เพศสภาพกับการเลือกปฏิบัติทางการเมือง
ในโอกาส Pride month 2022 นี้ ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQI++ แคร์แมทขอแชร์เนื้อหาที่จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนสิทธิและเสรีภาพของชาว LGBTQI+ เมื่อมองเข้าไปลึกๆแล้ว พบว่า ในกลุ่มเราเองก็ยังมีความหลากหลายและมีปัญหา ความต้องการต่างกัน ตามบริบทของอัตลักษณ์ที่ต่างกัน
คุณ ฮั้ว ณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศ เป็นตัวแทนหนึ่งที่จะส่งเสียงให้เราทราบถึงปัญหาของ LGBTQI+ ในมิติทางการเมือง ติดตามลิ้งค์วิดิโอ ในรายการหักมุมการเมือง EP 11 ข้อความบทสัมภาษณ์ได้เลยค่ะ
https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=1367909923690907
เพศสภาพกับการเลือกปฏิบัติทางการเมือง
รายการหักมุมการเมือง EP.11
แขกรับเชิญ : คุณ ฮั้ว ณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศ
ผู้สัมภาษณ์ : ดร. สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET)
ก่อนเข้าสู่เนื้อหา เราต้องทำความรู้จักก่อน “โครงการ ส่งเสริมสุขภาวะ และลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย (Transgender Health Access Thailand : T-HAT)” คืออะไร การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของคุณ ณชเล หรือ น้องฮั้ว ที่ทำมาอย่างไรบ้าง ทำอะไรมาบ้าง ?
ตอนนี้ทำงานโครงการ T-HAT เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เป็นโครงการสองปี เป้าหมายสุดท้ายที่เราอยากเห็นคือ ภาครัฐให้ความสำคัญการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดสิทธิในเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพของข้ามเพศค่ะ ส่วนตัวเคยอยู่อเมริกา ภาครัฐคุ้มครอง จ่ายเงินให้คนข้ามเพศ เช่นการใช้ฮอร์โมน แปลงเพศ หรือศัลยกรรมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงร่างกายให้ใกล้เคียงกับเพศหรือสำนึกเพศของคนๆนั้นนะคะ ทำไมอเมริกาจ่ายค่าเหล่านี้ให้เราได้ ซึ่งในฐานะที่เราเสียภาษี ทำไมประเทศไทยทำไม่ได้ พอกลับมาเมืองไทย เลยอยากพัฒนาโครงการในด้านนี้ค่ะ
ก่อนหน้าที่จะทำงานนี้ ก็เคยทำงานในหลายประเด็น เช่น เอชไอวี การเข้าถึงเครื่องมือป้องกันเอชไอวี สิทธิมนุษยชนของ LGBTQNI+ นอกจากนี้ก็เป็นคณะกรรมการมูลนิธิ หลายที่ เช่น มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นประธานมูลนิซิสเซอร์ หญิงข้ามเพศในพัทยา ด้วยค่ะ นอกจากโครงการของ สสส. ยังมีโครงการที่ทำร่วมกับสถานทูตอเมริกา ทำเพื่อน้องๆเยวชนที่เป็น LGBT เร็วๆนี้ในวันที่ 11 มิ.ย. 65 นี้ก็จะมีงานที่สถานทูตนะคะ ชื่อว่า Youth pride มีธีมในปีนี้คือ อิสรภาพและความยุตธรรม ก็อยากเชิญชวนนะคะ ให้สังคมไทยได้รู้ว่าเรามีตัวตน ซึ่งการเรียกร้องเรื่องอัตลักษณ์ เรื่องตัวตนก็ถือว่าเป็นเรื่องการเมืองค่ะ
จากที่ทำงานมานาน น้องฮั้วมองว่า ปัญหาสำคัญเรื่องอัตลักษณ์ของเพศสภาพ ในประเทศไทยมีอะไรบ้าง ?
ต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนว่า อัตลักษณ์ทางเพศ เป็นเรื่องการเมืองแน่นอน การที่เราถูกเห็น ให้รู้ว่ามีตัวตน เป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับคนที่เป็น LGBT ปัญหาหนึ่ง คือนักการเมืองหลายท่านรวมถึงคนที่ทำงานประเด็นนี้ มักใช้คำว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคำคำนี้มันลดทอนการมีตัวตนของบุคคลที่มีความหลากหลาย คือจะเหมารวมว่า บุคคลหลากหลายทางเพศมีความต้องการคล้ายกัน มีปัญหาเดียวกัน อยากผลักดันนโยบายเหมือนๆกัน แต่ถ้าเราดูลึกเข้าไปจริงๆ มันมีคนหลายกลุ่มมากๆเลยที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น เกย์ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ ในคนข้ามเพศก็มี หญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศอีก คนเป็นไบเซ็กชวล และอื่นๆอีกที่สังคมไทยยังไม่รู้จัก ในภาคการเมืองของเรา จะเห็นว่าคนที่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับเรา ก็มักมีอัตลักษณ์ทางเพศที่เป็นผู้ชายโดยกำเนิด ส่วนใหญ่ก็คือผู้ชาย กลุ่มของหญิงรักหญิงก็มักจะถูกทำให้หายไป คนก็เลยไม่เห็น และไม่เกิดนโยบายที่มาส่งเสริมความเฉพาะ หรือความต้องการเฉพาะของกลุ่มนั้น มันจึงเป็นเรืองสำคัญที่จะทำให้แต่ละกลุ่มถูกมองเห็น ต้องมีพื้นที่ให้เขาได้พูด จะได้รู้ว่ามีปัญหาอย่างไร เพื่อที่จะออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของคนแต่ละกลุ่มได้อย่างไรเพราะแต่ละกลุ่มก็ต้องการไม่เหมือนกัน
นโยบายไหนที่แสดงว่าเป็นการเหมารวม ?
ต้องบอกว่า นโยบายที่มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่มีค่ะ อย่างที่ทราบกันว่า สมรสเท่าเทียมก็ถูกปัดตกไป มีพรรคการเมืองพยายามที่จนำเรื่องนี้เข้าสู่สภาก็ไม่สำเร็จ ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นสวรรค์ของ LGBT แต่ความจริง แม้ว่าในสังคมก็โอบรับอยู่บ้าง แต่กฎหมายหรือนโยบายด้านสิทธิของ LGBT มีน้อยมาก ประเทศไทยก็ยังคงต้องทำงานนี้อีกนาน ก็อยากจะฝากความหวังไว้กับนักการเมืองที่เห็นความสำคัญที่จะออกแบบนโยบายคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพคนหลากหลายเพศ
ขอตอบคำถามที่ว่า ทำไมถึงไม่ควรเหมารวมว่าเรามีความต้องการที่คล้ายกัน และเลือกใช้คำแค่ว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ขอยกตัวอย่างเรื่องสุขภาพ การใช้ฮอร์โมน การแปลงเพศ การข้ามเพศ เป็นปัญหาหลัก ในขณะที่คนที่เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างกายให้ตรงกับเพศสำนึกของตนเอง ฉะนั้นคนข้ามเพศจึงมีปัญหาสำคัญในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าทำไมถึงไม่ควรเหมารวมมองว่าปัญหาของ LGBT เป็นปัญหาก้อนเดียว ควรถูกมองให้เป็นปัญหาเฉพาะเจาะจงตามอัตลักษณ์ทางเพศของคนคนนั้นค่ะ
น้องฮั้ว ทำให้เราเห็นภาพของ Trans ได้ชัดมากและรู้ว่าปัญหาคืออะไร อันนี้เป็นปัญหาการให้บริการทางสุขภาพ แล้วทางการเมืองล่ะ ?
แน่นอนว่า ในเมื่อเราไม่มองเห็นความหลากหลายที่แท้จริงของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การเรียกร้องสิทธิก็จำกัดใช่ไหมคะ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมามีการกระตุ้น เติบโต และเบิกบานของสิทธิ เราเห็นว่าพรรคการเมืองหลายพรรคพูดถึง และพยายามออกแบบนโยบายที่โอบรับ แต่ยังติดกรอบที่มองความหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ตรงนี้คิดว่ายังคงเป็นปัญหา ในทางการเมือง ตัวแทนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังน้อยมากๆ บางประเทศเราเห็น รัฐมนตรีที่เป็น LGTB เช่นไต้หวันเป็นต้น แต่ในประเทศไทยต้องตั้งคำถามนะคะว่า เรามีประชากร LGBT มากมาย แต่ทำไมยังไม่มีใครได้รับโอกาสในรัฐสภา คำถามมี 2 ประเด็นค่ะ คือ 1. ทำไมถึงมี LGBT ในรัฐสภาน้อยมาก นับคนได้และอัตลักษณ์ยังไม่หลากหลาย 2.ทำไมรัฐสภายังไม่มีพื้นที่ให้ LGBT หรือพวกเขาอาจจะเป็นอยู่แล้วแต่ไม่กล้าเพราะกลัวไม่มีพื้นที่ ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง ก็คือมองเป็นสองส่วนแล้วกัน คือนโยบายที่ไม่สร้างความปลอดภัยที่ทำให้คนเป็น LGBT ได้เปิดเผยตัวเอง ในขณะเดียวกัน ยังไม่มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ LGBT เดินเข้าสู่ภาคการเมือง อันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ค่ะ
มีข้อเสนออะไรในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายต่อภาคใหญ่ของกระบวนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.รวมไปถึงเลือกตั้งทั่วประเทศที่เราหวังว่าเกิดขึ้นในอนาคต ?
มี 2-3นโยบายที่รู้สึกว่าสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดความผาสุก ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่เป็น LGBT มีอัตลักษณ์ทับซ้อนหลากหลาย ไม่ได้มีเฉพาะชนชั้นกลาง ยังมี LGBT ที่เป็นคนจน คนพิการ ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ก็จะออกแบบแต่นโยบายที่รองรับแค่ชนชั้นกลาง ในขณะที่คนพิการที่เป็น LGBT ยังเจอการเลือกปฏิบัติเป็นสองเท่า (Double discrimination) อีกเรื่องคือ การส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิค่ะ ก็มี พ.ร.บ.ความเสมอภาคระหว่างเพศ กลุ่ม LGBT ก็ใช้กลไกนี้เรียกร้องสิทธิ แต่ก็ยังไม่เฉพาะเจาะจงให้กับ LGBT งานวิจัยหลายงานชี้ให้เห็นว่า LBGT ยังมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการหางานทำ ดังนั้น นโยบายที่สำคัญคือการโอบรับคน LGBT ที่อยู่ในภาคธุรกิจ ภาคเศรษฐกิจ ต้องชัดเจน และมอบพื้นที่ให้ได้งานทำ และไม่เลือกปฏิบัติ
และยังมีเรื่อง กฎหมายสมรถเท่าเทียม ประเทศอื่นทำได้ ทำไมเรายังทำไม่ได้ หลายประเทศมีแล้ว มันเป็นเทรนด์แล้ว ในเอเชียก็มีหลายประเทศ ซึ่งไทยประชากรมากมาย เมื่อเรียกร้องสิทธิ ก็ถูกตั้งคำถามจากภาครัฐว่า Trans มีทั้งหมดกี่คน คือยากจะถามกลับว่า มันเป็นหน้าที่ของเราไหมที่จะไปหาจำนวน เราไม่มีทรัพยากรที่จะทำได้ ภาครัฐต่างหากที่ต้องหาจำนวน ถ้าจริงใจจริงๆที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เราเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ มันทำได้ มีหลายประเทศเช่น ที่แคนาดา ก็มีแบบสำรวจสำมะโนประชากรที่อัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ใช่ชายหญิง
คำถามสำคัญคือ มันมีอะไรคะที่ทำให้ประเทศไทยหรือการเมืองไทย ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่โอบรับ ส่งเสริม คุ้มครอง สนับสนุน สิทธิของ LGBT อย่างแท้จริง ? Action ที่สำคัญมากๆคือ การปฏิบัติจริง เราอยากได้ความชัดเจนตรงนี้ค่ะ
กลายเป็นว่าถูกผลักภาระให้เราสำรวจ นี่ไม่ใช่แค่ LGBT แต่กลุ่มคนพิการ คนจน ต่างๆก็เจอแบบเดียวกัน แบบสำรวจก็มีให้เลือกแค่เพศ ชาย / หญิง รัฐทำได้ ก็แค่ปรับอะไรนิดหน่อย
น้องฮั้วมีข้อเสนอของเครือข่าย LGBTI ต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อะไรบ้าง ?
เราคิดว่า กทม.เป็นเมืองยุทธศาสตร์เรื่องการขับเคลื่อน เป็นต้นแบบของอะไรหลายๆอย่าง ที่อยากเห็นคือ เป็นต้นแบบเรื่องการบริการสุขภาพที่ไม่เลือกปฏิบัติกับ LGBT จริงๆแล้วใน กทม.มีคลินิกมากมายที่ให้บริการเฉพาะ เช่น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รามาธิบดี สามารถเป็นต้นแบบได้สำหรับคลินิกในต่างจังหวัด เราคิดว่าสิ่งนี้สำคัญ อยากให้พัฒนาเป็น Model ให้ต่างจังหวัดมาศึกษาดูงาน และเผยแพร่ Model นี้ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนทั่วประเทศค่ะ
อีกเรื่องคือการคุ้มครอง ส่งเสริม สิทธิ LGBT ต้องชัดเจน อย่าพูดว่าเราคุ้มครองสิทธิของคนทุกคน แต่ในความเป็นจริง LGBT ถูกลืม ไม่เคยได้เลย ในวาทกรรมที่ว่า “คนทุกคน” “คนทุกเพศ” ฉะนั้นมันต้องชัดเจน เกิดการส่งเสริมสิทธิอย่างแท้จริง
กทม. มี LGBT ในภาคธุรกิจจำนวนมาก สำคัญมากๆ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญที่ drive เศรษฐกิจของกทม. ต้องเห็นนโยบายที่ชัดเจนที่จะให้คนเหล่านี้เข้าสู่การจ้างงาน ในขณะเดียวกัน การศึกษาก็สำคัญเพราะเราทำงานกับเยาวชน เป็นกระบวนการแรกเลยที่ให้คนเรียนรู้ว่า LGBT คือใคร การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในดรงเรียนก็สำคัญ เด็กนักเรียนที่เป็น LGBT มักถูกบูลลี่ เมื่อได้ที่ปลอดภัยก็จะไม่ถูกเบียดขับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เขาในภายภาคหน้าในการหางานทำ
ขอทิ้งท้ายหน่อยค่ะ เรื่อง LGBT ที่มี IN+
I ( Intersex) คือคนที่ลักษณะทางโครโมโซม หรือทางร่างกายมีสองเพศ อาจมีโครโมโซมเป็น XXY, XXX เป็นต้น
N ( Non binary) คือคนที่ไม่นิยามตนเองว่าเป็นเพศใด ไม่เป็นชาย ไม่เป็นหญิง
อีกกลุ่มคือ A อยากจะเสนอ 2 A นะคะ
A แรก คือ Asexual อีก A คือ Alliance หมายถึง พันธมิตร เรามักจะคัดผู้มีเพศกำเนิดเป็นชาย/หญิง (ชายแท้ หญิงแท้) ออกไป จริงๆแล้วกลุ่มนี้ก็สำคัญ อย่าแยกออกจากชุมชนเพราะเราก็คือมนุษย์เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาทำงานเรื่องสิทธิ คนที่จะเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้เราได้อีกคือ คนที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงโดยกำเนิดนี่แหละค่ะ ที่สามารถเข้าร่วมผลักดันนโยบายที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับคนที่เป็น LGBT อย่าเอาตัวเองออกไปเพราะคำว่า “หลากหลายทางเพศ” ก็รวมเอาคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกันค่ะ