ยาต้านทางเลือกใหม่ของการรักษา
ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ยาต้านเอชไอวีสูตรใหม่มาถึงไทยแล้ว
ขณะนี้ ยาต้านเอชไอวีสูตรผสมที่ชื่อว่า Kocitaf ได้รับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ซึ่งมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาในผู้ใหญ่ และวัยรุ่น (อายุ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลรัม) ที่ติดเชื้อ HIV-1 หวังว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะอนุมัติให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถรับยานี้ด้วยสิทธิบัตรทองและประกันสังคมได้ ยาตัวนี้มีข้อดีข้อด้อยเมื่อเทียบกับยาสูตรที่นิยมใช้ในปัจจุบัน (ยี่ห้อ Teevir) อย่างไร ก่อนอื่นขอเสนอเนื้อหาที่เป็นวิชาการพอสมควรเพื่อผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ค่อนข้างลึกเกี่ยวกับยา
Kocitaf ประกอบด้วย
Tenofovir alafenamide fumarate (TAF) 25 mg
Emtricitabine (FTC) 200 mg
Dolutegravir (DTG) 50 mg
สูตรที่ใช้อยู่ Teevir ประกอบด้วย
Tenofovir disoproxil fumarate (TDF) 300 mg
Emtricitabine (FTC) 200 mg
Efavirenz (EFV) 600 mg
บทนำเกี่ยวกับกระบวนการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวี
ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องใช้หลายตัวผสมกัน เนื่องจากไวรัสเอชไอวีมีความซับซ้อนในกระบวนการแบ่งตัว ไวรัสเอชไอวีจัดอยู่ในประเภท retro virus สังเกตจากกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรมของมัน จาก RNA ต้นแบบเป็น DNA ซึ่งเหมือนเป็นการย้อนกระบวนการ โดยมันอาศัยทรัพยากรณ์ต่างๆในเซลล์เม็ดเลือดขาวในการสร้างตัวใหม่ของมันซึ่งประกอบด้วยหลายขั้นตอน ทั้งภายในนิวเคลียสและองค์ประกอบอื่นของเซลล์ ดังนั้นยาเพียงตัวเดียวจึงไม่พอที่จะไปยับยั้งการแบ่งตัวใหม่ของไวรัส กระบวนการคร่าวๆของการแบ่งตัวไวรัส มีดังนี้ (1) (แสดงในรูปที่ 1)
- เกาะที่ผนังเซลล์และเข้าสู่เซลล์ (Virus entry)
- ถอดรหัส RNA สร้างเป็น DNA ของเชื้อไวรัส (Reverse Transcription)
- เข้าสู่นิวเคลียส เอา DNA ของมันเข้าไปแทรกใน DNA ของเซลล์ (Integration)
- สาย DNA ถูกถอดออกมาเป็น mRNA และ Genomic RNA และออกจากนิวเคลียส (Transcription)
- mRNA ของไวรัส ถอดรหัสไปสังเคราะห์โปรตีนเพื่อเป็นองค์ประกอบของไวรัสตัวใหม่ (Translation)
- สายโปรตีนที่ได้ถูกตัดให้เป็นอนุภาคเล็กๆเพื่อเตรียมประกอบร่างใหม่ (Cleavage)
- Genomic RNA กับโปรตีนที่สังเคราะห์ได้ประกอบร่างเป็นไวรัสตัวใหม่อีกหลายตัว (Assembly)
- ไวรัสใหม่เตรียมออกจากผนังเซลล์เป็นตัวที่สมบูรณ์ (Budding and Maturation)
รูปที่ 1 ขั้นตอนการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีเมื่อเข้าไปที่เซลล์เป้าหมาย
Source: Gandhi M, Gandhi RT. Single-pill combination regimens for treatment of HIV-1 infection. N Engl J Med. 2014;371:248-59.
© 2014 Massachusetts Medical Society. Figure and Legend Reproduced with permission.
ยาต้านทางเลือกใหม่ของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ยาต้านสูตร Teevir ประกอบด้วย ยากลุ่ม Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) 2 ตัว ได้แก่ TDF และ Emtricitabine รวมกับยากลุ่ม Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs) 1 ตัว คือ Efavirenz ซึ่งทั้งสามตัวในยาสูตรนี้ ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีในกระบวนการที่ 2 (Reverse transcription)
ยาต้านสูตร Kocitaf ประกอบด้วย ยากลุ่ม Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) 2 ตัว ได้แก่ TAF และ Emtricitabine รวมกับยากลุ่ม Integrase strand transfer inhibitors (INSTIs) 1 ตัวคือ Dolutegravir
โดย TAF และ Emtricitabine ออกฤทธ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีในกระบวนการที่ 2 (Reverse transcription) และ Dolutegravir ยับยั้งกระบวนการที่ 3 (Integration)
แนวทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทยประจำปี 2560 ระบุว่า TDF เป็นยาต้านไวรัสพื้นฐาน ใช้ในการรักษามากที่สุดเป็นทางเลือกแรก (2) โดยทั่วไปในการใช้รักษาจะให้รับประทาน TDF ครั้งละ 1 เม็ด (300 mg) วันละ 1 ครั้ง ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่น อย่างไรก็ตามขนาดยานี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งผู้รับยาต้องรับประทานทุกวันอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้มากขึ้นด้วย เช่น การเกิดพิษต่อไต และกระดูก ซึ่งต้องได้รับการตรวจติดตามการทำงานของไตเป็นประจำ
Tenofovir Alafenamide fumarate (TAF) เป็นยาใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ สามารถช่วยลดผลข้างเคียงต่อไต และกระดูก โดยใช้ในขนาดที่ต่ำกว่า TDF มาก
TDF vs TAF
ทั้ง TDF และ TAF ต่างก็เป็นยาที่มีโครงสร้างของ Tenofovir เหมือนกัน แต่มีโครงสร้างขององค์ประกอบคนละแบบ TDF มีโครงสร้างแบบ disoproxil fumarate ในขณะที่ TAF เป็น Alafenamide fumarate (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของตัวยา TFV, TDF และ TAF
การเตรียม Tenofovir ทั้งในรูป Disoproxil fumarate และ Alafenamide fumarate เป็นลักษณะที่เรียกว่า Prodrug คือเป็นสารประกอบที่ยังไม่ออกฤทธิ์ทางยาเมื่อยังอยู่ภายนอกร่างกาย แต่จะเปลี่ยนรูปเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ในที่นี้ Prodrug ทั้งสองจะถูกเปลี่ยนให้เป็น Tenofovir ก่อน และเข้าสู่กระบวนการ Phosphorylation จนกลายเป็น Tenofovir diphosphate ซึ่งเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ แต่กลไกการออกฤทธิ์ของยาทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันดังนี้
เมื่อ TDF เข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนในพลาสม่าเป็น Tenofovir จากนั้นเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย ถึงจะถูกเปลี่ยน Tenofovir diphosphate แสดงถึงข้อด้อยของ TDF ที่ทำให้มีปริมาณ Tenofovir ในกระแสเลือดจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การเกิดพิษต่อไต Tonofovir เหลือเข้าไปในเซลล์เป้าหมายน้อย ดังนั้นขนาดยาเริ่มต้นที่ให้จึงสูงถึง 300 mg
ในขณะที่ TAF เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะถูกขนส่งไปยังเซลล์เป้าหมายเป็นหลัก แล้วเปลี่ยนเป็น Tenofovir และ Tenofovir diphosphate ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่า ปริมาณ TAF ในกระแสเลือดมีน้อยกว่า TDF ถึง 90% เพราะ TAF มีความจำเพาะต่อเซลล์มากกว่า ดังนั้นจึงใช้เพียง 25 mg ซึ่งต่ำกว่า TDF มาก รูปที่ 3 แสดงการเปรียบเทียบกระบวนการเปลี่ยนแปลงของยาทั้งสอง
รูปที่ 3 กระบวนการเปลี่ยนแปลง TAF และ TDF เป็น Tenofovir diphosphate ในเซลล์เป้าหมายที่มีเชื้อเอชไอวี
นอกจากขนาดยาที่ใช้ต่ำกว่าแล้วยังลดอาการข้างเคียงในระยะยาวจากการใช้ยา พบว่า การใช้ TAF ในระยะยาวมีความปลอดภัยต่อมวลกระดูกและไตมากกว่า TDF มาก อย่างมีนัยสำคัญ (3) ดังแสดงในรูปที่ 4 เป็นการเปรียบเทียบการใช้ยา PrEP ในสูตร Emtricitabine+TDF และ Emtricitabine+TAF หลังจากที่ใช้ยาไปแล้ว 48 สัปดาห์ สูตรที่มี TAF ให้ค่ามวลกระดูกที่คงที่ในขณะที่สูตร TDF ทำให้มวลกระดูกลดลง และรูปที่ 5 แสดงค่าการกรองของไต (eGFR)ที่ลดลง พบว่า TAF มีผลดีในการเปลี่ยนแปลงค่า eGFR มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (4)
รูปที่ 4 เปรียบเทียบค่ามวลกระดูกที่ลดลงเมื่อใช้ยา PrEP สูตรที่มี TAF กับสูตรที่มี TDF ในระยะ 48 สัปดาห์
รูปที่ 5 กราฟเปรียบเทียบผลของ TDF และ TAF ต่อการเปลี่ยนแปลงค่า eGFR
ประสิทธิภาพของการยับยั้งเชื้อไวรัสเอชไอวี ระหว่าง TAF และ TDF ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (5)
ดังแสดงในรูปที่ 6
รูปที่ 6 กราฟเปรียบเทียบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อเอชไอวีของ TDF และ TAF
อย่างไรก็ตามพบว่า TAF ยังมีข้อเสียเรื่องการเพิ่มระดับไขมันในเลือด (4) มีผลเพิ่มระดับ Total Cholesterol, LDL-C และ triglyceride มากกว่า TDF เมื่อรับยาไป 48 สัปดาห์ แสดงตารางที่ 1
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบผลของ TAF และ TDF ต่อระดับไขมันประเภทต่างๆ
สูตรยาใหม่กว่าช่วยลดอาการข้างเคียง ?
ยาต้านไวรัสในปัจจุบันยังไม่มีตัวใดสามารถรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้หาดขาด จึงจำเป็นต้องรรับประทานยาไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องพัฒนายาต้านที่สามารถรับประทานได้ง่าย ผลข้างเคียงน้อย และประสิทธิภาพการรักษาสูง เพื่อให้ผู้รับประทานยามีความร่วมมือในการรักษา อีกทั้งช่วยป้องกันภาวะภูมิคุ้มกันลดลงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรที่นิยมใช้เป็นทางเลือกหลักในประเทศไทยคือ NRTI+NNRTI-based regimen ได้แก่ยี่ห้อ Teevir พบว่ายังมีผลข้างเคียง เช่น เมื่อรับประทานยา efavirenz อาจเกิดอาการมึนศีรษะ ง่วงนอน ฝันร้าย รวมถึงอาจเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะจิตผิดปกติได้
ตามแนวทางการักษาในปัจจุบันจากองค์การอนามัยโลก ประเทศสหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม Integrase inhibitors-based regimen เป็นทางเลือกหลัก เนื่องจากมีผลการศึกษารรับรองประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงน้อยกว่า รวมถึงไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ในประเทศไทยมียาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาทั้งหมด 3 รายการ ได้แก่ Raltegravir (RAL), Elvitegravir (EVG), และ Dolutegravir (DTG) ซึ่งยาตัวใหม่ที่อาจจะเข้ามาเสริม หรือเป็นทางเลือกใหม่แทนที่ Teevir คือ Kocitaf ซึ่งประกอบด้วย Dolutegravir
Dolutegravir (DTG) (6)
เป็นยากลุ่ม Integrase inhibitors รุ่นที่สอง ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในปี ค.ศ.2013 คุณสมบัติทนต่อการดื้อยาของไวรัสเอชไอวีได้สูง ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดเดี่ยวคือ Tivicay 10, 25, และ 50 mg และรูปแบบเม็ดรวมยี่ห้อ Triumeq ประกอบด้วย Abacavir 600mg, Lamivudine 300mg,Dolutegravir 50 mg
เภสัชจลศาสตร์ของยา Dolutegravir จับกับโปรตีนในเลือดมากกว่า 98.9% ค่าปริมาตรการกระจายตัวของยาเท่ากับ 17.4 ลิตร ค่าครึ่งชีวิตในเลือดเท่ากับ 14 ชั่วโมง ยานี้มี metabolism ผ่านทาง UGT1A1 และบางส่วนผ่านทางเอนไซม์ CYP3A ดังนั้นยาที่มีผลกับ CYP3A เมื่อใช้ร่วมกับ dolutegravir ก็จะส่งผลต่อระดับ dolutegravir ในร่างกายด้วย ตัวอย่างเช่น ยาลดกรดหรือยาที่มีไอออนหลายประจุทำให้ระดับ dolutegravir ลดลงได้ ยาถูกกำจัดทางอุจจาระ 53%
พบว่า อาหารที่รับประทานร่วมกับยานี้ เพิ่มปริมาณการดูดซึมยา แต่ลดอัตราเร็วในการดูดซึมยา แต่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก ดังนั้น อาจรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารหรือไม่ก็ได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา Dolutegravir และยา Metformin (รักษาเบาหวาน) พบว่า ทำให้ระดับยา Metformin เพิ่มสูงขึ้น 2.4 เท่า และมีค่าระดับยา Metformin สูงสุดเพิ่มขึ้น 2 เท่า
การรับประทาน Dolutegravir ร่วมกับ Rifampicin (รักษาวัณโรค) พบว่า Rifampicin ลดระดับยา Dolutegravir ถึง 54% ดังนั้นอาจต้องเพิ่ม dolutegravir 50 mg ที่เดิมรับประทานวันละครั้ง เป็นวันละ 2 ครั้ง
ผลข้างเคียงของ Dolutegravir เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เกิดภาวะซึมเศร้าได้ในผู้ป่วยที่มีประวัติปัญหาทางจิตเวช สตรีมีครรภ์ควรระวัง โดยเฉพาะที่อายุครรภ์ไม่ถึง 8 สัปดาห์ หากยังไม่ได้เริ่มยาต้านไวรัส แนะนำให้เริ่มด้วยยาต้านสูตรอื่นแทน ส่วนที่อายุครรภ์เกิน 8 สัปดาห์สามารถรับยา Dolutegravir ได้โดยการติดตามจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ข้อห้ามใช้ (7) DTG มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่
- มีประวัติภาวะภูมิไวเกินต่อ DTG
- ได้รับยา dofetilide (ยาต้านโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ class III) เนื่องจากโอกาสที่จะทำให้ระดับ dofetilide ในพลาสมาสูงขึ้น มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดร้ายแรง และ/หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต เพิ่มขึ้น (เช่น QT ยาวขึ้น และ ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติแบบ polymorphic [torsade de points])
ข้อมูลทางคลินิกของ Dolutegravir
ในการศึกษาเพื่อขอขึ้นทะเบียนยา พบว่าผู้ป่วยทนต่อ DTG ได้ดีกว่า efavirenz (EFV) หรือ darunavir/ritonavir (DRV/r) ถึงแม้มีความเสี่ยงต่ออาการนอนไม่หลับสูงขึ้น แต่ผลข้างเคียงทางระบบประสาทส่วนกลางที่ร้ายแรง เช่น ซึมเศร้า และคิดฆ่าตัวตาย พบได้น้อยมาก หลังได้รับอนุมัติให้วางจำหน่าย พบว่า การ ใช้ DTG ในทางเวชปฏิบัติ มีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติการณ์ของผลข้างเคียง ทางจิตประสาทสูงกว่าที่พบในการศึกษาทางคลินิก
การศึกษาแบบย้อนหลัง ในผู้ป่วย 1950 ราย ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเริ่มใช้ยากลุ่ม integrase inhibitor ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึง 2559 ประมาณการจากอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางจิตประสาท ซึ่งนำ ไปสู่การหยุดยาภายใน 12 เดือน โดยที่ DTG อยู่ที่ร้อยละ 7.6 และ 5.6 จากการศึกษายังพบ ว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางจิตประสาทที่นำไปสู่การหยุดยา DTG เกิดขึ้นบ่อย ครั้งในกลุ่มสตรี ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มี human leucocyte antigen (HLA)-B*5701 เป็นลบ ที่เริ่มใช้ยา ABC พร้อมๆ กัน (7)
องค์การอนามัยโลก ได้ออก Update of recommendations on first- and second-line antiretroviral regimens Policy brief 22 July 2019 แนะนำให้ใช้ Dolutegravir มากกว่า Efavirenz (8) เนื่องจาก เกิด drug–drug interactions น้อยกว่า มี viral suppression เร็วกว่า มี higher genetic barrier ต่อการเกิดการดื้อยา และมีฤทธิ์ต่อ HIV-2 มากกว่า แม้ยา Dolutegravir อาจทำให้น้ำหนักเพิ่ม แต่ในประเด็น เรื่อง การเกิด neural tube defect ในทารกของประเทศ Botswana นั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน และจากการศึกษา เปรียบเทียบกับ efavirenz-based ไม่พบความแตกต่างกัน รวมถึง อุบัติการณ์ในประเทศอื่น ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น
สรุปข้อมูลเปรียบเทียบยา 2 สูตร
Teevir | Kocitaf | |
ส่วนประกอบ | TDF 300 mg FTC 200 mg EFV 600 mg | TAF 25 mg FTC 200 mg DTG 50 mg |
ประเภทยาที่ออกฤทธิ์ตามกลไก | 2 of NNRTIs + 1 NNRTI | 2 of NNRTIs + 1 INSTI |
Tenofovir Prodrug | Tenofovir disoproxil fumarate (TDF) | Tenofovir alafenamide fumarate (TAF) |
การออกฤทธิ์ของ TNF | TDF เปลี่ยนเป็น TNF ในพลาสม่า เหลือส่วนน้อยที่เข้าเซลล์เป้าหมายแล้วเปลี่ยนเป็น TNF-DP | TAF ส่วนใหญ่เข้าเซลล์เป้าหมายเลย และเปลี่ยนเป็น TNF และ TNF-DP ตามลำดับ |
ผลต่อไต กระดูก ในระยะยาว(เกิน 2 ปี) | มีผลการทำงานของไต และมวลกระดูกบางลง | มีผลต่อการทำงานของไต และมวลกระดูกน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ |
ผลต่อระดับไขมันในเลือด | เพิ่มระดับ | เพิ่มระดับ |
ผลของอาหารต่อการดูดซึมยาเมื่อรับประทานพร้อมกัน | อาหารไขมันสูงเพิ่มการดูดซึมยา จึงควรกินยาตอนท้องว่างเพื่อลดอาการคลื่นไส้ จากปริมาณยาที่ดูดซึมมากเกินไป | เพิ่มการดูดซึมยาแต่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก สามารถกินยาร่วมหรือไม่ร่วมกับอาหารได้ |
ผลของการใช้ร่วมกับฮอร์โมนเพศหญิง/ยาคุมกำเนิด | อาจลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดและยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน (9) | ไม่มีผล (10) |
น้ำหนักตัว | มีผลน้อย | น้ำหนักอาจเพิ่ม |
การใช้ในหญิงมีครรภ์ | หลีกเลี่ยงใน 12 สัปดาห์แรกของครรภ์ | หลีกเลี่ยงใน 8 สัปดาห์แรกของครรภ์ |
ผลข้างเคียงเมื่อเริ่มใช้ยา | ปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่่วน อาเจียน ท้องเสีย เหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ง่วงนอน มีปัญหาในการนอนหลับ ขาดสมาธิ หรือฝันผิดปกติ | นอนหลับยาก (insomnia) และปวดศีรษะ |
ภาวะซึมเศร้าเมื่อใช้นาน | มีผล (9) | มีผลน้อย (7) |
ปฏิกิริยากับยาอื่น (Drug interactions) | มากกว่า Kocitaf | น้อยกว่า Teevir |
การกดเชื้อไวรัส (Viral suppression) | ช้ากว่า Kocitaf | เร็วกว่า Teevir |
โอกาสดื้อยา | สูงกว่า Kocitaf | ต่ำกว่า Teevir |
การออกฤทธิ์ต่อ HIV-2 | น้อยกว่า Kocitaf | ต่ำกว่า Teevir |
ตัวย่อ
FTC = Emtricitabine, EFV = Efavirenz, DTG = Dolutegravir, NNRTIs = Non nucleotide reverse transcriptase inhibitors, NNRTI = Nucleotide reverse transcriptase inhibitors, INSTI = Integrase strand transfer inhibitors, TNF-DP= Tenofovir diphosphate
แหล่งอ้างอิง
- https://www.hiv.uw.edu/go/antiretroviral-therapy/general-information/core-concept/all
- จุฑารัตน์ ศสิวชิรางกูล,ภญ,กลุ่มวิจัยและพัฒนาเภสัชกรรม, Tenofovir Disoproxil Fumarate (TDF) และ Tenofovir Alafenamide Fumarate (TAF), GPO R&D Newsletter, ปีที่ 25 ฉบับที่ 1, ม.ค.-มี.ค.2561
- Kenneth H Mayer et al. TAF vs TDF in DISCOVER PrEP Trial – Emtricitabine and tenofovir alafenamide vs emtricitabine and tenofovir disoproxil fumarate for HIV pre-exposure prophylaxis (DISCOVER): primary results from a randomised, double-blind, multicentre, active-controlled, phase 3, non-inferiority trial.The Lancet,July 2020.
- Bonora S, Calcagno A, Trentalange A and Perri GD. Elvitegravir,cobicistat, emtricitabine and Tenofovir Alafenamide Fumarate for the treatment of HIV in adults. Expert Opinion on Pharmacotherapy.2016; 17(3):409-419.
- Mills A, Crofoot G, McDonald C, et al. Tenofovir Alafenamide Fumarate Versus Tenofovir Disoproxil Fumarate in the First Protease Inhibitor– Based Single-Tablet Regimen for Initial HIV-1 Therapy: A Randomized Phase 2 Study. Journal of Acquired Immune Deficiency Syndromes. 2015; 69(4): 439-445.
- กิตติยา จันทรธานีวัฒน์.อ.ภญ. Integrase inhibitors : A new era of ART regimen. บทความวิชาการเพื่อการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์.
- เอกสารสรุปข้อมูลทางคลินิกของการรักษาเอชไอวีด้วยยา Clinical brief,Treat Asia. November 2017.https://www.amfar.org/uploadedFiles/_amfarorg/Articles/Around_The_World/TreatAsia/2017/TA_Clinical_Dolutegravir_Thai.pdf
- https://apps.who.int/…/325892/WHO-CDS-HIV-19.15-eng.pdf…
- https://www.pobpad.com/efavirenz-เอฟฟาไวเร็นซ์
- Ivy H. Song, PhD,1 Julie Borland,1 Shuguang Chen, PhD,1 Toshihiro Wajima, PhD,2 Amanda F. Peppercorn, MD,1 and Stephen C. Piscitelli, PharmD1. Dolutegravir Has No Effect on the Pharmacokinetics of Oral Contraceptives With Norgestimate and Ethinyl Estradiol. Ann Pharmacother. 2015 Jul; 49(7): 784–789.doi: 10.1177/1060028015580637