีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อให้วัย 40 ของคุณเป็นการเริ่มต้นของความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดี ดังคำกล่าวจอร์จ เบิร์นที่ว่า “วัยที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่คุณ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแก่ลงไปตามวัยด้วย”
9. ทำอย่างไรให้ testosterone กลับคืนมา (21)
1. ออกกำลังกายด้วยวิธี Weight training
การออกกำลังกายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งในการเพิ่มฮอร์โมนเพศในผู้ชาย
มีงานวิจัยในผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินเป็นโรคอ้วน (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่มาจากระดับฮอร์โมนที่ลดลง) ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอให้ประโยชน์ได้มากกว่าอาหารลดน้ำหนัก ส่วนวิธีการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับการเพิ่มฮอร์โมนเพศก็คือ การฝึกด้วยแรงต้าน เช่นการยกน้ำหนัก (Weight Training)
2. การลดความเครียด
ผลการวิจัยถึงอันตรายของความเครียดที่สัมพันธ์กับการลดลงของฮอร์โมนเพศชาย สรุปได้ว่าเมื่อเกิดอาการเครียดระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนเครียดจะสูงขึ้น และเมื่อการเพิ่มขึ้นของคอร์ติซอลที่มากผิดปกติจะไปลดฮอร์โมนเพศชายให้ต่ำลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเป็นสองเท่า อีกทั้งฮอร์โมนเครียด ยังมีผลต่อจิตใจ และแสดงอาการไปถึงสมรรถภาพทางเพศ และความต้องการในเรื่องเพศที่ลดลง ดังนั้นเมื่อเราไม่เครียด ฮอร์โมนเพศชายก็จะไม่ถูกกระตุ้นให้ลดต่ำลง ซึ่งถือเป็นการชะลอปัญหาและยืดฮอร์โมนเพศชายให้สมดุลยาวนานยิ่งขึ้น
3. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
แนะนำให้พักผ่อนในแต่ละวันให้ได้ 6-8 ชั่วโมง ถึงจะเรียกว่าเป็นการพักผ่อนอย่างเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ และส่งผลดีต่อฮอร์โมนเพศชาย
มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาพบว่าการนอนหลับเพียง 5 ชั่วโมงต่อคืนบ่อยครั้ง มีความสัมพันธ์กับการลดระดับฮอร์โมนเพศชายถึง 15% และในทางกลับกันการนอนหลับ 7-10 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำจะช่วยให้ฮอร์โมนเพศชาย testosterone เพิ่มกลับมาในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ถึงแม้ในชีวิตประจำวันการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ถึงอย่างไรการควบคุมเรื่องการบริโภคอาหารบางประเภทก็มีส่วนช่วยรักษาสมดุลและเพิ่มฮอร์โมนเพศได้เช่นกัน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นลดปริมาณของการบริโภคของมัน ของหวาน ของเค็ม เลือกรับประทานธัญพืชที่ไม่ขัดสี รวมทั้งผักและผลไม้ให้มากขึ้น
5. รับประทานอาหารเสริม วิตามิน และแร่ธาตุ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รู้จักเสริมสารอาหารที่สำคัญต่อฮอร์โมนเพศชาย ด้วยการรับประทานวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดในรูปแบบอาหารเสริม
ในการศึกษาของมหาวิทยาลัย Western Washington University พบกว่าแร่ธาตุสังกะสี และแมกนีเซียมสามารถช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศได้ตามธรรมชาติถึง 43.7% และช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อได้ถึง 2.5 เท่า ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ชายที่ชอบออกกำลังกายอย่างยิ่ง
ไม่เพียงเท่านั้นสารอาหารอย่างซีลิเนียม (Selenium) ยังจำเป็นเช่นกัน เพราะสามารถช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย และเพิ่มจำนวนอสุจิ นอกจากนี้ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ จะทำงานร่วมกับสารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระตัวอื่นๆ เช่น วิตามินอี วิตามินซี เบต้าแคโรทีน เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ช่วยชะลอวัย และยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังให้ประโยชน์กับผู้ชายที่ชอบออกกำลังกายในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นกีฬา ช่วยให้การฟื้นตัวของกล้ามเนื้อเป็นไปได้เร็วขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลดอาการบาดเจ็บระหว่างออกกำลังกายอีกด้วย
สารอาหารที่สำคัญในการสำหรับคุณผู้ชายอย่าง แอล-คาร์นิทีน (L-Carnitine) ก็จำเป็นไม่แพ้กัน ซึ่งจะทำหน้าที่ลำเลียงโมเลกุลไขมันขนาดเล็กเข้าไปใช้ในเซลล์ เพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงานกับร่างกาย ซึ่งถ้าร่างกายได้รับสารอาหารนี้ ไม่เพียงพอการเผาผลาญก็จะทำงานลดลง เสี่ยงที่จะมีโอกาสสะสมของชั้นไขมันบริเวณหน้าทองกลายเป็นผู้ชายอ้วนลงพุง และมีโอกาสอาจเกิดไขมันสะสมตามหลอดเลือด เป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันและความดันโลหิตสูงตามมา
ส่วนสารอาหารที่จำเป็นประเภทสุดท้าย ที่ผู้ชายที่กำลังประสบปัญหาฮอร์โมนเพศชายลด จำเป็นต้องมีอย่างเพียงพอก็คือ กลุ่มวิตามินบี ซึ่งเป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความสดชื่นและเพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้กับร่างกาย ส่งผลให้สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. เลิกสูบบุหรี่ และลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ มักจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ชายไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สองพฤติกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อ ปอด หัวใจ หลอดเลือด และอวัยวะภายในที่สำคัญของร่างกายเท่านั้น การลดต่ำลงอย่างน่าตกใจของฮอร์โมนเพศในผู้ชายก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการลด ละ เลิก พฤติกรรมทำลายสุขภาพนี้ มีส่วนช่วยอย่างยิ่งที่ทำให้ฮอร์โมนเพศกลับคืนมาเป็นปกติ และยังช่วยชะลอการลดลงอย่างผิดปกติได้ด้วย
‘นิโคติน’ ในบุหรี่ คือสารพิษร้ายแรงที่มีผลต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ลดลง และยังไปทำให้เกิดการรวมตัวของกรดไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดเล็ก ๆ ที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศเสียไป ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวน้อยลงหรือไม่แข็งตัว นอกจากนี้สารพิษในบุหรี่อีกหลายชนิดยังส่งผลต่อความแข็งแรงและจำนวนของอสุจิที่ลดลงด้วย
การดื่มแอลกอฮอล์ก็เช่นเดียวกัน หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเพศที่ร่างกายจะผลิตได้น้อยลง ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ จำนวนอสุจิลดลงและไม่แข็งแรง รวมถึงเส้นผมหลุดร่วงได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. “Understanding the risks of performance-enhancing drugs”. Mayo Clinic. Retrieved December 30, 2019.
2. Mooradian AD, Morley JE, Korenman SG (February 1987). “Biological actions of androgens”. Endocrine Reviews. 8 (1): 1–28. doi:10.1210/edrv-8-1-1. PMID 3549275.
3. Torjesen PA, Sandnes L (March 2004). “Serum testosterone in women as measured by an automated immunoassay and a RIA”. Clinical Chemistry. 50 (3): 678, author reply 678–9. doi:10.1373/clinchem.2003.027565. PMID 14981046.
4. Southren AL, Gordon GG, Tochimoto S, Pinzon G, Lane DR, Stypulkowski W (May 1967). “Mean plasma concentration, metabolic clearance and basal plasma production rates of testosterone in normal young men and women using a constant infusion procedure: effect of time of day and plasma concentration on the metabolic clearance rate of testosterone”. The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. 27 (5): 686–94. doi:10.1210/jcem-27-5-686. PMID 6025472.
5. Southren AL, Tochimoto S, Carmody NC, Isurugi K (November 1965). “Plasma production rates of testosterone in normal adult men and women and in patients with the syndrome of feminizing testes”. The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. 25 (11): 1441–50. doi:10.1210/jcem-25-11-1441. PMID 5843701.
- Swaab DF, Garcia-Falgueras A (2009). “Sexual differentiation of the human brain in relation to gender identity and sexual orientation”. Functional Neurology. 24(1): 17–28. PMID 19403051.
- Forest MG, Cathiard AM, Bertrand JA (July 1973). “Evidence of testicular activity in early infancy”. The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. 37 (1): 148–51. doi:10.1210/jcem-37-1-148. PMID 4715291.
- Corbier P, Edwards DA, Roffi J (1992). “The neonatal testosterone surge: a comparative study”. Archives Internationales de Physiologie, de Biochimie et de Biophysique. 100 (2): 127–31. doi:10.3109/13813459209035274. PMID 1379488.
- Kalat JW (2009). “Reproductive behaviors”. Biological psychology. Belmont, Calif: Wadsworth, Cengage Learning. p. 321. ISBN 978-0-495-60300-9.
- Pinyerd B, Zipf WB (2005). “Puberty-timing is everything!”. Journal of Pediatric Nursing. 20 (2): 75–82. doi:10.1016/j.pedn.2004.12.011. PMID 15815567.
- Ajayi AA, Mathur R, Halushka PV (June 1995). “Testosterone increases human platelet thromboxane A2 receptor density and aggregation responses”. Circulation. 91 (11): 2742–7. doi:10.1161/01.CIR.91.11.2742. PMID 7758179.
- Bremner, WJ, Vitiello, MV, Prinz, PN, J Clin Endocrinol Metab 1983; 56:1278.
- Yoshitomo K. et al.”Serum Testosterone level rises drastically at the moment of ejaculation”. American Urological Association Education and Reserach. Jurnal of Urology.April,2020. https://doi.org/10.1097/JU.0000000000000964.013
- Krüger TH, Hartmann U, Schedlowski M. Prolactinergic and dopaminergic mechanisms underlying sexual arousal and orgasm in humans.World J Urol (2005)
- Exton MS, Krüger TH, Koch M, et al. (April 2001). “Coitus-induced orgasm stimulates prolactin secretion in healthy subjects”. Psychoneuroendocrinology. 26(3): 287–94. doi:10.1016/S0306-4530(00)00053-6. PMID 11166491. S2CID 21416299.
- Kamal Patel, Dec 13, 2017, https://examine.com/nutrition/does-ejaculation-affect-testosterone-levels/
- Joseph Brito III, MD, What’s the connection between masturbation and testosterone. October 19,2020. https://www.healthline.com/health/masturbation-and-testosterone#takeaway
- Jiang M, et al. “A research on the relationship between ejaculation and serum testosterone level in men”.J Zhejiang Univ Sci (2003).Mar-Apr 2003;4(2):236-40. doi: 10.1631/jzus.2003.0236.
- Exton MS, et al. “Endocrine response to masturbation-induced orgasm in healthy men following a 3-week sexual abstinence”.World J Urol(2001), Nov;19(5):377-82. doi: 10.1007/s003450100222.
- https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/january2008/andropause-understanding-and-treating-men-mid
- https://www.megawecare.co.th/content/5334/how-to-6-ways-boost-testosterone-ฮอร์โมนชาย.