"ชายเป็นใหญ่" กดทับ LGBTQ+
ระบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย (Patriarchy) เป็นคำที่ใช้อธิบายระบบสังคมที่เอื้อให้เพศชาย หรือ ‘ความเป็นชาย’ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร เช่น พ่อ สามี ลูกชายที่มีสิทธิมีอำนาจเหนือเพศอื่น หรือแนวคิดที่เพศชายเป็นศูนย์กลางของสังคมเป็นผู้นำ ระบบนี้จะมอบอำนาจและโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ให้กับความเป็น ‘ชาย’ มากกว่าเพศอื่นๆ
แม้ว่าชื่อของระบบที่ครอบโลกนี้ไว้คือ ‘ชายเป็นใหญ่’ แต่ทุกเพศทุกวัยก็สามารถรับวิธีคิดแบบจู๋เป็นเจ้าโลกมาปรับใช้ได้เหมือนกัน (ทั้งรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) เช่น ผู้หญิงที่สวมบทบาทเป็นตำรวจศีลธรรม คอยจับตาตรวจสอบว่าผู้หญิงด้วยกันเองแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยหรือเปล่า เป็นกุลสตรีไหม เป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นภรรยาที่ดีของสามีหรือไม่ และส่งต่อความคิดเป็นลูกสาวต้องทำงานบ้าน เกย์ไม่ชอบกะเทยเพราะมองว่าสาวกว่า ไม่ชอบเกย์ที่ออกสาวกว่าตัวเอง หรือเป็นเกย์ต้องแมนๆ ไปกันแบบรุ่นสู่รุ่น
LGBTQ ในสถาบันชาติที่เป็นรัฐผู้ชาย
อันเนื่องจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เพศสภาพของชายรักต่างเพศถูกยกให้มีคุณค่าความหมายสูงกว่า ถูกทำให้กลายเป็นสถาบันหลักๆ เช่น ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ครอบครัว ศาล ทหาร การทูต รัฐจึงกลายเป็น ‘รัฐผู้ชาย’ (male state) ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ส่งสารรับใช้หรือเป็นตัวแทนของระบบปิตาธิปไตย และก่อตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์เฉพาะผู้ชายรักต่างเพศมากกว่า และรัฐด้วยตัวของมันเองคือผู้กดขี่ในฐานะโครงสร้างอำนาจแบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงและเพศสภาพอื่นๆ กลายเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย คนชายขอบที่โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรน้อยกว่า และถูกให้คุณค่าความหมายต่ำกว่า
สถาบันเช่นนี้ไม่เพียงสร้างโครงสร้างที่เอื้อให้เพศชายมีอำนาจบทบาทเหนือเพศอื่นๆ แต่ยังแยกชายรักต่างเพศออกจากผู้หญิงและชายรักเพศเดียวกัน เป็นพื้นที่สังคมที่มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมเป็นสังคมชายล้วน หรือแม้ว่าต่อมาจะเริ่มมีสมาชิกหญิงหรือเกย์แฝงเข้ามาแต่ก็ยังจะคงเป็นสถาบันในนามของผู้ชายรักต่างเพศ นำไปสู่การสร้างชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมในรูปแบบที่สร้างความชอบธรรมให้มีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงและรวมไปถึงชายรักเพศเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นโครงสร้างในทุกๆ วัฒนธรรมบนพื้นที่สาธารณะ
ยิ่งไปกว่านั้น การรวมกลุ่มเป็นสังคมผู้ชายก็เกิดมาจากความหวาดกลัวและรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน โดยทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘homosexual panic’ ซึ่งแท้จริงเป็นเพียงข้ออ้างหรือคำแก้ตัวของผู้ที่รังเกียจคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย ที่ใช้ในการป้องกันตนเองจากข้อกล่าวหาทั้งทางกฎหมายหรือสังคม เพื่อให้ได้รับบทลงโทษน้อยลงจากการโจมตีทำร้ายใช้ความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกัน หรือเพื่อไม่ให้ถูกโจมตีคุกคามกลับ เป็นความหวาดกลัวอันเกิดจากความไม่มั่นคงในเพศสภาพและสถานะ ‘ความเป็นชาย’ ของตนเอง หรือเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจส่วนบุคคล
ศาสนาจากรากเหง้าชายเป็นใหญ่ มีมุมมองอย่างไรต่อ LGBTQ
“ไม่ตรงเพศสภาพกำเนิด = บาป”
เมื่อความหลากหลายทางเพศถูกมองเป็นเรื่องผิดหลักศาสนา ถูกอ้างด้วยศีลธรรมอันดี
“กฎหมายใดก็ตามที่ตราขึ้นมาแล้วขัดหรือแย้งกับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมีการถือปฏิบัติมาแล้ว 1,400 กว่าปี และไม่มีการแก้ไขแล้ว เราไม่สามารถที่จะรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อที่ 7 ให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สามารถรับผู้เยาว์ได้”
ซูการ์โน มะทา ส.ส.จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ อภิปรายตอนหนึ่งถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมตินัดพิจารณาว่าจะรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 หรือที่เรียกกันว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่มีเนื้อหาสำคัญหลักๆ คือการเปลี่ยนข้อความในกฎหมายที่ระบุว่า ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ สามารถสมรสกันได้ เปลี่ยนเป็น ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ สามารถสมรสกันได้ รวมถึงการเปลี่ยนคำว่า ‘สามีและภรรยา’ ให้เหลือเพียงแค่ ‘คู่สมรส’ และกฎหมายฉบับนี้จะทำให้คู่สมรสทุกคู่มีสิทธิขอรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกถึงหลักการทางศาสนาต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า การที่บุคคลหนึ่งไม่ตรงเพศสภาพกำเนิดถือเป็นสิ่งแปลก ผิดธรรมชาติ หรือเป็นบาป เช่น อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งขณะรับร่างอภิปราย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างของกระทรวงยุติธรรม เพราะมีการจำกัดว่าคู่ชีวิตต้องเป็นเรื่องระหว่างเพศเดียวกันเท่านั้น และคู่สมรสต้องเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น เพราะเป็นหลักธรรมชาติ การแต่งงานของเพศอื่นจึงไม่ใช่หลักธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องปกติ จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษบังคับใช้ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของกระทรวงยุติธรรม
คัมภีร์อัลกุรอานระบุว่า เพศสัมพันธ์คือของขวัญจากพระเจ้า ควรจะเกิดขึ้นระหว่างการสมรสของชายกับหญิงเท่านั้น อิสลามจึงไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศเพราะเห็นว่าผิดธรรมชาติและไม่เป็นไปตามประประสงค์ของพระเจ้า
คัมภีร์ไบเบิล มีบัญญัติหลายข้อที่กล่าวว่าการรักร่วมเพศ = บาป การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นบาป การใช้เครื่องแต่งกายของเพศตรงข้ามเป็นที่พึงรังเกียจแด่พระเจ้า
แม้ว่าพระไตรปิฎกจะไม่มีบัญญัติไหนเขียนว่าการเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นบาป หรือการไม่ตรงเพศสภาพกำเนิดเป็นสิ่งขัดต่อหลักคำสอนแบบตรงๆ แต่ศาสนาพุทธได้ส่งต่อชุดความคิดที่ว่าการเป็นเกย์ ทอม ดี้ เป็นบุคคลที่ทำบาปในชาติที่แล้ว
คนที่เกิดและมีเพศตรงกับสภาพกำเนิดนั้น ชาติที่แล้วเป็นชายที่รักษาศีลข้อที่ 3 ไม่เจ้าชู้ไม่ผิดลูกเมีย ส่วนผู้หญิงชาติที่แล้วทำบุญมาเหมือนผู้ชาย แต่ในอดีตชาติเคยผิดศีลกาเม สุมิจฉาจาร จึงเกิดมาเป็นเพศหญิง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าทางพุทธศาสนามีการเหยียด ‘ทุกเพศ’ โดยอาจตีความได้ว่า การที่ไม่ได้เกิดมาเป็นเพศชายหรือเพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิด คือการทำบาปทำกรรมมามากว่าเพศชาย และคนที่เกิดมาเป็นเพศชายนั้นชาติที่แล้วทำบุญมามากเป็นผู้บริสุทธ์
การรังเกียจเพศเดียวกันในพุทธศาสนาไม่แตกต่างจากศาสนาในตะวันตก แต่พุทธศาสนานั้นรังเกียจผู้หญิงอย่างมาก และถูกทำให้ถูกต้องผ่านคำสอนในพุทศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การรังเกียจเพศหญิง แต่อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับผู้หญิงหรือมีลักษณะแนวโน้มไปทางผู้หญิงก็จะถูกรังเกียจด้วย ดังนั้น เกย์บางคนที่มีลักษณะเหมือนผู้หญิงก็จะถูกรังเกียจหรือเลือกปฏิบัติไปด้วย
เพศหลากหลายหรือชายเป็นใหญ่? ในสื่อบันเทิง
จากบทความเรื่อง “ภาพจำของซีรีส์วายในประเทศไทย: เมื่อความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏบทหน้าจอ” โดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น (2564) ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการสำรวจซีรีส์วายไทยที่ออกอากาศในปี 2020 และต้นปี 2021 ของ Rocket Media Lab บนแพลตฟอร์มไลน์ทีวี ทั้งหมด 13 เรื่อง พบว่าเกือบทั้งหมดยังคงเสนอภาพของชายตรงเพศ (Straight) ที่รักกัน และทั้ง 100% จะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ดูมีความเป็นชายมากกว่าอีกฝ่าย ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาที่มีแต่ความเกี่ยวข้องกับเพศชายนั้นสร้างภาพจำให้คนดูยึดติดว่านักแสดงจะต้องเป็นชายตรงเพศเท่านั้น การนำเอานักแสดงที่อยู่ในกลุ่มชายรักชายมาเล่นซีรีส์วายกลับกลายเป็นเรื่องที่ผิดแปลก และนับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกกีดกันให้กลายเป็นคนชายขอบ หรือหากเป็นตัวละครที่มีลักษณะอ่อนหวาน (Feminine) ก็อาจได้รับบทบาทสำคัญในเรื่อง แต่ก็ต้องถูกนำเสนอในลักษณะเป็นตัวตลก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ล้วนแต่สะท้อนชุดความคิดที่ผู้ชายต้องเป็นใหญ่เท่านั้น
แม้จะมีจุดขายเรื่องความรักชาย-ชาย แต่สิ่งที่ซีรีส์วายอาจทำได้ คือการไม่ละทิ้งกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไว้ข้างหลัง หรือเลือกนำเสนอเพียงนักแสดงที่เป็น ‘สเตรต’ (Straight) เท่านั้น เพราะการบอกเล่าเรื่องราวจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจริง ๆ อาจสร้างการขับเคลื่อนและความเสมอภาคทางสังคมได้ดีกว่า หรือการพูดคุยอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ ที่มากกว่าชาย-ชาย ที่อยู่ในสังคมเช่นเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
LGBT เป็นคำที่หลาย ๆ คนรู้จัก แต่แท้ที่จริงแล้วนิยามความหมายของคนหลากหลายทางเพศไม่ได้มีเพียงแค่นั้น แต่ยังรวมไปถึง QIAN+ แล้วทำไมซีรีส์ไทยถึงให้ความสำคัญแค่ความรักของชาย–ชายเท่านั้น ในเมื่อยังมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มากกว่าความรักชาย–ชาย
แหล่งอ้างอิง