04 มิ.ย. 2021
Timeline ประวัติศาสตร์ การมีตัวตน
ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQA+++)
ในประเทศไทย
ในอดีตหลังพุทธกาล
- มีภาพพฤติกรรมรักร่วมเพศที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังของวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย
- ในพระไตรปิฎกยังได้ระบุคำสำคัญอย่าง “กะเทย” หรือ “บันเดาะ” หรือ “บันเฑาะก์” ที่มีความหมายว่า “ชายที่มีราคะจัด ชอบประพฤตินอกรีตในการเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้ประพฤติตาม และยังบัญญัติบุคคลที่ไม่สามารถบวชได้ในทางพุทธศาสนา คำว่ากะเทย (เขียนว่า “กเทย”) ยังพบอยู่ใน พะจะนะพาสาไท ที่เขียนโดย บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ในปี พ.ศ. 2397 โดยเป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า “Hermaphrodite”
สมัยอยุธยา
- นายราล์ฟ ฟิตช์ (Ralp Fitch) เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษผู้เดินทางผ่านอินเดีย พม่า มะละกา สยาม และขึ้นสู่ล้านนา เขียนจดหมายเหตุที่ได้รับการเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1599 มีเนื้อหาบางส่วนว่า “การฝังลูกปัดขนาดเล็กในที่ลับของผู้ชายในเมืองพะโค และในเมืองอื่นๆ อาทิ อังวะ ซินเหม่ (หมายถึงเชียงใหม่-ล้านนา) สยาม และพม่า พวกเขาจะฝังลูกกลมๆ ขนาดเล็กเพียงลูกเดียวหรือมากกว่านั้นก็ได้แล้วแต่ความพอใจ หลังจากการแต่งงาน เมื่อสามีมีบุตรคนหนึ่งเขาก็จะฝังเพิ่มอีกลูกหนึ่ง “เนื่องจากเป็นความต้องการของผู้หญิง” อีกทั้ง “ยังป้องกันไม่ให้ผู้ชายไปทำมิดีมิร้ายกับชายอื่น” เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ผู้คนในประเทศเหล่านี้ติดพฤติกรรมชั่วร้ายที่ว่านี้ จึงทำให้ต่างมีประชากรน้อย”
- ในปี ค.ศ. 1634 อดีตเจ้าหน้าที่การค้าของฮอลันดา ประจำกรุงศรีอยุธยา ที่ชื่อนายโยส สเคาเต็น ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยรัฐบาลฮอลแลนด์ที่เมืองปัตตาเวียในข้อหามีพฤติกรรมรักร่วมเพศซึ่งเป็นความผิดอย่างร้ายแรงใน สังคมตะวันตก โดยนายสเคาเต็นรับสารภาพและอ้างว่า ได้รับตัวอย่างพฤติกรรมรักร่วมเพศจากคนกรุงศรีอยุธยา
สมัยรัตนโกสินทร์
- กรมหลวงรักษรณเรศรพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 มีพฤติกรรมรักร่วมเพศกับบรรดาโขนละครชายที่เลี้ยงไว้ จนเป็นที่รับรู้กันทั่วไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขัดเคืองพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าให้ถอดจากกรมหลวงให้เรียกว่า “หม่อมไกรสร” แล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา อย่างไรก็ตาม ไม่อาจสรุปได้ว่าการรักร่วมเพศมีโทษประหารชีวิตเนื่องจากพี่ชายของกรมหลวงรักษรณเรศรซึ่งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศเช่นกัน ไม่ถูกตำหนิหรือลงโทษ
- ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ร.2 มีบันทึกว่า พระสังฆราชวัดมหาธาตุรูปหนึ่งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศกับลูกศิษย์หนุ่ม ร่วมกับสัมผัสจับต้อง ลูบคลำอวัยวะเพศ ถูกถอดจากสมณศักดิ์และเนรเทศให้ออกไปจากวัดมหาธาตุ
- ในประชุมประกาศในรัชกาลที่ 4 บันทึกพฤติกรรมของพระภิกษุที่ว่า “…บางจำพวกเป็นคนเกียจคร้าน กลัวจะเกณฑ์ให้ราชการ จึงหนีเข้าบวชพึ่งพระศาสนาเลี้ยงชีวิต แล้วประพฤติอนาจารทุจริตต่างๆ จนถึงเล่นสวาทเป็นปาราชิกก็มีอยู่ โดยมาก…” คำว่า “เล่นสวาท” หมายถึงพฤติกรรมชายรักร่วมเพศ ส่วนพฤติกรรมการ “เล่นเพื่อน” ที่เป็นพฤติกรรมของหญิงที่รักร่วมเพศ มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงชาววังเพราะอยู่รวมกันหลายคน รัชกาลที่ 4 ทรงเคยมีพระราชหัตถเลขากำชับสั่งพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทั้งหลายห้ามเล่นเพื่อนด้วย หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ
- ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงออกกฎหมายที่พาดพิงถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศ อย่างเช่นประมวลกฎหมายลักษณะ ร.ศ. 127 มาตรา 124 ที่กล่าวว่า “ผู้ใดกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือกระทำ ชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษติดคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป จนถึง 3 ปี แลให้ปรับตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปถึง 500 บาทด้วยอิกโสด 1
- สมัยรัชกาลที่ 6 สังคมได้รับวัฒนธรรมตะวันตกค่อนข้างมาก พระองค์ยังทรงเข้าใจเรื่องพฤติกรรมรักร่วมเพศได้เป็นอย่างดี ถึงขนาดทรงนิพนธ์บทความในหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิตของพระองค์ ในหัวเรื่อง “กะเทย” และ “ทำไมกะเทยจึงรู้มากในทางผัวๆ เมียๆ?” ที่ให้ความรู้ อธิบายความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่เกิดการรังเกียจหรือทำร้ายบุคคลในกลุ่มดังกล่าว
- สมัยรัชกาลที่ 7 มีการใช้คำว่า “Homosexual” เพิ่มมาอีก จากงานเขียนบทความเรื่อง “กามรมณ์และสมรส” ในหนังสือรวมปกฐกถาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตของคนทั่วไปตามหลักจิตวิทยา อธิบายให้ความรู้ด้านจิตวิทยามากกว่าเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ โดยในยุคนี้เป็นยุคที่วงการแพทย์ไทยได้เริ่มเข้ามาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขรักษา กลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าว
ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย
- ในยุคนี้พฤติกรรมรักร่วมเพศ ได้เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไปมากขึ้น ประชาชนสามารถสื่อสารเรื่องราวนี้ได้อย่างกว้างขวาง เช่นหนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง ฉบับประจำวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ระบุว่ามีการเปิดซ่องที่มีเฉพาะโสเภณีชายของนายถั่วดำ หรือการุณ ผาสุก โดยถั่วดำล่อลวงเด็กชายวัย 10–16 ปี มาร่วมอยู่ด้วยในห้องแถวเช่า พร้อมทั้งสอนวิธีสำเร็จความใคร่ให้กับเด็ก และให้เด็กสำเร็จความใคร่กับแขก ได้รับเงินค่าขายบริการเยี่ยงหญิงโสเภณี ซึ่งเรื่องราวของนายถั่วดำ ทำให้กลายเป็นคำสแลงที่เรียกพฤติกรรมรักร่วมเพศจนถึงปัจจุบัน
- ข่าวในหนังสือพิมพ์สยามนิกรประจำวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2493 รายงานถึงพฤติกรรมของเหล่านักโทษในคุก ที่มักเสพเมถุนทางทวารหนัก หรือเว็จมรรค ทำให้เรื่องราวพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นที่รับรู้ในสังคมมากขึ้น และตอกย้ำถึงความผิดธรรมชาติ ผิดศีลธรรม โดยคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น ถือกันว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย และน่ารังเกียจ
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
- เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และตั้งบ้านเรือนย่านถนนสีลมและพัฒน์พงษ์ มากขึ้น รักร่วมเพศจึงเริ่มเปิดเผยมากขึ้น เช่น ใช้พื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ ในย่านสนามหลวงสะพานพุทธ สวนลุมพินี และวังสราญรมย์ แสดงความรักต่อกันโดยไม่อายสายตา หรือการรื่นเริงสังสรรค์ที่มีกะเทยแต่งตัวเป็นหญิง และจากข้อมูลในคอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องเซ็กส์” ของลุงหนวด ในนิตยสารคู่ทุกข์คู่ยาก ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2526 เขียนไว้ว่า
- หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กะเทยไทยเริ่มออกค้าประเวณีกับทหารสหประชาชาติ ในสมัยนั้นสังคมไทยยังคิดว่า กะเทยเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เป็นพวกรักร่วมเพศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 เริ่มมีธุรกิจการขายบริการทางเพศในประเทศไทย เพื่อสนองความต้องการให้กับชาวต่างชาติเป็นหลัก ตามย่านถนนสีลมและพัฒน์พงษ์ เป็นต้น ในข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามนิกรในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2508 พูดถึงการกวาดล้างกะเทยที่มั่วสุม ขายบริการทางเพศ ย่านประตูน้ำ ถ.เพชรบุรี และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทั้งยังก่ออาชญากรรม โดยการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และฆ่าฝรั่งที่มาซื้อบริการทางเพศ
- ด้านงานวิชาการ ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวว่า สื่อมวลชนมักนำเสนอเกย์ในสังคมไทยในเรื่องที่เสื่อมเสีย เช่นเรื่องอาชญากรรม การล่อลวงเด็ก การขายตัว ต่างชาติมาถ่ายภาพยนตร์และวิดีโอเกย์ลามกในประเทศไทย การระบาดของโรคเอดส์ในกลุ่มเกย์ ดังนั้นเกย์ในสังคมไทยยังไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเองนัก และสังคมไทยยังสับสนกับกลุ่มผู้รักร่วมเพศ โดยมองว่ากลุ่มผู้รักร่วมเพศ เป็นพวกกะเทยหรือลักเพศมากกว่าความหมายทางด้านพฤติกรรมรักร่วมเพศ
ยุคสื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู
- นิตยสารแปลกเป็นนิตยสารที่กลุ่มผู้รักร่วมเพศนิยมอ่านกันมากที่สุด โดยเฉพาะคอลัมน์ของ “โก๋ ปากน้ำ” ที่นำเสนอเรื่องเล่า การระบายความในใจ ประสบการณ์ การมีเพศสัมพันธ์แบบชายกับชาย ทำให้ “โก๋ ปากน้ำ” โด่งดัง และส่งผลทำให้ยอดจำหน่ายขายดีในท้องตลาด นิตยสารแปลกยังได้บัญญัติคำอย่าง “เกย์คิงและเกย์ควีน” ให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทย
- นิตยสารอื่นที่กำเนิดขึ้นมาเพื่อกลุ่มรักร่วมเพศ อย่าง “บีอาร์” ของบุรินทร์ วงศ์สงวนนิตยสารสำหรับสตรี ที่มีรูปการตีพิมพ์ภาพหนุ่มหล่อกึ่งเปลือย และยังมีนิตยสารแนวเกย์เขียนโดย อาทิตย์ สุรทิน นิตยสาร แมน “MAN” ของพจนาถ เกศจินดา มีภาพเปลือยของดาราชายพร้อมบทสัมภาษณ์เป็นจุดขาย นอกจากนี้ยังมีนิตยสารบันเทิงชื่อ “จักรวาลดาว” ของพิชัย สัตยพันธ์ ที่นำเสนอภาพกึ่งเปลือยของดาราชาย
- ส่วนนิตยสารหนุ่มสาวซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับผู้ชายและผู้หญิง เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ บันเทิง และสาระความรู้ทั่วไป ที่ระยะหลังเริ่มตีพิมพ์ผู้ชายกึ่งเปลือยเพิ่มมากขึ้น
- ในปี 2524 ได้มีนิตยสารสำหรับกลุ่มเกย์และเลสเบียนโดยเฉพาะที่ชื่อ “เชิงชาย” ทั้งเนื้อหาและรูปภาพภายในของชายและหญิง ในปี 2526 นิตยสารมิถุนา ได้ออกมาสู่ท้องตลาด เป็นเล่มขนาดใหญ่ ต่อมานิตยสารนีออนโดย ปกรณ์ พงษ์วราภา เป็นนิตยสารเกย์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2528
- ในระยะนี้เกิดนิตยสารเกย์เป็นจำนวนมาก เช่นนิตยสารมรกต (ชื่อเดิมเพทาย) และเกสร (นิตยสารในเครือมิถุนา) ปี 2529 มิดเวย์ ปี 2530 Him ปี 2531 เกิดนิตยสาร My way และในปีต่อมาได้แก่ The Guy ในช่วงกลางศตวรรษที่ 2530 ต่อมาได้พัฒนาเป็นนิตยสารสำหรับผู้อ่านกลุ่มผู้รักร่วมเพศ ได้แก่ Violet ลับเฉพาะชาวสีม่วง เมล์ (Male) ฮีท (Heat) ไวโอเล็ท ฮอทกาย แมน และจีอาร์ เป็นต้น และในช่วงศตวรรษที่ 2540 มีนิตยสารออกหลายฉบับอย่างเอ็มคอร์ เคเอกซ์เอ็ม ดิ๊ก เอชเอ็มแอนด์เอ็ม เกย์ และแม็กซ์ เป็นต้น
ยุคสื่อแพร่หลายจนถึงยุคปัจจุบัน
- สังคมไทยเริ่มเข้าใจต่อกลุ่มผู้รักร่วมเพศดีขึ้น แม้ในระยะแรกจะมีภาพทางลบ ในสื่อภาพยนตร์ยังถ่ายทอดเรื่องราว อย่างเรื่อง “เกมส์” ในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องเกย์เป็นครั้งแรก แต่นำเสนอเกี่ยวกับความเสียใจของผู้หญิง ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายที่เป็นเกย์
- ต่อมาพิศาล อัครเศรณีนำเสนอภาพยนตร์เกี่ยวกับสาวประเภทสองคณะโชว์คาบาเร่ต์แห่งเมืองพัทยา เรื่อง “เพลงสุดท้าย” ภาคที่ 1 ในปี พ.ศ. 2528 และภาคที่ 2 ในปี พ.ศ. 2529 ต่อมา ดร.เสรี วงษ์มณฑา นำเสนอละครเวทีที่โด่งดังอย่างมากเรื่อง “ฉันผู้ชายนะยะ”
- ส่วนละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์เช่น น้ำตาลไหม้ ชายไม่จริงหญิงแท้ รักไร้อันดับ ซอยปรารถนา 2500 ท่านชายกำมะลอ ปัญญาชนก้นครัว รักเล่ห์เพทุบาย ไม้แปลกป่า เมืองมายา สะพานดาว กามเทพเล่นกล รัก 8009 เป็นต้น ที่มีนักแสดงบางส่วนเป็นเกย์และที่ไม่ได้เป็น มาสวมบทบาท
- นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ไทยที่มีตัวละครเป็นสาวประเภทสอง กะเทย รวมถึงเนื้อหารักร่วมเพศจำนวนมากในเวลาต่อมา อย่างเช่น พรางชมพู กะเทยประจัญบาน, ปล้นนะยะ, ว้ายบึ้ม เชียร์กระหึ่มโลก, บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์, Go Six: โกหก ปลิ้นปล้อน กระล่อน ตอแหล, หอแต๋วแตก และ รักแห่งสยาม เป็นต้น
- ปี พ.ศ. 2530 มีการรวมตัวของหลายฝ่ายเพื่อรณรงค์ด้านโรคเอดส์ที่ระบาดอยู่อย่างจริงจัง โดยจัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมและรณรงค์ให้ความรู้การป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมี “กลุ่มเส้นสีขาว” เคลื่อนไหวให้มีการตื่นตัวต่ออันตรายของโรคเอดส์ ผ่านการแสดง ต่อมามีการจัดตั้งกลุ่ม “ภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย” ให้ความรู้และรณรงค์เกี่ยวกับโรคเอดส์อย่างกว้างขวาง
- ในปี พ.ศ. 2544 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มฟ้าสีรุ้งโดย นายกมลเศรษฐ์ เก่งการเรือ นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อรณรงค์เรื่องการป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มชายผู้รักร่วมเพศ เรียกร้องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ และความเท่าเทียมในสังคม สร้างความเข้าใจอันดีในกลุ่มรักร่วมเพศต่อสังคม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Organization of Thailand) อันถือได้ว่า เป็นสมาคมของคนรักร่วมเพศแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทยโดยร่วมมือกับองค์กรอย่างศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่นอย่าง องค์กรบางกอกเรนโบว์ (Bangkok Rainbow Organization) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2545 และในปี2546. ได้มีคนทำงานในจังหวัดเชียงใหม่เกิดขึ้นในนามโครงการเพื่อชายรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ<เอ็มพลัส) และได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเอ็มพลัสเมื่อ 6 พฤษภาคม 2554
- หลังจากมีการจัดการประชุมระดับนานาชาติ เรื่องเพศวิถีและสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ซึ่งเป็นการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ครั้งแรกในประเทศไทย โดยศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ แจ็คสัน, นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย (ANU) จึงมีการรวมตัวขององค์กร สมาคม กลุ่มต่างๆ รวมทั้งนักรณรงค์ทางด้านสังคมที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ จัดตั้งเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทยขึ้นในปีพ.ศ. 2548 เพื่อร่วมกันทำงาน ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และสื่อสารความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
- ในปี 2552 มีผู้ต่อต้านเกย์ไพรด์ในจังหวัดเชียงใหม่อย่างรุนแรงเกือบเป็นจลาจล
- เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2549 เป็นวันที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาถอนข้อความที่ระบุว่า ‘เป็นโรคจิตถาวร’ ในใบสำคัญต่างๆ ของการตรวจเลือกทหารกองเกิน ซึ่งถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และทำให้เสื่อมเสียหรืออับอาย จนในที่สุดเมื่อปี 2554 ศาลปกครองพิพากษาให้ถอนคำดังกล่าวออกจากใบสำคัญ และแก้ไขเป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ กลุ่ม LGBTQI ในสังคมไทยจึงกำหนดให้หมุดหมายสำคัญในครั้งนั้นเป็น ‘วันแห่งความหลากหลายทางเพศ’และมีการจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2551
- เครือข่ายกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTI and Non-binary) จึงได้จัดกิจกรรม 10 ปี ในพ.ศ.2561 วันความหลากหลายทางเพศ ภายใต้ธีมงาน ‘สิทธิและความเสมอภาคในการก่อตั้งครอบครัวที่หลากหลาย’ โดยเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้ถกเถียงถึง พ.ร.บ. คู่ชีวิต รวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 ที่บัญญัติให้การสมรสเป็นเรื่องระหว่างชายและหญิงเท่านั้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเข้ารับฟังประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มีเพียงพรรคการเมืองเพียง 10 พรรคเท่านั้นที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม
ที่มา
- https://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
- https://www.matichonweekly.com/column/article_246847
- https://thestandard.co/lgbti-and-non-binary-activity/