พังผืดในปอด หลังหายโควิด (Post โควิด-19 pulmonary fibrosis) กับสมุนไพรไทย
ผู้เขียน: ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้ผู้อ่านมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะพังผืดปอดหลังหายจากโควิด
2.เพื่อให้ผู้อ่านทราบข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรไทยที่คาดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงของการเกิดพังผืดที่ปอด
บทคัดย่อ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 สิ่งที่ตามมาคือผู้ที่หายจากการติดเชื้อบางรายอาจจะมีอาการหลงเหลือ ตั้งแต่อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจลำบากจนถึงการเกิดพังผืดในปอด ซึ่งการเกิดพังผืดในปอด (Post โควิด-19 pulmonary fibrosis) พบได้บ่อยในผู้ที่ติดเชื้อรุนแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจนของยาที่ใช้รักษาพังผืดในปอดหลังหายโควิด ทำให้ทั่วโลกต่างศึกษาวิจัยพิสูจน์ประสิทธิภาพยาซึ่งรวมทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ในต่างประเทศมีงานวิจัยที่น่าสนใจของบัวบกและขมิ้นชัน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายในไทยที่คาดว่าอาจมีบทบาทในการนำมาประยุกต์ใช้ในผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงของการเกิดพังผืดในปอด
คำสำคัญ พังผืดในปอด, โควิด-19, สมุนไพรไทย, pulmonary fibrosis, post covid-19, Thai herb
บทนำ
ปอดเป็นอวัยวะสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการถูกโจมตีจากเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เนื่องจากตัวรับ Angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) receptor พบมากที่ปอด ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากมีอาการไม่รุนแรงสามารถฟื้นตัวและใช้ชีวิตเป็นปกติได้หลังออกจากโรงพยาบาล แต่ผู้ติดเชื้อบางรายปอดอักเสบรุนแรง เนื้อเยื่อปอดเสียหาย จนนำไปสู่การเกิดพังผืดในปอด (pulmonary fibrosis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรังที่ปอด
พยาธิสภาพของการเกิดพังพืดปอดหลังหายโควิด
จากการสร้างไฟโบรลาสต์ (fibroblast) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเมทริกซ์ที่อยู่นอกเซลล์ (extracellular matrix) จนมีปริมาณมากเกินไป ประกอบกับสารก่ออักเสบและไซโตไคน์จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเกิดพังผืดที่ปอด ทำให้เนื้อเยื่อปอดตายและถูกแทนที่ด้วยพังผืดปอดจึงไม่สามารถแลกเปลี่ยนและหมุนเวียนออกซิเจนให้ร่างกายได้อย่างเพียงพอ [1] ภาวะพังผืดปอดสามารถเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากภาวะที่ตามมา คือ การเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome : ARDS) [2]
จากการศึกษาพบว่า 90% หลังหายป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ออกแรงหนักไม่ค่อยได้ เพราะจะเหนื่อย เนื้อเยื่อปอดเสียหาย แต่ผู้ป่วยราว 50% ปอดที่เสียหายฟื้นฟูให้ดีขึ้นภายใน 6 เดือน ในขณะที่ผู้ป่วยบางส่วนอาจใช้เวลานานกว่านั้นและมีผู้ป่วยราว 10% ที่พบว่าปอดยังเสียหายจากพังผืด โดยอัตราการเกิดพังผืดปอดในผู้ป่วยโควิด-19 จะสัมพันธ์กับความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยพบสูงถึง 71% ในผู้ที่มีการติดเชื้อรุนแรง [1]
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งเสริมการเกิดพังผืดในปอด เช่น อายุมาก โรคร่วมอย่างความดัน เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ เม็ดเลือดขาวต่ำหรือสูง การอยู่ ICU เป็นเวลานาน การใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีประวัติสูบบุหรี่ พังผืดปอดมีผลรบกวนคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก เหนื่อย ไอเรื้อรัง โดยมักจะไอแบบไม่มีเสมหะ (dry or non-productive cough) [2]
การใช้ยาเพื่อรักษาการเกิดพังผืดปอดหลังหายโควิด
ถึงแม้ว่าคำว่า “พังผืด” ที่ใช้อธิบายลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อปอด อาจฟังดูเหมือนว่าภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างถาวร แต่ปัจจุบันยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนว่าภาวะพังผืดปอด ที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 จะหมดหนทางรักษา เนื่องจากโดยปกติแล้วเซลล์ปอดมีความสามารถที่จะฟื้นฟูได้ตามกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายแต่กระบวนการดังกล่าวอาจไม่สมบูรณ์ เป้าหมายสำคัญของการรักษาจึงอาจอยู่ที่การหยุดยั้งกระบวนการอักเสบและการส่งเสริมกระบวนการเยียวยาของเซลล์ปอด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะพังผืดปอด แต่หากเกิดพังผืดขึ้นแล้วยาจะมีบทบาทในการชะลอการเพิ่มขึ้นของพังผืด พังผืดปอดหลังหายจากโรคโควิด-19 เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาให้หายขาดและยังขาดทางเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพ [1,2] ในอดีต USFDA ได้อนุมัติยา 2 ชนิดสำหรับรักษาโรคพังผืดที่ปอดไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic pulmonary fibrosis: IPF) คือ ยานินเทดานิบ (Nintedanib) และ ยาเพอร์เฟนิโดน (Pirfenidone)
ปัจจุบันมีงานวิจัยนำมาใช้ในภาวะพังผืดปอดหลังหายจากโรคโควิด-19 ออกฤทธิ์ต้านการเกิดพังผืด ยาทั้งสองชนิดนี้ต้องระวังการใช้ในผู้ที่ตับมีปัญหาและอาจเพิ่มโอกาสเกิดเลือดออกในผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ยา Nintedanib ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ถั่วลิสงหรือถั่วเหลือง ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ myocardial infarction ภายในระยะเวลา 6 เดือน หรือมีอาการของ unstable angina ภายในระยะเวลา 1 เดือน ยา Pirfenidone ห้ามใช้ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย หรือผู้ที่ต้องล้างไต [1,3]
ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นยาอีกกลุ่มที่พบการใช้ เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) พบงานวิจัยในหนูทดลองว่าช่วยชะลอความเสี่ยงของการเกิดพังผืดปอดหลังหายจากโรคโควิด-19 มีเคสรายงานการใช้เพรดนิโซน (Tapering prednisone from 40 mg) ติดตามอาการ 1 เดือน ช่วยทำให้อาการทางคลินิกดีขึ้นเล็กน้อย (ลดการใช้ออกซิเจนที่บ้าน และผลภาพถ่ายรังสีปอดดีขึ้น) [4] ปัจจุบัน มีการศึกษาแบบ RCT ที่ใช้เพรดนิโซโลนขนาดต่ำ 20 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ (ยังไม่ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษา) [1] มีหลักฐานพบว่าการใช้ยาต้านการเกิดพังผืดปอดรวมถึงยาต้านอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์อย่าง Prednisolone ภายในสัปดาห์แรกที่พบภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน อาจช่วยชะลอการเกิดภาวะพังผืดที่ปอดได้ [2]
สมุนไพรกับการรักษาพังพืดปอดหลังหายโควิด
นอกจากยาแผนปัจจุบันแล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยสนับสนุนการใช้สมุนไพรในผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศจีนที่มียาสมุนไพรหลากหลายตำรับ โดยใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันพบว่าให้ผลการรักษาที่ดี โดยอาศัยฤทธิ์ต้านไวรัส ต้านอักเสบ เป็นหลัก สำหรับตำรับยาสมุนไพรจีนที่มีข้อมูลงานวิจัยพบฤทธิ์ต้านการพังผืดในปอด คือ ตำรับที่มีชื่อว่า Jingyin Granule ซึ่งประกอบไปด้วยสมุนไพรจีน 9 ชนิด บางชนิดอาจไม่มีชื่อเรียกในไทย แต่ขอยกตัวอย่างสมุนไพรในตำรับนี้ ที่คนไทยอาจรู้จัก เช่น ดอกสายน้ำผึ้ง พลูคาว รากชะเอมเทศ โดยข้อมูลงานวิจัยพบสารออกฤทธิ์สำคัญในตำรับนี้ คือ arctigenin, quercetin, luteolin, kaempferol, rutin, gallic acid, chlorogenic acid ที่พบฤทธิ์ต้านการเกิดพังผืดปอด ผ่านกลไกต้านอักเสบ ซึ่งข้อมูลนี้อาจนำไปประยุกต์ใช้เลือกหาสมุนไพรไทย ที่พบสารสำคัญดังกล่าวได้ ในรูปแบบของอาหาร ในการดูแลสุขภาพปอด เช่น สาร quercetin พบได้ในหัวหอม ข่า ตะไคร้ กระชาย พริก สะเดา มะรุม, สาร kaempferol พบในกระชาย ผักหวานบ้าน ผักชี, สาร luteolin พบในพริก หัวหอม [5-6]
บัวบก
งานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจคือการใช้สมุนไพรเพื่อช่วยสมานแผลที่ปอดและชะลอการเกิดพังผืดที่ปอดหลังหายโควิด-19 (Slow Down the Progression of Pulmonary Fibrosis and Improve Post-COVID-19 Lung Healing) โดยใช้สารสกัดจากเปลือกสนฝรั่งเศส ชื่อการค้า “พิกโนจีนอล (Pycnogenol®)” ในขนาด 150 มิลลิกรัมต่อวัน (ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง) ร่วมกับสารสกัดบัวบก ชื่อการค้า “เซนเทลลิคุม (Centellicum®)” 675 มิลลิกรัมต่อวัน (ครั้งละ 225 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง) เป็นเวลา 8 เดือน ร่วมกับยามาตรฐาน Pirfenidone 2,403 มิลลิกรัมต่อวัน (ครั้งละ 801 มิลลิกรัม แบ่งให้ 3 ครั้ง) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ยา Pirfenidone เพียงอย่างเดียว ในอาสาสมัคร 19 รายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพังผืดที่ปอดหลังหายโควิด-19 โดยมีความรุนแรงของอาการด้วยการใช้แบบประเมินสภาวะของผู้ป่วย (Karnofsky performance scale index) ในระดับคะแนน 60-80 คือสามารถทำกิจกรรมได้แต่ต้องให้ความพยายามเพิ่มขึ้น มีอาการหรืออาการแสดงของโรคบางอย่างจนถึงต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่สามารถดูแลตัวเองได้ จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเปลือกสนฝรั่งเศสช่วยลดการบวมของเนื้อเยื่อปอดในขณะที่สารสกัดบัวบกช่วยปรับปรุงการสร้างคอลลาเจนและชะลอการเกิดแผลเป็นและพังผืดที่ปอด สารสกัดทั้งสองมีฤทธิ์คล้ายคลึงกัน ในเรื่องช่วยทำให้การหมุนเวียนเลือดดีขึ้น ซึ่งมีผลดีต่อการกระบวนการแลกเปลี่ยนแก๊สของปอด เสริมภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และสารสกัดบัวบกจะมีฤทธิ์โดดเด่นในการสมานแผล หลังติดตามครบ 8 เดือน กลุ่มที่ได้สารสกัดเปลือกสนฝรั่งเศสและสารสกัดบัวบกมีระดับสารอนุมูลอิสระลดลงอย่างชัดเจน (oxidative stress) อาการทางคลินิก เช่น เหนื่อย ปวดกล้ามเนื้อ และการใช้ยาสเตียรอยด์ (Rescue medication) น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเริ่มเห็นผลตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังได้รับสารสกัดรอยโรคที่ปอดคงที่หรือดีขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเปลือกสนฝรั่งเศสและสารสกัดบัวบก ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่พบการเปลี่ยนแปลงอีกทั้งกลุ่มที่ได้สารสกัดเปลือกสนฝรั่งเศสและสารสกัดบัวบก ยังไม่พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ [7]
ขมิ้นชัน
ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรไทยอีกตัวหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบฤทธิ์ต้านพังผืดที่ปอดในโมเดลหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดพังผืดปอดจากการติดเชื้อไวรัส หรือจากยา Bleomycin โดยสารออกฤทธิ์สำคัญคือ สารเคอร์คูมิน อาจได้ประโยชน์ในการนำมาใช้ลดการเกิดพังผืดปอดหลังหายจากโรคโควิด-19 โดยมีฤทธิ์โดดเด่นในด้านต้านการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน กลไกของสารเคอร์คูมินในการต้านพังผืดที่ปอด พบว่าช่วยลดการแสดงของโปรตีน TGF-β (potent pro-fibrogenic properties) เพิ่มการแสดงออกของเอนไซม์ cathepsins K และ cathepsins L ที่มีส่วนช่วยสลายคอลลาเจนในการสร้างพังผืดที่ปอด (matrix degradation) ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ชะลอการสร้างคอลลาเจนและลดการสะสมคอลลาเจนในเนื้อเยื่อปอดจากการอักเสบ รวมถึงช่วยลดการหลั่งสารสื่ออักเสบ (NF-kB, TNF-α, MMP-2, MMP-9 และ IFN-ɣ) และไซโตไคน์หลายชนิด (เช่น IL-1 และ IL-6) ที่นำไปสู่การเกิดพังผืดที่ปอด [8-9]
ในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลได้ประกาศสมุนไพร “Champion Products” Quick Win 4 ชนิด ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำและไพลเพื่อพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเพราะทั้งบัวบกและขมิ้นชันเป็นสมุนไพรไทยที่ใช้มาอย่างยาวนานในมนุษย์ เป็นทั้งยาและอาหาร หาง่ายในเมืองไทย ราคาไม่แพง คนไทยนิยมใช้บัวบกเป็นเครื่องดื่มแก้ช้ำใน แก้ร้อนใน หรือรับประทานเป็นผักเคียงกับน้ำพริกหรือผัดไทยเป็นประจำวันละ 5-10 ใบ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัวบกเป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้ช้ำใน ชนิดชง กินครั้งละ 2 – 4 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร การศึกษาทางคลินิกพบขนาดการใช้สารสกัดบัวบกวันละ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน ในผู้สูงอายุที่มีภาวะถดถอยทางสมองเล็กน้อย พบว่าปลอดภัย ผลข้างเคียงของบัวบกอาจมีผลลดความดันโลหิตในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะระวังการใช้ขนาดสูง หรือต่อเนื่องในรายที่มีความดันโลหิตต่ำอยู่แล้ว มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะบ่อย [10]
ขมิ้นชันในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นยาบรรเทาอาการแน่น จุกเสียด ท้องอืดและท้องเฟ้อ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัมถึง 1 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอนโดยมีรายงานขนาดการใช้สูงถึง 12 กรัมต่อวัน นาน 3 เดือน พบว่าปลอดภัย [11] ข้อห้ามใช้คือผู้ที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตัน ข้อควรระวังคือนิ่วในถุงน้ำดี อาจปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เนื่องจากผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีบางรายรับประทานขมิ้นชันแล้วให้ผลดีเรื่องการย่อยอาหารขับลม กรณีตัดถุงน้ำดีแล้วรับประทานขมิ้นชันได้ ทั้งขมิ้นชันและบัวบก ควรระวังการใช้ในผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟารินเพราะอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก
สรุป
พังผืดในปอดหลังจากหายจากการติดเชื้อโควิด-19 (Post โควิด-19 pulmonary fibrosis) อาจพบได้ไม่บ่อย แต่เป็นภาวะที่หากเกิดขึ้นแล้วถือว่าส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยอย่างมาก ในภาวะที่ยังขาดแนวทางการรักษาที่ชัดเจน การมีหลักฐานงานวิจัยเบื้องต้นของสมุนไพรไทยอย่างบัวบก ที่โดดเด่นด้านการสมานแผล ขมิ้นชัน ที่มีฤทธิ์โดดเด่นด้านต้านอักเสบ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งให้ผู้ป่วย ในแง่การใช้เชิงส่งเสริมสุขภาพ เช่น การใช้ในรูปแบบอาหาร เนื่องจากอย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าหากใช้สารสกัดบัวบกเดี่ยวๆ หรือการใช้ขมิ้นชัน ซึ่งยังมีงานวิจัยในระดับเซลล์และหนูทดลอง ในผู้ป่วยพังผืดปอดจะให้ประสิทธิภาพการรักษาที่ดีหรือไม่ ยังคงต้องมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติมในเรื่องของขนาดของสารสกัด และระยะเวลาในการใช้
เอกสารอ้างอิง
รับชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง ฟรี! กับแคร์แมทสิครับ
มาแล้ว บริการชุดตรวจเอชไอวี ด้วยตนเอง
เพียงเจาะปลายนิ้ว
รู้ผลภายใน 1 นาที
สนใจ สั่งจองได้ที่ 094-6297666
หมายเหตุ รับชุดตรวจ ฟรี! สำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย/สาวประเภทสอง หรือผู้ประกอบอาชีพเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี
ชุดตรวจ อินสติ (Insti) คืออะไร คุณสมบัติอย่างไร วิธีใช้อย่างไร?
คลิกที่นี่
ขั้นตอนการใช้ชุดตรวจ
การอ่านผล
มารับฟังเสียงสะท้อนจากองค์กรชุมชน เพื่อยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ ไม่ว่ากับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี คนข้ามเพศ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ระบบบริการสุขภาพ
และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างเท่าเทียม #ZeroDiscriminationDay #ZeroDiscrimination
ชุดตรวจ Gen 4 มีบริการแล้วที่แคร์แมท แต่ อย่ารีบตรวจเอชไอวี ถ้า…?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราอยากรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วหรือไม่ ก็ต้องไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี ก็ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว ไม่ใช่หรือ คำตอบคือใช่ แต่อย่าลืมว่า หากเมื่อเชื้อเข้าร่างกายไปแล้ว มันใช้เวลาอีกหลายวัน กว่าชุดตรวจจะตรวจพบมัน วันนี้เรามาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวีจากการเจาะเลือด กับระยะเวลาที่ควรตรวจเลือด กันนะคะ
ผลเลือดบอกอะไรเราได้บ้าง
วิธีตรวจหาเชื้อที่ใช้ยืนยันได้ดีที่สุดคือการเจาะเส้นเลือดที่แขน เราแปรผลเลือดออกมาได้ดังนี้
ผลเลือดบวก = มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย
ผลเลือดลบ = ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ แน่ใจหรือ?
คำว่าผลเลือดบวก หมายถึง เราได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าแล้ว เป็นการยืนยันตามหลักการตรวจที่ถูกต้องทางการแพทย์ ส่วนผลเลือดลบนั้น ก็แปลว่า ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ยังไม่ชัวร์ ถ้าจะให้ชัวร์ คุณต้องพ้น วินโดว์ พีเหรียด (window period) ไปก่อน
Window period คืออะไร
คือ ช่วงเวลาที่คุณได้รับเชื้อมาแล้ว แต่ตัวภูมิคุ้นกันของร่างกาย (antibody) และตัวเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย (antigen) ยังไม่ขึ้นถึงระดับที่จะตรวจหาได้ด้วยชุดตรวจ
ระยะเวลาของ วินโดว์ พีเหรียด ขึ้นกับชนิดของชุดตรวจ
เดิมที ในสมัยที่โลกเพิ่งรู้จักเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ราวปี ค.ศ. 1983 เทคโนโลยีในการตรวจหาเชื้อในร่างกายยังไม่ดีพอ ชุดตรวจสามารถตรวจหาได้เฉพาะ antibody ของเชื้อ (แต่ไม่สามารถตรวจหาตัวเชื้อได้) ซึ่งใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์หรือ 70 วัน กว่าจะพบ HIV antibody เรียกว่าเป็นชุดตรวจแบบแรก Gen 1 (First generation) และได้พัฒนามาเรื่อยๆตามลำดับดังนี้
ชนิดของชุดตรวจ | ปีที่เริ่มใช้ (ค.ศ.) | สิ่งที่ตรวจได้ | ระยะเวลาโดยประมาณที่ตรวจพบ |
Gen 1 | 1983 | HIV antibody | 70 วัน |
Gen 2 | 1987 | HIV antibody | 42 วัน |
Gen 3 | 1991 | HIV antibody | 21 วัน |
Gen 4 | 1997 | HIV antibody, HIV antigen | 14 วัน |
Gen 5 | 2015 | HIV antibody, HIV antigen
(ลดความซับซ้อนและตรวจได้แม่นยำกว่า Gen 4) |
14 วัน |
NAT
(Nucleic acid test) |
2001 | HIV RNA | 10 วัน |
อ้างอิงจาก Clinical evaluation of BioPlex 2200 HIV Ag-Ab, an automated screening method providing discrete detection of HIV-1 p24 antigen, HIV-1 antibody, and HIV-2 antibody.
Salmona M, Delarue S, Delaugerre C, Simon F, Maylin SJ Clin Microbiol. 2014 Jan; 52(1):103-7.
ตัวอย่างการนับ window period จากชุดตรวจ Gen 3
หลังจากติดเชื้อเอชไอวีแล้ว อีกประมาณ 21 วัน ภูมิของเชื้อ (antibody) จะเริ่มปรากฏในร่างกาย ดังเส้นสีเขียวในรูปที่ 1 ดังนั้นการนับ window period สำหรับการเลือกใช้ชุดตรวจ Gen3 จึงอยู่ที่ประมาณ 21 วันหลังจากที่เรารับเชื้อมา หากเรารีบมาตรวจก่อนนั้น ก็จะตรวจไม่พบภูมิของเชื้อเลย ผลเลือดที่ได้จะเป็น ผลเลือดลบ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเราไม่ได้รับเชื้อ แต่ความจริงคือ เราได้รับเชื้อแล้ว แต่ภูมิยังไม่ทันสร้างในวันที่เรามาตรวจ เช่น มาตรวจในวันที่ 7 หลังรับเชื้อ ผลเลือดจะยังคงเป็นลบ แต่เมื่อตรวจซ้ำหลังจากนั้นอีก 14 วันขึ้นไป ผลเลือดจะเป็นบวก
รูปที่ 1 Window period หรือช่วงเวลาที่ชุดตรวจแต่ละชนิดยังไม่พบภูมิของเชื้อและตัวเชื้อเอชไอวี แหล่งอ้างอิง : https://www.grepmed.com/images/1924/infectiousdiseases-screening-diagnosis-detection-antibody
หลายคนเรียก Window period ว่า ระยะฟักตัว ?
ระยะฟักตัว คือช่วงเวลาระหว่างการสัมผัสสิ่งที่ทำให้เกิดโรค กับการปรากฏอาการของโรค ในกรณีโรคติดเชื้อ ระยะฟักตัวคือระยะเวลาที่เชื้อเพิ่มจำนวนจนถึงจุดที่จะทำให้เกิดอาการในผู้ป่วยได้ กรณีของเชื้อเอชไอวี หลังจากรับเชื้อแล้วประมาณ 14-28 วัน จะแสดงอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ทั่วไป หรือคล้ายกับอาการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น รูปที่ 2 ชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการป่วยเฉียบพลันเกิดขึ้นเพราะเชื้อเพิ่มจำนวนสูงซึ่งเป็นเวลา 14-28 วันหลังรับเชื้อนั่นเอง
รูปที่ 2 ช่วงระยะเวลาที่ผู้รับเชื้อเอชไอวีเกิดอาการป่วยเฉียบพลัน แหล่งอ้างอิง : National HIV Curriculum, https://www.hiv.uw.edu/go/screening-diagnosis/acute-recent-early-hiv/core-concept/all
บังเอิญว่า ชุดตรวจ Gen 3 ใช้เวลาประมาณ 21 วันที่จะตรวจพบ antibody และชุดตรวจ Gen 4 ใช้เวลาประมาณ 14 วันที่จะตรวจพบ p24 antigen ของเอชไอวี ซึ่งระยะเวลานี้ ผู้รับเชื้อเริ่มแสดงอาการป่วยพอดี ดังนั้นระยะเวลาของ window period จาก Gen3,Gen4 จึงใกล้เคียงกับระยะเวลาของระยะฟักตัว จนทำให้หลายคนเข้าใจว่า window period กับระยะฟักตัว มีความหมายเหมือนกันหรือเป็นคำคำเดียวกัน อาจแนะนำได้เป็นภาษาที่ง่ายๆเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สองคำนี้มีที่มาต่างกัน หากเราพูดถึงชุดตรวจ NAT ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วันจะพบเชื้อ ชุดตรวจนี้พบเชื้อก่อนที่ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยด้วยซ้ำ ดังนั้นในกรณีนี้จะบอกว่า window period เท่ากับระยะฟักตัวไม่ได้
ชุดตรวจ Gen 4 มีบริการแล้วที่แคร์แมท
ชุดตรวจ Gen 4 สามารถตรวจหาทั้ง HIV antigen (p24) และ HIV antibody ซึ่งใช้เวลาประมาณ 14 วันขึ้นไปหลังจากการรับเชื้อ อักนัยหนึ่งคือ ชุดตรวจนี้ตรวจรู้ผลแน่นอนหลังจากเมื่อผ่าน window period ไปแล้ว 14 วัน
กรณีที่คุณมีความเสี่ยง เช่นมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันเมื่อ 5 วันที่แล้ว เกิดความกังวลใจ จึงรีบมาตรวจเลือดวันนี้ เจ้าหน้าที่จะชี้แจงคุณว่ายังอยู่ใน window period (สำหรับชุดตรวจ Gen4) ผลเลือดที่ได้ในวันนี้ หากเป็นผลเลือดลบ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าคุณปลอดจากเชื้อเอชไอวี ต้องกลับมาตรวจซ้ำในอีก 9 วันขึ้นไป และในช่วง 9 วันที่กำลังรอตรวจซ้ำนี้ ต้องไม่มีความเสี่ยงใดๆ เพื่อจะได้ทราบผลเลือดที่แน่นอน
กรณีตัวอย่างที่อาจเกิดขึ้น
และมันก็มีที่ซับซ้อนกว่านั้น ! เมื่อ window period ไม่จบ สมมุติว่า คุณมีความเสี่ยงในวันที่ 1 แล้วคุณจะรอตรวจในวันที่ 15 ถือว่าพ้น window period แล้ว แต่ในวันที่ 6 คุณมีความเสี่ยงอีก คราวนี้วันที่ 15 ของคุณจะถือว่ายังอยู่ใน window period ครั้งใหม่ทันที ซึ่งคุณต้องรอไปอีก 14 วันหลังจากความเสี่ยงซ้ำครั้งนั้น นั่นก็คือหลังจากวันที่ 20 เป็นต้นไป จึงจะรู้ผลเลือดที่แน่นอน
และถ้าคุณยังควบคุมความเสี่ยงไม่ได้อีก ก็ต้องนับไปอีก 14 วันไปเรื่อยๆนั่นเอง
รายละเอียด
แคร์แมทชวนคุณเช็คความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตัวเอง
กรอกชื่อเล่น และเบอร์โทรศัพท์ (ที่สามารถติดต่อได้) ในแบบประเมินความเสี่ยงตนเอง
จับรางวัลผู้โชคดีในวันที่ 18 พ.ย.2564 ใน Caremat Facebook Live
ลุ้นรับรางวัลเงินสด มูลค่า 1,000 บาท 1 รางวัล
และของที่ระลึก 10 รางวัล
คลิกลิ้งค์นี้เพื่อร่วมกิจกรรม
https://www.carematapp.com/questionnaire/questionnaire.php
หรือสแกน QR code ในภาพได้เลย
Good Luck!
Talk out ep.3 รู้ให้ทัน ป้องกันให้เป็น
พูดถึงเอชไอวีในยุคนี้ ก็ย่อมต้องพูดถึงยา PrEP ด้วย ยาPrEP ทำให้เราปลอดภัยจากเชื้อเอชไอวี เหมือนการกินยาคุมแล้วป้องกันการตั้งครรภ์นั่นเอง เวลามีเพศสัมพันธ์ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะปลอดภัยทุกครั้ง แม้แต่กับคนที่เราไว้ใจ เมื่ออยู่ห่างกัน ถ้าเขาไปรับเชื้อเอชไอวีจากคนอื่นมาล่ะ? เราอาจใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันตัวเองได้ แต่ถ้าถุงยางหลุด แตก รั่ว หรือลืมพกมา ดังนั้นยา PrEP ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่จะหยุดวงจรความเสี่ยงต่อเอชไอวี “ให้ทุกความสัมพันธ์ป้องกันได้ เริ่มตรวจตั้งแต่วันนี้ เริ่มต้นสุขภาพดีที่ตัวคุณ”
EP.2 HIV โรคนี้ “ยิ้ม” ได้
เอชไอวี (HIV) ที่หลายคนรู้จัก คือเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากไม่ทำการรักษาก็จะเข้าสู่สภาวะโรคเอดส์ (AIDS) โดยที่เชื้อเอชไอวี (HIV) จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ซีดีโฟร์(CD4) บางคนไม่แสดงอาการใด ๆ แต่จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง และมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ วัณโรค ตุ่มพีพีอี ปอดอักเสบพีซีพี เป็นต้น และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตลงได้
ปัจจุบันการรักษาและควบคุมเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) มีประสิทธิภาพขึ้นมากกว่าแต่ก่อนในอดีต ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อฯมีทางเลือกในการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงน้อยและสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้จากสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทำให้ทุกวันนี้การติดเชื้อเอชไอวีคือโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เหมือนกับโรคหัวใจ ความดัน หรือเบาหวานที่ผู้ป่วยทุกคนต้องดูแลสุขภาพ กายใจ ทานยาเป็นประจำและต่อเนื่อง การทานยาต้านไวรัสโดยเร็วและมีวินัยในการทานยาที่ดีจะสามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีได้ ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อฯ หลายคนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีความรักความสัมพันธ์ สร้างครอบครัว มีหน้าที่การงานและรายได้ที่มั่นคงไม่เจ็บป่วยเหมือนในอดีต รวมถึงลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสตัวนี้ให้กับผู้อื่น หรือที่เรากันเรียกว่า U = U หรือ Undetectable = Untransmittable ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัย 3 โครงการใหญ่ ซึ่งร่วมกันทำในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เป็นการศึกษาที่วางแผนและดำเนินการอย่างรัดกุม มีการตรวจสอบจากหลายฝ่ายเพื่อให้ข้อมูลน่าเชื่อถือที่สุด ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่แล้วในวารสารการแพทย์ระดับชั้นนำ การศึกษาวิจัยดังกล่าว เป็นการติดตามพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของคู่ผลเลือดต่าง (ฝ่ายหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี อีกฝ่ายไม่ติดเชื้อเอชไอวี) ใน 2 กรณี คือ คู่ชายกับชาย และคู่ชายกับหญิง โดยฝ่ายที่ติดเชื้อเอชไอวีทั้ง 2 กรณี ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จนมีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดต่ำมาก คือ ต่ำกว่า 200 copies ต่อซีซีของเลือด หรือที่เรียกว่า “ตรวจไม่เจอ (Undetectable)”
หากเราทำความเข้าใจเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีในมุมมองใหม่ ศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน เราจะสามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อฯ ก็สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้จริง มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข คลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมท เชียงใหม่ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะยังคงตระหนักในการป้องกันตัวเองต่อการรับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ลดหรือหยุดอคติและการตีตราในเรื่องเอชไอวีทั้งต่อตัวเองและผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อฯได้ในที่สุด เพราะคุณค่าของชีวิตคือการดำรงอยู่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับตัวเอง ครอบครัว และชุมชนของเรา
EP.1 “ SEX ” ความสุขหรือความเสี่ยง
ถ้าพูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ในยุคปัจจุบันนี้ คงไม่ได้หมายความเพียงแค่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย – หญิง เท่านั้น เพราะการยอมรับในเรื่องเพศที่เปิดกว้างในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ว่าคุณจะระบุตัวเองว่าเป็นกลุ่มใดล้วนมีประสบการณ์ทางเพศที่แตกต่างกันไปนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมทางเพศ รูปแบบหรือความพึงพอใจต่อคู่สัมพันธ์ทางเพศที่หลากหลาย จนอาจจะสามารถพูดได้ว่า “เซ็กส์” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยก็ว่าได้
จากงานวิจัยในหลายๆ ชิ้น ต่างล้วนบอกว่า “เซ็กส์” เป็นกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด เพราะหลังอาการเสร็จกิจ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินออกมา ซึ่งเป็นตัวคลายความรู้สึกเร้าทางเพศของร่างกายให้ลดลง ไม่เฉพาะทางกายเท่านั้น ยังผ่อนคลายทางด้านจิตใจอีกด้วย นอกจากนั้น “เซ็กส์” ยังช่วยเสริมสร้างความรักความสัมพันธ์ในคู่รักแต่ละคู่ด้วยหากว่ามีความต้องการทางเพศที่สอดคล้องกัน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ปัญหาที่มาพร้อมกับการมี “เซ็กส์” ในแต่ละครั้งก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกันหากคุณและคู่ไม่ได้คำนึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ที่พึงประสงค์ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ และเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นพาหะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ทั้งมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ ได้ในอนาคต
การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต โดยคุณควรตระหนักถึงภัยที่ตามมาหลังจากการมี “เซ็กส์” ควรมีการป้องกันในทุกครั้งและกับทุกคนไม่เว้นแม้แต่คู่รักของคุณเอง ซึ่งปัจจุบันที่มีอุปกรณ์การป้องกันที่หลากหลายทั้งยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น เป็ปและเพร็พ รวมถึงการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า เรายังปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ และมีทางเลือกในการป้องกันที่เหมาะสมกับสถานการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงโดยการพูดคุยและวางแผนกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้การปรึกษา
คลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมท เชียงใหม่ ขอสนับสนุนให้ทุกคนมี “เซ็กส์” ที่สุข สนุกและปลอดภัยนะครับ
ยาต้านเอชไอวีสูตรใหม่มาถึงไทยแล้ว
ขณะนี้ ยาต้านเอชไอวีสูตรผสมที่ชื่อว่า Kocitaf ได้รับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ซึ่งมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาในผู้ใหญ่ และวัยรุ่น (อายุ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลรัม) ที่ติดเชื้อ HIV-1 หวังว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะอนุมัติให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถรับยานี้ด้วยสิทธิบัตรทองและประกันสังคมได้ ยาตัวนี้มีข้อดีข้อด้อยเมื่อเทียบกับยาสูตรที่นิยมใช้ในปัจจุบัน (ยี่ห้อ Teevir) อย่างไร ก่อนอื่นขอเสนอเนื้อหาที่เป็นวิชาการพอสมควรเพื่อผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ค่อนข้างลึกเกี่ยวกับยา
Kocitaf ประกอบด้วย
Tenofovir alafenamide fumarate (TAF) 25 mg
Emtricitabine (FTC) 200 mg
Dolutegravir (DTG) 50 mg
สูตรที่ใช้อยู่ Teevir ประกอบด้วย
Tenofovir disoproxil fumarate (TDF) 300 mg
Emtricitabine (FTC) 200 mg
Efavirenz (EFV) 600 mg
บทนำเกี่ยวกับกระบวนการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวี
ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องใช้หลายตัวผสมกัน เนื่องจากไวรัสเอชไอวีมีความซับซ้อนในกระบวนการแบ่งตัว ไวรัสเอชไอวีจัดอยู่ในประเภท retro virus สังเกตจากกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรมของมัน จาก RNA ต้นแบบเป็น DNA ซึ่งเหมือนเป็นการย้อนกระบวนการ โดยมันอาศัยทรัพยากรณ์ต่างๆในเซลล์เม็ดเลือดขาวในการสร้างตัวใหม่ของมันซึ่งประกอบด้วยหลายขั้นตอน ทั้งภายในนิวเคลียสและองค์ประกอบอื่นของเซลล์ ดังนั้นยาเพียงตัวเดียวจึงไม่พอที่จะไปยับยั้งการแบ่งตัวใหม่ของไวรัส กระบวนการคร่าวๆของการแบ่งตัวไวรัส มีดังนี้ (1) (แสดงในรูปที่ 1)
รูปที่ 1 ขั้นตอนการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีเมื่อเข้าไปที่เซลล์เป้าหมาย
Source: Gandhi M, Gandhi RT. Single-pill combination regimens for treatment of HIV-1 infection. N Engl J Med. 2014;371:248-59.
© 2014 Massachusetts Medical Society. Figure and Legend Reproduced with permission.
ยาต้านทางเลือกใหม่ของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ยาต้านสูตร Teevir ประกอบด้วย ยากลุ่ม Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) 2 ตัว ได้แก่ TDF และ Emtricitabine รวมกับยากลุ่ม Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs) 1 ตัว คือ Efavirenz ซึ่งทั้งสามตัวในยาสูตรนี้ ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีในกระบวนการที่ 2 (Reverse transcription)
ยาต้านสูตร Kocitaf ประกอบด้วย ยากลุ่ม Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) 2 ตัว ได้แก่ TAF และ Emtricitabine รวมกับยากลุ่ม Integrase strand transfer inhibitors (INSTIs) 1 ตัวคือ Dolutegravir
โดย TAF และ Emtricitabine ออกฤทธ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีในกระบวนการที่ 2 (Reverse transcription) และ Dolutegravir ยับยั้งกระบวนการที่ 3 (Integration)
แนวทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทยประจำปี 2560 ระบุว่า TDF เป็นยาต้านไวรัสพื้นฐาน ใช้ในการรักษามากที่สุดเป็นทางเลือกแรก (2) โดยทั่วไปในการใช้รักษาจะให้รับประทาน TDF ครั้งละ 1 เม็ด (300 mg) วันละ 1 ครั้ง ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่น อย่างไรก็ตามขนาดยานี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งผู้รับยาต้องรับประทานทุกวันอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้มากขึ้นด้วย เช่น การเกิดพิษต่อไต และกระดูก ซึ่งต้องได้รับการตรวจติดตามการทำงานของไตเป็นประจำ
Tenofovir Alafenamide fumarate (TAF) เป็นยาใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ สามารถช่วยลดผลข้างเคียงต่อไต และกระดูก โดยใช้ในขนาดที่ต่ำกว่า TDF มาก
TDF vs TAF
ทั้ง TDF และ TAF ต่างก็เป็นยาที่มีโครงสร้างของ Tenofovir เหมือนกัน แต่มีโครงสร้างขององค์ประกอบคนละแบบ TDF มีโครงสร้างแบบ disoproxil fumarate ในขณะที่ TAF เป็น Alafenamide fumarate (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของตัวยา TFV, TDF และ TAF
การเตรียม Tenofovir ทั้งในรูป Disoproxil fumarate และ Alafenamide fumarate เป็นลักษณะที่เรียกว่า Prodrug คือเป็นสารประกอบที่ยังไม่ออกฤทธิ์ทางยาเมื่อยังอยู่ภายนอกร่างกาย แต่จะเปลี่ยนรูปเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ในที่นี้ Prodrug ทั้งสองจะถูกเปลี่ยนให้เป็น Tenofovir ก่อน และเข้าสู่กระบวนการ Phosphorylation จนกลายเป็น Tenofovir diphosphate ซึ่งเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ แต่กลไกการออกฤทธิ์ของยาทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันดังนี้
เมื่อ TDF เข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนในพลาสม่าเป็น Tenofovir จากนั้นเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย ถึงจะถูกเปลี่ยน Tenofovir diphosphate แสดงถึงข้อด้อยของ TDF ที่ทำให้มีปริมาณ Tenofovir ในกระแสเลือดจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การเกิดพิษต่อไต Tonofovir เหลือเข้าไปในเซลล์เป้าหมายน้อย ดังนั้นขนาดยาเริ่มต้นที่ให้จึงสูงถึง 300 mg
ในขณะที่ TAF เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะถูกขนส่งไปยังเซลล์เป้าหมายเป็นหลัก แล้วเปลี่ยนเป็น Tenofovir และ Tenofovir diphosphate ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่า ปริมาณ TAF ในกระแสเลือดมีน้อยกว่า TDF ถึง 90% เพราะ TAF มีความจำเพาะต่อเซลล์มากกว่า ดังนั้นจึงใช้เพียง 25 mg ซึ่งต่ำกว่า TDF มาก รูปที่ 3 แสดงการเปรียบเทียบกระบวนการเปลี่ยนแปลงของยาทั้งสอง
รูปที่ 3 กระบวนการเปลี่ยนแปลง TAF และ TDF เป็น Tenofovir diphosphate ในเซลล์เป้าหมายที่มีเชื้อเอชไอวี
นอกจากขนาดยาที่ใช้ต่ำกว่าแล้วยังลดอาการข้างเคียงในระยะยาวจากการใช้ยา พบว่า การใช้ TAF ในระยะยาวมีความปลอดภัยต่อมวลกระดูกและไตมากกว่า TDF มาก อย่างมีนัยสำคัญ (3) ดังแสดงในรูปที่ 4 เป็นการเปรียบเทียบการใช้ยา PrEP ในสูตร Emtricitabine+TDF และ Emtricitabine+TAF หลังจากที่ใช้ยาไปแล้ว 48 สัปดาห์ สูตรที่มี TAF ให้ค่ามวลกระดูกที่คงที่ในขณะที่สูตร TDF ทำให้มวลกระดูกลดลง และรูปที่ 5 แสดงค่าการกรองของไต (eGFR)ที่ลดลง พบว่า TAF มีผลดีในการเปลี่ยนแปลงค่า eGFR มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (4)
รูปที่ 4 เปรียบเทียบค่ามวลกระดูกที่ลดลงเมื่อใช้ยา PrEP สูตรที่มี TAF กับสูตรที่มี TDF ในระยะ 48 สัปดาห์
รูปที่ 5 กราฟเปรียบเทียบผลของ TDF และ TAF ต่อการเปลี่ยนแปลงค่า eGFR
ประสิทธิภาพของการยับยั้งเชื้อไวรัสเอชไอวี ระหว่าง TAF และ TDF ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (5)
ดังแสดงในรูปที่ 6
รูปที่ 6 กราฟเปรียบเทียบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อเอชไอวีของ TDF และ TAF
อย่างไรก็ตามพบว่า TAF ยังมีข้อเสียเรื่องการเพิ่มระดับไขมันในเลือด (4) มีผลเพิ่มระดับ Total Cholesterol, LDL-C และ triglyceride มากกว่า TDF เมื่อรับยาไป 48 สัปดาห์ แสดงตารางที่ 1
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบผลของ TAF และ TDF ต่อระดับไขมันประเภทต่างๆ
สูตรยาใหม่กว่าช่วยลดอาการข้างเคียง ?
ยาต้านไวรัสในปัจจุบันยังไม่มีตัวใดสามารถรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้หาดขาด จึงจำเป็นต้องรรับประทานยาไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องพัฒนายาต้านที่สามารถรับประทานได้ง่าย ผลข้างเคียงน้อย และประสิทธิภาพการรักษาสูง เพื่อให้ผู้รับประทานยามีความร่วมมือในการรักษา อีกทั้งช่วยป้องกันภาวะภูมิคุ้มกันลดลงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรที่นิยมใช้เป็นทางเลือกหลักในประเทศไทยคือ NRTI+NNRTI-based regimen ได้แก่ยี่ห้อ Teevir พบว่ายังมีผลข้างเคียง เช่น เมื่อรับประทานยา efavirenz อาจเกิดอาการมึนศีรษะ ง่วงนอน ฝันร้าย รวมถึงอาจเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะจิตผิดปกติได้
ตามแนวทางการักษาในปัจจุบันจากองค์การอนามัยโลก ประเทศสหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม Integrase inhibitors-based regimen เป็นทางเลือกหลัก เนื่องจากมีผลการศึกษารรับรองประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงน้อยกว่า รวมถึงไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ในประเทศไทยมียาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาทั้งหมด 3 รายการ ได้แก่ Raltegravir (RAL), Elvitegravir (EVG), และ Dolutegravir (DTG) ซึ่งยาตัวใหม่ที่อาจจะเข้ามาเสริม หรือเป็นทางเลือกใหม่แทนที่ Teevir คือ Kocitaf ซึ่งประกอบด้วย Dolutegravir
Dolutegravir (DTG) (6)
เป็นยากลุ่ม Integrase inhibitors รุ่นที่สอง ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในปี ค.ศ.2013 คุณสมบัติทนต่อการดื้อยาของไวรัสเอชไอวีได้สูง ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดเดี่ยวคือ Tivicay 10, 25, และ 50 mg และรูปแบบเม็ดรวมยี่ห้อ Triumeq ประกอบด้วย Abacavir 600mg, Lamivudine 300mg,Dolutegravir 50 mg
เภสัชจลศาสตร์ของยา Dolutegravir จับกับโปรตีนในเลือดมากกว่า 98.9% ค่าปริมาตรการกระจายตัวของยาเท่ากับ 17.4 ลิตร ค่าครึ่งชีวิตในเลือดเท่ากับ 14 ชั่วโมง ยานี้มี metabolism ผ่านทาง UGT1A1 และบางส่วนผ่านทางเอนไซม์ CYP3A ดังนั้นยาที่มีผลกับ CYP3A เมื่อใช้ร่วมกับ dolutegravir ก็จะส่งผลต่อระดับ dolutegravir ในร่างกายด้วย ตัวอย่างเช่น ยาลดกรดหรือยาที่มีไอออนหลายประจุทำให้ระดับ dolutegravir ลดลงได้ ยาถูกกำจัดทางอุจจาระ 53%
พบว่า อาหารที่รับประทานร่วมกับยานี้ เพิ่มปริมาณการดูดซึมยา แต่ลดอัตราเร็วในการดูดซึมยา แต่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก ดังนั้น อาจรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารหรือไม่ก็ได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา Dolutegravir และยา Metformin (รักษาเบาหวาน) พบว่า ทำให้ระดับยา Metformin เพิ่มสูงขึ้น 2.4 เท่า และมีค่าระดับยา Metformin สูงสุดเพิ่มขึ้น 2 เท่า
การรับประทาน Dolutegravir ร่วมกับ Rifampicin (รักษาวัณโรค) พบว่า Rifampicin ลดระดับยา Dolutegravir ถึง 54% ดังนั้นอาจต้องเพิ่ม dolutegravir 50 mg ที่เดิมรับประทานวันละครั้ง เป็นวันละ 2 ครั้ง
ผลข้างเคียงของ Dolutegravir เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เกิดภาวะซึมเศร้าได้ในผู้ป่วยที่มีประวัติปัญหาทางจิตเวช สตรีมีครรภ์ควรระวัง โดยเฉพาะที่อายุครรภ์ไม่ถึง 8 สัปดาห์ หากยังไม่ได้เริ่มยาต้านไวรัส แนะนำให้เริ่มด้วยยาต้านสูตรอื่นแทน ส่วนที่อายุครรภ์เกิน 8 สัปดาห์สามารถรับยา Dolutegravir ได้โดยการติดตามจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ข้อห้ามใช้ (7) DTG มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่
ข้อมูลทางคลินิกของ Dolutegravir
ในการศึกษาเพื่อขอขึ้นทะเบียนยา พบว่าผู้ป่วยทนต่อ DTG ได้ดีกว่า efavirenz (EFV) หรือ darunavir/ritonavir (DRV/r) ถึงแม้มีความเสี่ยงต่ออาการนอนไม่หลับสูงขึ้น แต่ผลข้างเคียงทางระบบประสาทส่วนกลางที่ร้ายแรง เช่น ซึมเศร้า และคิดฆ่าตัวตาย พบได้น้อยมาก หลังได้รับอนุมัติให้วางจำหน่าย พบว่า การ ใช้ DTG ในทางเวชปฏิบัติ มีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติการณ์ของผลข้างเคียง ทางจิตประสาทสูงกว่าที่พบในการศึกษาทางคลินิก
การศึกษาแบบย้อนหลัง ในผู้ป่วย 1950 ราย ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเริ่มใช้ยากลุ่ม integrase inhibitor ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึง 2559 ประมาณการจากอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางจิตประสาท ซึ่งนำ ไปสู่การหยุดยาภายใน 12 เดือน โดยที่ DTG อยู่ที่ร้อยละ 7.6 และ 5.6 จากการศึกษายังพบ ว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางจิตประสาทที่นำไปสู่การหยุดยา DTG เกิดขึ้นบ่อย ครั้งในกลุ่มสตรี ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มี human leucocyte antigen (HLA)-B*5701 เป็นลบ ที่เริ่มใช้ยา ABC พร้อมๆ กัน (7)
องค์การอนามัยโลก ได้ออก Update of recommendations on first- and second-line antiretroviral regimens Policy brief 22 July 2019 แนะนำให้ใช้ Dolutegravir มากกว่า Efavirenz (8) เนื่องจาก เกิด drug–drug interactions น้อยกว่า มี viral suppression เร็วกว่า มี higher genetic barrier ต่อการเกิดการดื้อยา และมีฤทธิ์ต่อ HIV-2 มากกว่า แม้ยา Dolutegravir อาจทำให้น้ำหนักเพิ่ม แต่ในประเด็น เรื่อง การเกิด neural tube defect ในทารกของประเทศ Botswana นั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน และจากการศึกษา เปรียบเทียบกับ efavirenz-based ไม่พบความแตกต่างกัน รวมถึง อุบัติการณ์ในประเทศอื่น ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น
สรุปข้อมูลเปรียบเทียบยา 2 สูตร
Teevir | Kocitaf | |
ส่วนประกอบ | TDF 300 mg FTC 200 mg EFV 600 mg | TAF 25 mg FTC 200 mg DTG 50 mg |
ประเภทยาที่ออกฤทธิ์ตามกลไก | 2 of NNRTIs + 1 NNRTI | 2 of NNRTIs + 1 INSTI |
Tenofovir Prodrug | Tenofovir disoproxil fumarate (TDF) | Tenofovir alafenamide fumarate (TAF) |
การออกฤทธิ์ของ TNF | TDF เปลี่ยนเป็น TNF ในพลาสม่า เหลือส่วนน้อยที่เข้าเซลล์เป้าหมายแล้วเปลี่ยนเป็น TNF-DP | TAF ส่วนใหญ่เข้าเซลล์เป้าหมายเลย และเปลี่ยนเป็น TNF และ TNF-DP ตามลำดับ |
ผลต่อไต กระดูก ในระยะยาว(เกิน 2 ปี) | มีผลการทำงานของไต และมวลกระดูกบางลง | มีผลต่อการทำงานของไต และมวลกระดูกน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ |
ผลต่อระดับไขมันในเลือด | เพิ่มระดับ | เพิ่มระดับ |
ผลของอาหารต่อการดูดซึมยาเมื่อรับประทานพร้อมกัน | อาหารไขมันสูงเพิ่มการดูดซึมยา จึงควรกินยาตอนท้องว่างเพื่อลดอาการคลื่นไส้ จากปริมาณยาที่ดูดซึมมากเกินไป | เพิ่มการดูดซึมยาแต่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก สามารถกินยาร่วมหรือไม่ร่วมกับอาหารได้ |
ผลของการใช้ร่วมกับฮอร์โมนเพศหญิง/ยาคุมกำเนิด | อาจลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดและยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน (9) | ไม่มีผล (10) |
น้ำหนักตัว | มีผลน้อย | น้ำหนักอาจเพิ่ม |
การใช้ในหญิงมีครรภ์ | หลีกเลี่ยงใน 12 สัปดาห์แรกของครรภ์ | หลีกเลี่ยงใน 8 สัปดาห์แรกของครรภ์ |
ผลข้างเคียงเมื่อเริ่มใช้ยา | ปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่่วน อาเจียน ท้องเสีย เหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ง่วงนอน มีปัญหาในการนอนหลับ ขาดสมาธิ หรือฝันผิดปกติ | นอนหลับยาก (insomnia) และปวดศีรษะ |
ภาวะซึมเศร้าเมื่อใช้นาน | มีผล (9) | มีผลน้อย (7) |
ปฏิกิริยากับยาอื่น (Drug interactions) | มากกว่า Kocitaf | น้อยกว่า Teevir |
การกดเชื้อไวรัส (Viral suppression) | ช้ากว่า Kocitaf | เร็วกว่า Teevir |
โอกาสดื้อยา | สูงกว่า Kocitaf | ต่ำกว่า Teevir |
การออกฤทธิ์ต่อ HIV-2 | น้อยกว่า Kocitaf | ต่ำกว่า Teevir |
ตัวย่อ
FTC = Emtricitabine, EFV = Efavirenz, DTG = Dolutegravir, NNRTIs = Non nucleotide reverse transcriptase inhibitors, NNRTI = Nucleotide reverse transcriptase inhibitors, INSTI = Integrase strand transfer inhibitors, TNF-DP= Tenofovir diphosphate
แหล่งอ้างอิง